"ชัชชาติ" แจงการค้นหาผู้สูญหายในตึก สตง. ใช้เครื่องมือหนักยกปูนไปแล้ว 100 ตัน สลับการทำงานร่วมกับทีมช่วยชีวิต ด้านในพบอีก 14 ร่าง แต่ยังไม่สามารถนำออกมาได้ เริ่มส่งกลิ่นหลายจุด
วันที่ 2 เม.ย. 2568 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้แถลงอัปเดตความคืบหน้าในการค้นหาผู้สูญหายจากกรณีแผ่นดินไหว ส่งผลให้อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างถล่มลงมา พร้อมเปิดเผยว่า วันนี้เป็นวันที่ 5 ของการเกิดเหตุการณ์ขึ้น เมื่อคืนใช้วิธีการยกชิ้นปูนออกไปประมาณ 10 ชิ้น รวม 100 ตัน ทำให้เปิดช่องว่างให้กู้ภัยไปสำรวจด้านใน พบร่างผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ร่าง และมีร่างที่ยังไม่สามารถนำออกมาได้อีกประมาณ 14 ร่าง และยังมีตามจุดต่างๆ ที่เริ่มส่งกลิ่นอีกหลายจุด แต่ยังไม่สามารถเข้าไปได้ เพราะมีชิ้นส่วนเหล็กกีดขวางจำนวนมาก
ขณะเดียวกันกู้ภัยก็ปรับยุทธวิธีการค้นหา พยายามเข้าไปถึงปล่องลิฟต์ทั้งฝั่งเหนือและใต้ เพราะปัจจุบันเปิดปล่องลิฟต์ด้านหลังไว้ แต่ยังเข้าไปได้ไม่เยอะมาก จึงใช้อุปกรณ์หนัก ใช้แบ็กโฮลุยตัด โดยอีกประมาณ 10 เมตร จะถึงตัวปล่องลิฟต์ทั้ง 2 ฝั่ง คือซ้ายและขวา

...
โดยโหมดการดำเนินการมี 2 ขั้นตอน คือ เรสคิวส์ หรือ ช่วยชีวิต และการรื้อถอน โดยสลับกันเข้าทำงานกับสุนัข K9 ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างการรื้อ และช่วยชีวิตไปด้วย
ตนเองได้คุยกับทีมงาน พบว่าประมาณบ่ายโมงที่ผ่านมา ที่เมียนมาเพิ่งเจอผู้รอดชีวิต ก็ถือว่ามีโอกาสอยู่ แต่ต้องยอมรับว่าโอกาสน้อยลง ต้องไม่โกหกตัวเอง ขณะนี้เริ่มดำเนินการเครื่องมือหนัก สลับการค้นหา ทีมช่วยชีวิตก็คอยสแตนบายอยู่ตลอด ยืนยันเป็นไปตามหลักสากล
เบื้องต้นได้คุยกับทีมนานาชาติที่มีประสบการณ์กว่า 40 ปี เผยว่าเคสนี้ เป็นเคสที่ซับซ้อน เพราะเป็นอาคารสูงถล่มลงมาครั้งเดียว เป็นคอนกรีตอีก และมีผู้สูญหายติดอยู่ในอาคารจำนวนมาก แต่เจ้าหน้าที่ไม่ย่อท้อ ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ อาจจะไม่ถูกใจบางท่านก็ขอโทษด้วย แต่ก็เป็นการไตร่ตรองร่วมกัน ที่ทีมไทยเป็นผู้นำเพราะรู้พื้นที่ดี และร่วมกันทีมต่างชาติที่ทำงานเต็มที่ตลอด เราเองก็เรียนรู้จากเขา เขาเองก็เรียนรู้จากเรา

อีกทั้ง ช่วงบ่ายที่ผ่านมาได้ให้ทีมจิตวิทยาเข้าคุยกับญาติ ๆ ที่รออยู่ศูนย์พักคอยญาติแล้วว่ากระบวนการใช้เครื่องมือหนักไม่ได้หยุดการค้นหา แต่เป็นการใช้เครื่องมือหนักเร่งเปิดทาง ซึ่งต้องบอกญาติก่อนที่จะรับรู้ผ่านสื่อ สำหรับการปรับวิธีการดังกล่าว
ตอนนี้ยังไม่ได้มีเดดไลน์ว่ากี่วัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ประเมินตามข้อเท็จจริง ส่วนเครื่องสแกน สามารถสแกนได้ 30 เมตร แต่ก็ไม่ได้แม่นยำมาก บางทีมก็ไม่ได้ใช้ แต่ใช้สุนัข K9 อีกทั้งเรามีการนั่งคุยกับคนรอดชีวิต พอจะทราบเบื้องต้นว่าพอจะมีใครอยู่ตรงไหนบ้าง
ตนเองเชื่อว่ายังมีโอกาสอยู่ หากไปคิดว่ารอดหรือไม่รอดก็จะหมดกำลังใจ หากไม่มีความหวัง เชื่อคงไม่มีใครมาทำงานอาสาสมัคร ทุกคนมีความหวัง ชีวิตต้องดำเนินไปด้วยความหวัง ตนเชื่อว่าที่ผ่านมาหากไม่มีตึกที่ถล่มนี้ กรุงเทพฯ ของเราก็แข็งแรง ที่ทำให้เห็นว่ามาตรฐานเราดี

ส่วนความกังวลที่อาคารศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ตนมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะคนยังกังวลอยู่ แต่เข้าใจได้ เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่คนจะตกใจกัน
ประชาชนแจ้งมาที่ทราฟฟี่ฟองดูว์ 17,000 เรื่อง ตรวจไปเกือบหมดแล้ว ส่วนใหญ่เป็นเคสเบา และมีอีกส่วนที่สั่งการให้เอกชนตรวจตึกตัวเอง อาคาร 9 ประเภท 12,000 อาคาร ที่ต้องตรวจรายปีอยู่แล้ว แต่ย้ำให้ตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง เพื่อความมั่นใจ เริ่มทยอยส่งผลมาแล้ว โดยให้เดดไลน์ 2 สัปดาห์
...
นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ รพ. ตอนเกิดเหตุสั่งสำรวจทุกโรงพยาบาล เพราะเป็นที่ที่คนอพยพเองไม่ได้ จึงมีแนวคิดอยากติดตั้งตัววัดแรงแผ่นดินไหว ว่าทำให้เกิดแรงเท่าไร ตึกอยู่ได้ไหม เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการปรับปรุงกฎหมาย แต่ขณะนั้นทางสภากรุงเทพฯ ไม่มีแผ่นดินไหว แต่ก็เข้าใจเพราะคนปกติก็คิดเหมือนกัน แต่เดี๋ยวก็จะเสนอเรื่องนี้ขึ้นไปใหม่ในครั้งหน้า เพราะหากติดตั้งจะทำให้เรารับรู้ข้อมูลได้ดีขึ้น

สำหรับสรุปยอดความคืบหน้าภารกิจกู้ภัยผู้สูญหายจากซากอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินหลังใหม่พังถล่ม วันที่ 2 เมษายน มีจำนวนผู้ประสบเหตุ 96 ราย ผู้เสียชีวิต 15 ราย แบ่งเป็นผู้ชาย 8 ราย ผู้หญิง 6 ราย ยังไม่สามารถระบุเพศได้ 1 ราย ผู้บาดเจ็บ 9 ราย และผู้สูญหาย 72 ราย

...