"ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กรุงเทพมหานคร" แถลงฉบับที่ 2 สรุปสถานการณ์เหตุ "แผ่นดินไหว" พร้อมให้ความสำคัญสูงสุดในการเร่งค้นหาผู้รอดชีวิตจากตึกถล่ม
วันที่ 30 มีนาคม 2568 ณ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กรุงเทพมหานคร กรณีเกิดแผ่นดินไหว รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวและการค้นหาผู้ประสบภัยในอาคารถล่ม ณ วันที่ 30 มีนาคม 2568 ศูนย์บัญชาการสถานการณ์แผ่นดินไหว กรุงเทพมหานคร รายงานตัวเลขล่าสุดพบว่ามีผู้เสียชีวิต 18 คน บาดเจ็บ 33 คน สูญหาย 79 คน (30 มี.ค. 68 เวลา 13.30 น.)
1. ประเด็นแรก ต้องให้ความสำคัญสูงสุด คือ เรื่องอาคารถล่มเขตจตุจักร ซึ่งกระบวนการยังเป็นการค้นหาผู้รอดชีวิต วันนี้ครบวันที่ 2 หรือ 48 ชั่วโมงแล้ว โดยเมื่อเช้านี้มีสัญญาณชีพบริเวณโซน A จะเร่งดำเนินการค้นหาผู้ที่ยังมีสัญญาณชีพต่อไป ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนโดยผู้ที่มีความสามารถและเชี่ยวชาญให้คำแนะนำอยู่ในพื้นที่ ซึ่งเมื่อเช้ามีการพบศพเพิ่มเติม และมีทีมช่วยเหลือจากนานาชาติเข้ามาที่จะส่งเครื่องมือมาช่วยเหลือเพิ่มเติม
2. ประเด็นที่สอง ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประเมินตรวจสอบอาคารขนาดใหญ่โดยวิศวกรอาสา โดยอาคารแรกพื้นที่เขตจตุจักร เป็นอาคารชุดอยู่อาศัย 1,140 ห้อง โอนกรรมสิทธิ์แล้ว 570 ห้อง มีผู้อยู่อาศัยประมาณ 600 คน มีผู้ต้องการความช่วยเหลือ 112 คน อาคารที่สองพื้นที่เขตพระโขนง เป็นอาคารชุดอยู่อาศัย 1,913 ห้อง ที่โอนกรรมสิทธิ์แล้ว 322 ห้อง มีผู้อยู่อาศัย 395 คน มีผู้ต้องการความช่วยเหลือ 25 คน สำนักงานเขตจตุจักรและพระโขนง เร่งรวบรวมข้อมูลเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป โดยการอำนวยความสะดวกด้านที่พักของ กทม. และให้เจ้าหน้าที่จัดทำป้ายติดหน้าอกให้ชัดเจน เพื่อให้ทราบว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบและญาติเท่านั้นที่จะสามารถเข้าพักได้
...
สำหรับระเบียบการเยียวยาตามหลักเกณฑ์การดูแลช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยในเบื้องต้น ตามระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบภัย พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2564 การให้ความช่วยเหลือของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อาทิ ค่าเครื่องนุ่งห่มที่ได้รับความเสียหายและไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก หรือมีความจำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีพ กรณีไม่มีเครื่องนุ่งห่มในการดำรงชีพขณะเกิดภัย รายละไม่เกิน 1,100 บาท กรณีเครื่องมือประกอบอาชีพได้รับความเสียหาย ช่วยเหลือครอบครัวละไม่เกิน 11,400 บาท กรณีเป็นผู้ป่วยใน (admit) อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ กรณีเป็นผู้ป่วยนอก กทม. ช่วยเหลือรายละ 2,000 บาท กรณีเป็นผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งแบบผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก จะได้รับเป็นเงินปลอบขวัญ รายละ 2,300 บาท ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต ช่วยเหลือรายละ 29,700 บาท ปภ. ให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม หากเป็นหัวหน้าครอบครัวหรือผู้หารายได้เลี้ยงดูครอบครัวช่วยเหลือเพิ่มเติม อีก 29,700 บาท และ ปภ. ให้ความช่วยเหลือกรณีที่อยู่อาศัยประจำได้รับความเสียหาย ครอบครัวละไม่เกิน 49,500 บาท
3. ประเด็นที่สาม ขณะนี้ กทม. มีศูนย์พักพิงชั่วคราว 3 แห่ง รองรับประชาชนได้ 470 คน ได้แก่ 1. ศูนย์บริการผู้สูงอายุดินแดง 2. ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ (บางมด) เขตทุ่งครุ 3. อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น (ดินแดง)
4. ประเด็นที่สี่ เกี่ยวกับการตรวจสอบอาคารขนาดใหญ่ กรุงเทพมหานครจะออกคำสั่งให้อาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่ทำการตรวจสอบโครงสร้างเพิ่มเติมเป็นกรณีเร่งด่วน นอกเหนือจากการตรวจสอบประจำปี เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน โดยได้ลงนามในหนังสือ ขอให้เจ้าของอาคาร หรือผู้ครอบครองอาคาร ประสานผู้ตรวจสอบอาคารเข้าทำการตรวจสอบความเสียหาย เพื่อประเมินวิธีการปรับปรุง แก้ไข ซ่อมแซม หรือเสริมกำลังของอาคาร เพื่อให้อาคารมีความปลอดภัย มั่นคง แข็งแรง ต่อการใช้งานตามหลักวิศวกรรม และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
รวมทั้ง ขอให้รายงานผลต่อกรุงเทพมหานครทุกวัน ภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนสามารถกลับเข้าใช้อาคารได้อย่างปลอดภัย โดยให้เจ้าของอาคาร หรือผู้ครอบครองอาคารสามารถรายงานผลให้กรุงเทพมหานครทราบทุกวัน ผ่านระบบ Google form ตามลิงก์ https://forms.gle/4dxiHsZCZZpbiGkQA โดยสามารถตรวจสอบได้ทางเพจ "กรุงเทพมหานคร" และช่องทางสื่อสารของ กทม. ทุกช่องทาง
5. ประเด็นที่ห้า อุปสรรคที่อาจจะเจอวันนี้ คือมีโอกาสที่ฝนจะตก 60% จากการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งได้พูดคุยกับผู้อำนวยการเหตุการณ์ที่อยู่หน้างานแล้วว่าไม่ได้มีผลกระทบกับการกู้ภัย เพราะอาคารต่างๆ ยังยึดโยงกันอยู่ด้วยเหล็ก แต่ที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องของการระบายน้ำจากอาคารซึ่งได้รับผลกระทบจากฝุ่นที่ฟุ้งกระจายตอนถล่มลงมาสู่ท่อระบายน้ำอาจทำให้ท่ออุดตัน ก็ต้องเร่งดำเนินการให้น้ำสามารถระบายได้
6. ประเด็นที่หก รถไฟฟ้าสายสีเหลืองเปิดให้บริการได้วันนี้ เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. แต่สายสีชมพูที่อยู่แจ้งวัฒนะ-รามอินทรา อาจจะสามารถเปิดให้บริการพรุ่งนี้ เพราะว่าจะต้องตรวจเรื่องสัญญาณต่างๆ ให้แน่ใจอีกครั้ง ซึ่งไม่น่ากังวลเนื่องจากสายสีชมพูเป็นเหมือน Feeder ที่ยังมีการสัญจรอื่นทดแทนได้ เช่น รถตู้ วินมอเตอร์ไซค์ นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มรอบเรือด่วนเจ้าพระยาอีกด้วย
7. ประเด็นที่เจ็ด ประเด็นเรื่องความมั่นคงของตัวอาคารในพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะนี้มีประชาชนแจ้งเข้ามาผ่าน Traffy Fondue ประมาณ 10,400 เรื่อง โดยทีมงานได้ประเมินสถานการณ์กันทั้งคืนว่าตึกใดมีความเสียหายหนักบ้าง โดยวันนี้จะส่งทีมวิศวกรอาสาเข้าไปตรวจกว่า 100 อาคาร แบ่งเป็น 20 ทีม โดยมีเจ้าของอาคารด้วยที่ต้องร่วมตรวจสอบด้วยเนื่องจากเป็นความรับผิดชอบที่ต้องมีการตรวจสอบประจำปีอยู่แล้ว
...
8. ประเด็นที่แปด ด้านการเยียวยาผู้เสียหายในภาพรวม รัฐบาลได้มีการจัดสรรงบประมาณเมื่อวานนี้ ส่วนขั้นตอนการลงทะเบียนรับเงินเยียวยาจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายอย่างไร โดยจะเร่งประกาศหลักเกณฑ์ให้เร็วที่สุดด้วยความรอบคอบ ให้เป็นไปตามกฎระเบียบและกฎหมายที่กำหนด ซึ่งเบื้องต้นเป็นเงินประมาณ 200 ล้านบาท ที่อาจเป็นการรวมค่าใช้จ่ายในการค้นหาและกู้ภัยและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเรื่องต่าง ๆ
9. ประเด็นที่เก้า วันนี้ กทม. จัดให้มีการแสดงดนตรีในสวนกรุงเทพมหานคร เพื่อเยียวยาจิตใจ สร้างขวัญกำลังใจ และความมั่นใจในสถานการณ์ ในวันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม 2568 ประกอบด้วย 1. สวนลุมพินี : Bangkok We Are OK! ในเวลา 16.30 - 18.00 น. Bangkok Metropolitan Orchestra (BMO) เวลา 18.00 - 20.00 น. Jelly roll jazz club & The Stumblrs เวลา 20.00 - 21.00 น. วงดนตรีกรุงเทพมหานคร และ Special Guest 2. สวนเบญจกิตติ ลานแสดงกลางแจ้งสวนน้ำ ในเวลา 16.30 น. วง Chaoleng ลาน Playground เวลา 17.00 - 19.00 น. วง Meeting Time (จาก Bangkok Street Performer) 3. อุทยานเบญจสิริ ในเวลา 16.30 น. วง Sussy baka วง Ccalm วง Crystal Crew วง A little bit 4. สวนสันติภาพ เวลา 16.30 น. วงดนตรีกรุงเทพมหานคร 5. สวนจตุจักรในเวลา 16.30 น. วงดุริยางค์ตำรวจ.