ชาวกรุงฯ แจ้ง "รอยร้าวอาคาร" ผ่าน "Traffy fondue" มากกว่า 5,500 เคสแล้ว พร้อมระดมวิศวกรอาสา 100 ชีวิต ลงพื้นที่เร่งด่วน

วันที่ 29 มี.ค. 2568 นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการเปิดรับแจ้งรอยร้าวและความเสียหายของอาคารจากประชาชนผ่าน Traffy fondue ว่า เราได้เรียนรู้จากเมื่อวานที่มีเคสแจ้งรอยร้าวหรือความเสียหายของตัวอาคารจากแรงแผ่นดินไหว ผ่าน Traffy fondue เข้ามากว่า 2,100 เคส วันนี้ผ่านไปครึ่งวันกลายเป็น 5,000 กว่าเคส เพราะประชาชนเริ่มตื่นตัว ทั้งนี้ ปัญหาหลักคือในอาคารเดียวกันจะมีนิติบุคคลอาคารชุดหรือเจ้าของอาคารที่ต้องมีการตรวจประจำปีอยู่แล้ว

รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวต่อว่า ในวันนี้ ท่านชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงสั่งการให้มีการตรวจอาคาร โดยเจ้าของอาคารที่สูงมากกว่า 8 ชั้น และเป็น 9 ประเภทที่ต้องมีการตรวจสอบประจำปีอยู่แล้ว ให้รีบไปตรวจสอบอีกครั้งหลังจากแผ่นดินไหวโดยเร็วที่สุด แล้วให้รายงานมาทุกวัน ซึ่งตรงนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระให้วิศวกรอาสา เพราะอาคารไหนที่เกิน 8 ชั้น เราสามารถให้นิติบุคคลรับผิดชอบตรงนี้ได้

สำหรับแนวทางการตอบคำถามประชาชนที่ส่งเข้ามาเรื่องประเมินความเสียหายอาคาร ได้ประชุมกับทีมว่าประชาชนยังร้องเรียนได้เหมือนเดิม แต่แนวทางการตอบจะต้องชัดเจน สำหรับอาคาร 8 ชั้นขึ้นไป จะแบ่งเป็น 3 เคส ดังนี้

  • เคสที่ 1 ถ้าเป็นผนังร้าวหรือสิ่งที่เห็นแล้วว่าไม่กระทบโครงสร้าง วิศวกรจะชี้แจงว่าไม่ได้กระทบโครงสร้าง สามารถเข้าอยู่ได้ และให้ปิดเรื่องเป็นเสร็จสิ้น อย่างไรก็ตามแม้จะมีการแจ้งว่ากทม. ได้สั่งการไปแล้ว ตัวนิติบุคคลก็จะต้องไปตรวจสอบอีกครั้ง
  • เคสที่ 2 คือมีความก้ำกึ่ง เราจะมีการตอบไปเหมือนเคสแรก แต่จะทดเรื่องไว้แล้วให้วิศวกรเราเข้าไปตรวจสอบ

...

  • เคสที่ 3 ดูรูปแล้วเห็นเลยว่ากระทบโครงสร้างเข้าอยู่ไม่ได้ ก็จะตอบว่าอาศัยไม่ได้ จากนั้นทีมวิศวกรจะรีบเข้าไปอย่างเร็วที่สุดและจะแจ้งนิติบุคคลด้วย

อีกเคสคือบ้านที่ต่ำกว่า 8 ชั้น ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ได้มีผลกระทบมาก หากประเมินแล้วว่าไม่เป็นไร วิศวกรจะตอบว่าไม่ได้กระทบโครงสร้าง ปิดเรื่องได้ แต่หากดูแล้วว่าอาจเป็นอันตราย วิศวกรอาสาในพื้นที่ก็จะลงไปตรวจ

ทั้งนี้ เนื่องจากมีประชาชนสนใจส่งเคสมาเยอะขึ้น วันนี้วิศวกรอาสาจึงตบเท้าเข้ามาเสริมทัพมากขึ้น และได้มีการแบ่งงานให้เป็นระบบมากขึ้นโดยแบ่งเป็น 2 ทีม คือ ทีมที่มีใบ วย. หรือ วุฒิวิศวกรโยธา จะให้มาดูเคสยาก ส่วนอีกทีมจะดูเคสที่ไม่ยาก ตอนนี้ต้องรีบปิดเคสที่ส่งเข้ามากว่า 5,500 เคสแล้ว และได้ตั้งทีมกลางจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) คอยรับข้อมูลจากวิศวกรอาสาที่ลงพื้นที่

สำหรับก่อนหน้านี้มี 2,000 กว่าเคสที่ส่งเข้ามา พิจารณาแล้วว่ามีประมาณ 700 เคส ที่ต้องลงไปดูอาคาร โดยจากการลงพื้นที่พบว่าบางครั้งหลายๆ เคส รวมแล้วเป็นตึกเดียวกัน ล่าสุดก่อนเที่ยงวันนี้ลงพื้นที่ตรวจไป 28 เคส ตรวจเสร็จแล้ว 7 เคส ซึ่งอาจมีมากกว่านี้แต่ยังไม่สะดวกรายงานข้อมูลเข้ามา

ทั้งนี้ ได้ยินเสียงชื่นชมจากประชาชนเข้ามามาก ถึงการจัดการรับเรื่องผ่านทาง Traffy fondue ของกทม. ต้องขอบคุณความร่วมมือจากวิศวกรจากหลากหลายที่ บ้านเราไม่ได้ขาดคนเก่ง เรารวบรวมวิศวกรจากหน่วยงานราชการมาหมด แต่เมื่อเกิดเหตุวิกฤตก็อาจไม่เพียงพอจึงมีวิศวกรอาสามาช่วย ซึ่งรวมตัวกันมาได้รวดเร็วและร่วมทำงานหามรุ่งหามค่ำ รู้สึกดีใจที่วิชาชีพวิศวกรสามารถเป็นที่พึ่งและพร้อมช่วยเหลือประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร ให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้

อย่างไรก็ตาม หากประชาชนพบเห็นรอยร้าวหรือความเสียหายตัวอาคารจากแรงแผ่นดินไหว สามารถแจ้งได้ง่ายๆ ไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชัน แค่แอดไลน์ผ่าน Line @traffyfondue หรือคลิกที่ลิงก์ https://page.line.me/105rlyvn ก็สามารถส่งรูป พิกัด และรายละเอียดได้ครบจบในที่เดียว โดยขั้นตอนการแจ้งรอยร้าวอาคารผ่าน LINE OA

ขั้นตอนการแจ้งรอยร้าวอาคารผ่าน "Traffy fondue"

1. แอดไลน์: @traffyfondue

2. เลือกเมนู "แจ้งรอยร้าวอาคาร" จากเมนูด้านล่าง

3. ระบุข้อมูลและแนบรายละเอียด ดังนี้

  • ลักษณะของอาคาร (เช่น บ้านเดี่ยว ตึกแถว อาคารสูง ฯลฯ)
  • ความสูงของอาคาร (เช่น 2 ชั้น 5 ชั้น อาคารสูง 80 ชั้น)
  • ขนาดของรอยร้าว (ระบุเป็นมิลลิเมตร)
  • ชั้นที่พบรอยร้าว
  • เบอร์โทรเพื่อติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่
  • รูปภาพหลายมุม ทั้งมุมกว้างและมุมแคบ
  • แชร์พิกัด (Location)

4. รอเจ้าหน้าที่ตอบกลับเพื่อดำเนินการตรวจสอบต่อไป.