"คมนาคม" ออกกฎเหล็กคุมมาตรฐานรถบัส 2 ชั้นไม่ประจำทาง สั่งจัดโซนนิ่งห้ามวิ่งในเส้นทางเสี่ยง นำร่อง 3 เส้นทาง สั่ง ขบ. เรียกผู้ประกอบการรถกว่า 7 พันคัน เข้าตรวจสภาพ ตามมาตรฐานความปลอดภัย
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมเร่งรัดมาตรการเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะไม่ประจำทาง กรณีมีรถโดยสารไม่ประจำทางประสบอุบัติเหตุบนถนนทางหลวงว่า เพื่อเป็นการล้อมคอกและป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับรถโดยสารสาธารณะไม่ประจำทาง 2 ชั้นในอนาคต ทางกระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จึงได้สรุปออกมาตรการ 5 มาตรการ ทั้งในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย การกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์และรถโดยสาร ขณะเดียวกันมอบหมายให้ขนส่งทางบก แจ้งไปยังผู้ประกอบการให้นำรถโดยสารมาตรฐาน 2 ชั้น รวมประมาณ 7,000 กว่าคัน แบ่งเป็นรถโดยสารประจำทาง จำนวน 1,000 กว่าคัน และรถโดยสารไม่ประจำทาง จำนวน 5,000 กว่าคัน มาตรวจสภาพรถให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ ขบ. กำหนด

สำหรับมาตรการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ จำนวน 5 มาตรการ ประกอบด้วย
...
1. กำหนดเขตพื้นที่ (Zoning) รถโดยสาร 2 ชั้นไม่ประจำทาง ที่วิ่งในเส้นทางที่มีความเสี่ยง หรือมีความลาดชันเกิน 5% และมีข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เช่น เส้นทางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 สายเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน, ทล.12 อ.แม่สอด จ.ตาก, ทล.304 เป็นต้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 30 วัน โดยจะออกเป็นหลักเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อบังคับใช้กับรถโดยสารไม่ประจำทางก่อนเทศกาลสงกรานต์ 2568 นี้
2. ศึกษายกระดับ GPS ใช้งานในเชิงป้องกันสื่อสาร 2 ทาง โดยสามารถแจ้งเตือนผู้ขับขี่ในจุดที่มีความเสี่ยงและเกิดอุบัติเหตุ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการใช้กับรถโดยสารไม่ประจำทางมาตรฐาน 2 ชั้นก่อนภายใน 4 เดือนนี้ พร้อมทั้งจัดทำ Safety Ratings รถโดยสารสาธารณะ และการเร่งรัดแผน/มาตรการด้านความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะให้มีความปลอดภัยทุกมิติ และเพิ่มความเข้มข้นหลักสูตรสำหรับผู้ขับรถบริเวณที่มีทางลาดชัน เช่น การใช้เกียร์ การตรวจสอบมาตรวัดแรงดันลม เป็นต้น
3. การออกประกาศปรับปรุงระเบียบมาตรฐานรถโดยสารไม่ประจำทางให้เป็นมาตรฐานเดียวกับรถโดยสารประจำทาง อาทิ กำหนดให้มีผู้ขับรถ 2 คน (เดิมมี 1 คน) และพนักงาน 1 คน เพื่อสร้างความมั่นใจในการเดินทางให้กับประชาชน ซึ่งสามารถเริ่มดำเนินการได้ทันที
4. มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น อาทิ กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เพื่อปรับปรุงเครื่องหมายจราจรให้เห็นได้อย่างชัดเจน พร้อมทั้งระบุข้อแนะนำการขับขี่ขึ้น-ลงทางลาดชัน เช่น แนะนำให้รถขนาดใหญ่ใช้เกียร์ 2 ขณะขึ้น-ลงทางลาดชัน เป็นต้น อีกทั้งให้ ขบ.-ทล. ร่วมกันสำรวจพื้นที่จุดเสี่ยงทั่วประเทศ รวมถึงพื้นที่ดำเนินการก่อสร้างจุดพักรถเพิ่มเติม โดยจัดทำเป็นแผนดำเนินงาน (Timeline) เสนอมาที่กระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นวาระพิจารณาเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาอย่างครอบคลุมและเป็นรูปธรรมต่อไป
5. บังคับใช้กฎหมาย ย้ายจุด Check Point รถโดยสารสาธารณะบน ทล.304 ไปอยู่อีกฝั่ง เนื่องจากปัจจุบันจุดดังกล่าวเส้นทางขาขึ้น – ขาล่องอยู่ฝั่งเดียวกัน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการขนส่งเข้าจุดพักรถโดยสารตามข้อบังคับพนักงานจราจรจังหวัดปราจีนบุรี
นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า ขอเน้นย้ำให้ ขบ. ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวอย่างเร่งด่วน โดยบูรณาการร่วมกับกรมทางหลวง และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมจัดทำแผนดำเนินงานและเร่งออกประกาศบังคับใช้มาตรการความปลอดภัยต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุในลักษณะนี้ซ้ำอีก เพื่อยกระดับความปลอดภัยและป้องกันอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะไม่ประจำทางอย่างยั่งยืนต่อไป