งานวิจัยจากประเทศไทย โดยการสนับสนุนจาก บพท. ชนะการประกวดจากเวทีระดับนานาชาติรับ 3 รางวัล จากผลงานส่งเข้าประกวดมากกว่า 500 ผลงาน จาก 30 ประเทศทั่วโลก

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สนับสนุนงานวิจัยชนะการประกวดรับรางวัล 1 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน ในเวทีระดับนานาชาติที่ไต้หวัน ทั้งนี้ บพท.นำโดย ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. ร่วมกับนางสาวเบญจมาศ ตีระมาศวณิช คณะกรรมการพิจารณา ติดตามและประเมินผลกรอบการวิจัย นางสาวดารารัตน์ โพธิ์รักษา รักษาการ ผอ.ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการสร้างเศรษฐกิจฐานรากและความเข้มแข็งของชุมชน บพท. และรศ.ดร.วารุณี อริยวิริยะนันท์ ผู้อำนวยการกรอบวิจัยชุมชนนวัตกรรม บพท. คัดเลือก 3 ผลงาน ภายใต้กรอบการวิจัยส่งเข้าประกวดการประกวดผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมในงาน "2024 Kaohsiung International Invention and Design EXPO" (KIDE 2024) ณ เมืองเกาสง ไต้หวัน ระหว่างวันที่ 6 -7 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งภายในงานมีผลงานส่งเข้าประกวดมากกว่า 500 ผลงาน จาก 30 ประเทศ ทั่วโลก

สำหรับผลงานที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก บพท. ชนะการประกวด ได้แก่ รางวัลเหรียญทอง GOLD MEDAL คือ "แม่อิงชิโบริ ศิลปะ งานคราฟ สีย้อมผ้าธรรมชาติ" (Mae Ing Shibori : The Art and Craft of Natural Dyed Fabrics) โดยนายเอกรินทร์ ลัทธศักย์ศิริ นาวสาวธัญญา อินต๊ะมอย ผศ.ดร.กัลยา จำปาทอง ดร.วารัชต์ มัธยมบุรุษ และศ.ดร. เสมอ ถาน้อย จากมหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งแม่อิงชิโบริ เป็นการย้อมสีธรรมชาติด้วยภูมิปัญญาล้านนาดั้งเดิมร่วมกับศาสตร์และศิลป์ของญี่ปุ่นที่เป็นสากล ผสานกับองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมทั้งยังผสมผสานกระบวนการจัดทำลวดลายด้วยเทคนิคพิมพ์ลายผ้า เกิดลวดลายอัตตลักษณ์ของแต่ละชุมชนและขยายผลไปยังอีก 10 ชุมชน เพื่อให้มีรายได้ที่ยั่งยืน ในขณะที่ carbon footprint ลดลงด้วยการใช้พืชและทรัพยากรในท้องถิ่นสำหรับการย้อมและทำซ้ำตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน

...

รางวัลเหรียญเงิน Silver MEDAL และรางวัล Special Award จากประเทศโปแลนด์ "เครื่องเพิ่มความชื้นและลดอุณหภูมิจากโอ่งมังกร" (Efficient Mushroom Cultivation Innovation) โดย ผศ.ดร.ศิวัตม์ กมลคุณานนท์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นเครื่องเพิ่มความชื้นและลดอุณหภูมิจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้การสร้างความชื้นที่มีอุณหภูมิต่ำ ถ่ายเทความร้อนระหว่างอนุภาคของไอน้ำและอากาศในโรงเรือน ทำให้อากาศในโรงเรือนเย็นลงไม่เกิน 32 องศาเซลเซียส สามารถผลิตเห็ดในและนอกฤดูกาลได้ ผลผลิตสูงขึ้นและเพิ่มรายได้ของคนในชุมชน และรางวัลเหรียญเงิน Silver MEDAL "บ้านปลามีชีวิต"  (aquatic life sheltr) โดย ผศ.ดร.เตือนตา ร่าหมาน จากมหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งบ้านปลามีชีวิตเป็นนวัตกรรมใช้สำหรับการงานด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศแหล่งน้ำ มีลักษณะเป็นคอกสี่เหลี่ยมเหมือนชั้งกอ แต่มีการปลูกต้นโกงกางที่มุมทั้งสี่และตรงกลาง 1 ต้น ไว้ในท่อซีเมนต์ ใส่ดินเลนไว้ด้านใน เมื่อต้นโกงกางนี้ โตขึ้นจะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ มีอายุการใช้งานที่นานกว่าบ้านปลาแบบเดิมและลดการซ่อมแซม ลดค่าใช้จ่าย ช่วยให้ปลาเพิ่มจำนวนและชนิดมากขึ้น ทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้งาน แหล่งท่องเที่ยวในชุมชน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปี 2568 บพท.มุ่งเน้นขยายผลต่อยอดนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมจากงานวิจัยให้กับครัวเรือนในชนบท กลุ่มอาชีพ ผู้ประกอบการในพื้นที่ ขับเคลื่อนการพัฒนาสร้างยกระดับกลุ่มเป้าหมายที่มีขีดความสามารถในการจัดการตนเอง ตลอดจนสร้างพื้นที่การเรียนเรียนรู้นวัตกรรมชุมชนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและจัดการแก้ปัญหาคนจน ลดความเหลื่อมล้ำ การยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและฐานรากทั้งภาคชนบทและเมืองให้พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ขณะที่การส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในเวทีระดับนานาชาติเป็นจุดเริ่มต้นในการขยายผลเทคโนโลยี เชิงบูรณาการ ยกระดับ Appropriate Technology ระดับชาติและนานาชาติ ยกระดับ AppTech จากกลุ่มแพลตฟอร์มออนไลน์ เพิ่มมูลค่าการส่งออกและยกระดับศักยภาพธุรกิจเชื่อมโยงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีศักยภาพ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดนานาชาติ