กทม.เปิดสถิติจัดเก็บกระทง ปี 2567 ได้กว่า 5.14 แสนใบ ลดลงจากปีกลายร้อยละ 19.57 เป็นกระทงใช้วัสดุธรรมชาติถึงร้อยละ 98.39 ลอยรักษ์โลกผ่านออนไลน์และกระทงดิจิทัลรวม 4.7 หมื่นใบ ด้านตำรวจจราจรกลาง ร่วม บก.น.7 และ สน.บางยี่ขัน ตั้งด่านช่วงเชิงสะพาน สมเด็จพระปิ่นเกล้า ฝั่งธนฯ สกัดเด็กแว้นท่อดังคืน วันลอยกระทง ผลปฏิบัติแค่ 2 ชม. จับรถ จยย.กระทำ ความผิดได้ถึง 337 คัน มีทั้งไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ อุปกรณ์ส่วนควบไม่ครบ ขี่รถย้อนศร รวมถึงรถ จยย.ท่อดัง 72 คัน ออกคำสั่งห้ามใช้ชั่วคราว 30 วัน เจ้าของรถ ต้องนำไปแก้ไขสภาพรถให้เรียบร้อย ฝ่าฝืนเจอโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

หลังจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดงานเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2567 อย่างยิ่งใหญ่ทั่วทุกพื้นที่ ตลอดคืนวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา ต่อมาเมื่อเช้าวันที่ 16 พ.ย. นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม.ได้จัดเก็บกระทงที่ประชาชนนำมาลอยในพื้นที่ต่างๆ ทั่วกรุง ซึ่งสำนักสิ่งแวดล้อมจัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา สำนักการระบายน้ำ จัดเก็บในคลองและบึงรับน้ำที่รับผิดชอบ สำหรับสำนักงานเขต 50 เขต จัดเก็บในสวนสาธารณะที่เปิดให้ประชาชนลอยกระทง และบริเวณที่จัดงานภายในพื้นที่เขต โดยเริ่มจัดเก็บกระทงตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของวันที่ 15 พ.ย.แล้วเสร็จก่อนเวลา 05.00 น. ของวันที่ 16 พ.ย. เก็บกระทงได้จำนวนทั้งสิ้น 514,590 ใบ เป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติจำนวน 506,320 ใบ คิดเป็นร้อยละ 98.39 กระทงที่ทำจากโฟมจำนวน 8,270 ใบ คิดเป็นร้อยละ 1.61 จำนวนกระทงทั้งหมดลดลงจากปีก่อน 125,238 ใบ คิดเป็นร้อยละ 19.57

“ในส่วนของการลอยกระทงออนไลน์ ซึ่งเป็นปีแรกที่ กทม.เชิญชวนประชาชนลอยกระทงออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ในบรรยากาศเสมือนจริงของสวน สาธารณะทั้ง 34 แห่ง และริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไอคอนสยาม มีประชาชนร่วมลอยกระทงจำนวน 36,832 ใบ ส่วนการลอยกระทงดิจิทัลในพื้นที่ 4 จุด มีจำนวน 10,885 ใบ อย่างไรก็ตาม ลอยกระทงปีนี้มีการใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน คือจากร้อยละ 96.74 เป็น 98.39 ส่วนกระทงโฟมลดลงจากร้อยละ 3.26 เป็น 1.61 โดย เขตที่มีจำนวนกระทงมากที่สุด ได้แก่ เขตลาดกระบัง จำนวน 20,806 ใบ เขตที่มีจำนวนกระทงน้อยที่สุด ได้แก่ เขตคลองสานจำนวน 147 ใบ ขณะที่สวน สาธารณะทั้ง 34 แห่ง มีประชาชนเข้ารวมทั้งสิ้น 255,532 คน จำนวนกระทงที่เก็บได้ 96,508 ใบ คิดเป็นจำนวนสัดส่วนประชากรต่อจำนวนกระทง 3 คนต่อ 1 ใบ” นายเอกวรัญญูกล่าว

...

โฆษกของ กทม. กล่าวอีกว่า กทม.จะคัดแยกก่อนส่งไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดมูลฝอย 3 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม และศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม เพื่อนำไปทำลายอย่างถูกสุขลักษณะ โดยกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายได้จะนำเข้าสู่โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์หนองแขมและนำไปฝังกลบ ส่วนกระทงโฟมจะนำไปเข้าสู่กระบวนการฝังกลบต่อไป
ขณะเดียวกัน ตำรวจนครบาลคุมเข้มแว้นคืนลอยกระทงจับรถจักรยานยนต์ผิดกฎหมายได้จำนวนมาก โดยปฏิบัติการในครั้งนี้เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 22.00 น. วันที่ 15 พ.ย. พล.ต.ต.กัมปนาท อรุณศิริโรจน์ ผบก.น.7 พ.ต.อ.ณัฐพงษ์ เชื้อเดช รอง ผบก.จร. พ.ต.อ.พายัพ สมบูรณ์ ผกก.สน.บางยี่ขัน เจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกันปล่อยแถวตั้งด่านจราจรเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้เส้นทางและสกัดจับรถจักรยานยนต์ผิดกฎหมาย บริเวณปากซอยสมเด็จพระปิ่นเกล้า 5 ถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฝั่งขาออก (ช่วงเชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า) แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กทม. มีตำรวจกก.5 บก.จร. ร่วมกับตำรวจ บก.น.7 และตำรวจ สน.บางยี่ขัน กว่า 60 นายร่วมกันปฏิบัติหน้าที่

พล.ต.ต.กัมปนาท อรุณศิริโรจน์ ผบก.น. 7 กล่าวว่า สืบเนื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองบัญชาการตำรวจนครบาลมีมาตรการและกำชับให้ดูแลและป้องกันเหตุอาชญากรรมในช่วงวันลอยกระทง บก.น 7 ร่วมมือกับ บก.จร. และ สน.บางยี่ขัน ตั้งจุดตรวจดังกล่าวสร้างความปลอดภัยในการเดินทางแก่ประชาชน รวมถึงได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมมลพิษในการตรวจสอบเรื่องมลภาวะทางเสียงและควันจากท่อไอเสียรถ จยย.

ด้าน พ.ต.อ.ณัฐพงษ์ รอง ผบก.จร.เผยว่า สำหรับการตรวจวัดเสียงท่อไอเสียรถ จยย.ได้เชิญเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้เฉพาะทางด้านการตรวจวัดเสียงท่อ รวมถึงเตรียมอุปกรณ์ตรวจวัดเสียงมาตรวจสอบด้วย โดยหลักการแล้วเสียงต้องไม่เกิน 95 เดซิเบล เอ แต่ต้องขึ้นอยู่กับขนาดของเครื่องยนต์ด้วย เพื่อให้ประชาชนพักอาศัยกันอย่างสงบ หากตรวจวัดแล้วเสียงท่อไอเสียดังเกินกว่ากฎหมายกำหนดจะมีโทษปรับไม่เกิน 4,000 บาท รวมถึงจะมีสติกเกอร์สั่งห้ามใช้รถ 30 วันติดรถ ระหว่างนี้ เจ้าของรถจะต้องนำไปแก้ไขสภาพรถให้เรียบร้อยแล้วนำไปตรวจสอบกับกรมควบคุมมลพิษ หรือ บก.จร.เมื่อตรวจสอบสภาพรถผ่านเรียบร้อยแล้ว คำสั่งห้ามใช้รถ 30 วันจะถูกยกเลิกไป แต่หากผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งห้ามใช้ยานพาหนะไม่นำรถไปปรับปรุงแก้ไขตามระยะเวลาที่กำหนด มีความผิดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

ต่อมาหลังการตั้งด่าน เวลา 00.05 น.วันที่ 16 พ.ย. มีผลการปฏิบัติงานเบื้องต้นจับกุมรถ จยย.ที่กระทำความผิดได้รวม 337 ราย แบ่งเป็นไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ อุปกรณ์ส่วนควบไม่ครบถ้วน ขับรถย้อนศรรวม 265 ราย มีโทษปรับทั้งหมด และมีรถ จยย.ท่อดัง รวม 72 คัน มีโทษปรับและออกคำสั่งห้ามใช้ชั่วคราว (คพ.3)

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่