นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รอง ผอ.สำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงแนวทางการควบคุมและแก้ไขปัญหาสุนัขและแมวจรจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนอ.ได้ร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สัตวแพทยสภา สมาคมผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย ชมรมผู้ประกอบการสถานพยาบาลสัตว์แห่งประเทศไทย เพื่อขอความร่วมมือสถานพยาบาลสัตว์เอกชนช่วยประชาสัมพันธ์การจดทะเบียนสัตว์เลี้ยง รวมถึงประสานภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้แก่เจ้าของสัตว์เลี้ยงจดทะเบียนสัตว์เลี้ยงผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ โดยร่างข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. ...ที่จะประกาศใช้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เจ้าของสัตว์ดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่ก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ แก่ชุมชน รวมถึงเป็นการป้องกันการปล่อยทิ้งสัตว์เลี้ยงเป็นสัตว์จรจัด โดยกำหนดจำนวนสัตว์ต่อพื้นที่การเลี้ยง เพื่อไม่ให้มีการเลี้ยงสัตว์ที่หนาแน่นจนก่อให้เกิดปัญหาแก่ส่วนรวม มีการเลี้ยงดูแลสัตว์เลี้ยงในพื้นที่ของตนเองไม่ปล่อยออกสู่พื้นที่สาธารณะ หากมีความจำเป็นต้องนำสัตว์เลี้ยงออกนอกพื้นที่ต้องควบคุมสัตว์เลี้ยงอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะสัตว์ควบคุมพิเศษที่ต้องควบคุมเพื่อให้เกิดความปลอดภัย รวมถึงการจดทะเบียนสุนัขและแมว
รอง ผอ.สนอ. กล่าวว่า การฉีดไมโครชิปและจดทะเบียนสุนัขมีเจ้าของในพื้นที่กรุงเทพฯ กทม. เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2567 ได้ประสานอาสาสมัครสาธารณสุขและศูนย์บริการสาธารณสุขสำรวจสุนัขและแมวในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่ามีจำนวนสุนัขที่มีเจ้าของ 53,991 ตัว จำนวนแมวมีเจ้าของ 115,827 ตัว จำนวนสุนัขจรจัด 8,945 ตัว และจำนวนแมวจรจัด 19,925 ตัว (ข้อมูล ณ วันที่ 8 ส.ค.67) โดยข้อมูลดังกล่าว กทม.จะนำไปวิเคราะห์ เพื่อวางแผนการดำเนินการควบคุมประชากรและการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขและแมว รวมทั้งการจดทะเบียนสุนัขมีเจ้าของ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสุนัขและแมวจรจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ต่อไป.
...
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่