จากกรณีกระทรวงคมนาคมมีแนวคิดศึกษา จัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดหรือ Congestion Charge ในเขตพื้นที่ใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปใช้เป็นทุนในการซื้อรถไฟฟ้าทุกสายคืน 2 แสนล้าน เพื่อต่ออายุรถไฟฟ้า 20 บาทนั้น เมื่อวันที่ 23 ต.ค.67 รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา อาจารย์ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นโยบายนี้เมืองใหญ่ๆทั่วโลกทำ แต่เมืองเหล่านั้น มีเป้าหมายชัดเจน โดยจัดเก็บค่าธรรมเนียมในราคาเริ่มต้นที่ไม่สูง เช่น นิวยอร์ก มีการศึกษาและเตรียมประกาศใช้ เป้าหมายคือนำเงินที่ได้มาปรับปรุงรถไฟใต้ดิน เนื่องจากมีอายุนาน 100 ปี หรือที่สิงคโปร์ต้องการแก้รถติด ก็มีการตั้งธงไว้ชัดเจนว่าความเร็วที่ต้องการเท่าไหร่ มีการเก็บข้อมูลทุก 6 เดือน ถ้าหากความเร็วอยู่ในกำหนดก็ยังคงจ่ายราคาเดิม
รศ. ดร. พนิต กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยเองก็มีเป้าหมายชัดเจน แต่ไม่ตรงกับเป้าหมายของต่างประเทศที่มีการใช้นโยบายนี้ เพราะของเราจะนำเงินมาชดเชยค่าตั๋วโดยสาร แต่หากมองอย่างแท้จริงการชดเชยเฉพาะรถไฟฟ้าอาจจะช่วยได้ไม่เต็มที่ เพราะปัญหาการเดินทางของบ้านเรา จะเป็นเรื่อง Firstmile-Lastmile หรือการเดินทางจากบ้านไปถึงจุดหมายปลายทาง ทำให้เวลากับเงินที่จ่ายออกไป จึงไม่ใช่แค่บนรถไฟฟ้า แต่อยู่บนวินมอเตอร์ไซค์หรือแท็กซี่ ก่อนมาต่อระบบขนส่งสาธารณะด้วย จึงมองว่ารัฐควรนำเงินที่ได้จากนโยบายนี้ไปทำการปรับปรุง feeder เพื่อให้มีราคาถูกลง ดังนั้นจึงอยากเสนอต่อรัฐบาลหากจะดำเนินนโยบายจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด หรือค่าเข้าเมืองเพื่อให้เกิดประโยชน์แท้จริง ควรจะดำเนินการไปเป็นขั้นเป็นตอนก่อนคือ 1.การพัฒนาพื้นที่ทั้งบนสถานีรถไฟฟ้าและพื้นที่รอบๆสถานีเพื่อให้มีรายได้เข้ารัฐ 2.การเก็บภาษีลาภลอยที่ได้จากการพัฒนาในที่ดินของเอกชนที่อยู่ใกล้สถานี และหากเงินที่ได้ยังไม่พอยังไม่สามารถทำ 20 บาทตลอดสายได้ ค่อยมาดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดเพิ่มเติม.
...
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” เพิ่มเติม