นายพิชิต หุ่นศิริ รองอธิบดี (ด้านบำรุงทาง) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ ประกาศกฎกระทรวงกำหนดค่าใช้เขตทางพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงชนบท และทางหลวงสัมปทาน พ.ศ.2564 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค.2565 ทาง ทช.ได้ตรวจสอบข้อมูลการใช้พื้นที่เขตทาง เพื่อจัดเก็บค่าเช่าตามกฎกระทรวงฯ พบว่า กทม. มีการขอใช้พื้นที่เขตทางจำนวน 3 จุด บริเวณถนนราชพฤกษ์ และช่วงสะพานสาทร เพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง ระยะที่ 1 สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-สถานีคลองสานได้แก่ 1.พื้นที่เขตทางถนนราชพฤกษ์ ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว จากสถานีกรุงธนบุรี -สถานีบางหว้า ซึ่งตามกฎกระทรวงฯคิดค่าใช้พื้นที่เขตทางอัตรา 1,600 บาท ต่อ ตรม. แต่เนื่องจากในเงื่อนไขเป็นระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ประชาชนเข้าถึงได้ โดยเสียค่าบริการ ให้ส่วนลด 50% ทำให้อัตราค่าเช่าอยู่ที่ 64,698,400 บาทต่อปี โดยมีการค้างชำระตั้งแต่ปี 2565 ถึงปัจจุบัน (เดือน ก.ย.2567) รวมวงเงินประมาณ 177,523,800 บาท 2.กทม.ก่อสร้างอาคารสถานีจ่ายไฟฟ้าย่อยบริเวณสถานีบางหว้า พื้นที่เกาะกลางถนนราชพฤกษ์ ค่าเช่า 100 บาท ต่อ ตรม. ลด 50% คิดเป็นเงิน 140,000 บาทต่อปี ค้างชำระตั้งแต่ปี 2565 ถึงปัจจุบัน วงเงินกว่า 400,000 บาท 3.ค่าเช่าพื้นที่เขตทางสำหรับก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าสายสีทอง ช่วงถนนกรุงธนบุรี เชื่อมต่อถนนเจริญนคร วงเงิน 12.59 ล้านต่อปี ลด 50% เหลือ 6,295,200 บาทต่อปี ค้างชำระตั้งแต่ปี 2565 ถึงปัจจุบันวงเงินเกือบ 20 ล้านบาท

นายพิชิตกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทาง กทม.ได้ขอใช้พื้นที่ชั่วคราวเพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสายสีทอง ซึ่ง ทช.อนุญาตให้ใช้พื้นที่ โดยสงวนสิทธิ์สามารถขอพื้นที่คืนได้ ต่อมาเมื่อกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ให้จัดเก็บค่าเช่าใช้พื้นที่ ทช.จึงได้ทำหนังสือถึง กทม.สอบถามถึงการใช้จำนวนพื้นที่ เพื่อคำนวณอัตราค่าเช่าใช้เขตทาง และแจ้ง กทม.เพื่อเรียกเก็บค่าเช่าใช้เขตทางไปแล้ว 2 ครั้ง แต่ กทม.ยังไม่ได้ชำระแต่อย่างใด.

...

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่