คนไทยติด และตายจากโควิด สูงสุดในอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ยังเสี่ยงสูง หมอย้ำวัคซีนยังจำเป็นสำหรับผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรุญ มุตสิกพันธุ์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การระบาดของโควิดยังคงมีอัตราสูง โดยตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงปัจจุบัน (16 ก.ย.67) มีผู้ติดเชื้อไปแล้วมากกว่า 7 แสนราย ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลกว่า 48,000 ราย และเสียชีวิต 205 ราย ถือว่าเป็นสถิติการติดเชื้อและเสียชีวิตสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เมื่อเทียบกับไข้หวัดใหญ่ ที่ตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงปัจจุบัน จำนวนผู้ป่วยประมาณ 490,000 ราย และเสียชีวิต 36 รายแล้ว โควิด ถือว่ามีความรุนแรงที่มากกว่า ทั้งจำนวนผู้ป่วย และเสียชีวิตที่มากกว่าอย่างชัดเจน โดยผู้เสียชีวิตนั้น ร้อยละ 80-90 เป็นผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงกลุ่ม 608 ซึ่งหมายถึงผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้แก่

โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวานและโรคอ้วน รวมทั้งสตรีมีครรภ์ด้วย การที่ประชากรส่วนใหญ่ห่างหายจากการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไปนาน ถึงแม้หลาย ๆ คนอาจเคยติดเชื้อไปแล้ว แต่ภูมิคุ้มกันก็อยู่ไม่นาน ประกอบกับเชื้อมีการกลายพันธุ์ไป สาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นในวงกว้าง และส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง เกิดโรครุนแรงภาวะแทรกซ้อนได้

...

เมื่อกลุ่มที่กล่าวมาแล้วข้างต้นป่วยเป็นโควิด มีความเสี่ยงที่จะป่วยหนักสูงขึ้นประมาณ 2 ถึง 3 เท่า โอกาสเสียชีวิตสูงขึ้นประมาณ 2 ถึง 10 เท่า เมื่อเทียบกับผู้มีอายุน้อยกว่าหรือผู้ที่ไม่ได้มีโรคร่วม ไม่เพียงแต่เมื่อติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรงขึ้น แต่ยังส่งผลต่อภาวะโรคที่คนไข้เป็นอยู่ เพราะโควิด ไม่ใช่โรคของทางเดินหายใจเท่านั้น

แต่เป็นโรคที่สามารถมีอาการแสดงได้ในหลายอวัยวะ เนื่องจากเชื้อสามารถแพร่ไปได้ทั่วร่างกาย ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อระบบอวัยวะต่าง ๆ เช่น ลิ่มเลือดอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หัวใจล้มเหลว ไตวาย ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้อันตรายของโควิด-19 ที่รับรู้โดยทั่วไปคือเมื่อลงปอด จะทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบได้ สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่น หืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง อยู่แล้ว เมื่อเชื้อลงปอดจะมีอาการรุนแรงมากกว่าคนปกติ อาจส่งผลให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลวตามมาได้

ส่วนผู้ป่วยโรคหัวใจ พลตำรวจตรี นายแพทย์เกษม รัตนสุมาวงศ์ นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า โควิด ยังส่งผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดด้วย โดยในผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจ เมื่อเป็นโควิด ก็สามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อหัวใจ เช่น ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ลิ่มเลือดอุดตัน และกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดไปเลี้ยงได้ ซึ่งภาวะดังกล่าวนี้ เมื่อเกิดในผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจอยู่แล้ว อาการจะยิ่งเลวร้ายขึ้นและอาจส่งผลให้อาการทรุดหนักจนถึงขั้นหัวใจวายได้

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ผู้แทนจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า โควิด ส่งผลกระทบได้กับทุกอวัยวะ อาจก่อให้เกิดผลกระทบเหมือนเป็นลูกโซ่ ต่อทั้งโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ และนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ตามมาได้ในหลาย ๆ ระบบ

แม้กระทั่งผู้ไม่ได้มีโรคประจำตัวมาก่อน ก็พบว่าโรคบางโรคเพิ่มสูงขึ้นหลังหายจากโควิดแล้ว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอด โรคทางสมอง เป็นภาวะที่เกิดตามหลังโควิด-19 หรือเรียกว่าลองโควิดซึ่งพบประมาณร้อยละ 15 แต่ในกลุ่ม 608 นั้น โรคมีความรุนแรงทั้งในขณะที่ป่วยอยู่และหลังจากหายป่วยแล้ว

เมื่อถามว่าวัคซีนยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ ศ. พญ.ศศิโสภิณ ยืนยันว่าวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นยังมีความจำเป็นอยู่ โควิด-19 มีการกลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ ทำให้ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนหรือเคยติดเชื้อไปนานแล้ว ภูมิคุ้มกันที่มีอยู่อาจไม่สามารถป้องกันโรคได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง จึงมีความจำเป็นที่ต้องรับวัคซีนเข็มกระตุ้น

โดยข้อมูลปัจจุบันประสิทธิภาพของวัคซีนเข็มกระตุ้นจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60-70 ในการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต ซึ่งถ้าพิจารณาจากความเสี่ยงของการป่วยหนักและเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าในคนกลุ่มนี้แล้ว ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวัคซีนในการลดภาระโรคที่จะเกิดกับคนไข้กลุ่มนี้

"ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งในทวีปอเมริกา ยุโรป รวมถึงในแถบเอเชีย อาทิ ไต้หวัน และสิงคโปร์ ยังคงแนะนำให้ประชากร โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง รับวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต สำหรับประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยและราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ได้ออกคำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด สำหรับกลุ่ม 608 โดยแนะนำเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะถ้าเคยฉีดวัคซีนเข็มก่อนหน้ามาเกิน 1 ปี หรือติดเชื้อครั้งสุดท้ายมานานกว่า 3-6 เดือน และไม่ขึ้นกับว่าเคยได้รับวัคซีนโควิด-19 มาแล้วจำนวนเท่าใด"

...

รศ. นพ.ภิรุญ ชี้ว่าในปีที่ผ่าน ๆ มาเราได้เรียนรู้ว่า จำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงที่มีการเดินทาง ผู้คนหนาแน่น ไปมาหาสู่กัน โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์ และช่วงปลายปี ซึ่งตามลักษณะของการระบาด ก็พอจะคาดคะเนได้ว่า ในช่วงปลายปีที่จะถึงนี้ เราก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือ โดยการป้องกันตัวเองไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย เมื่อต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีคนอยู่แออัด และการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันเตรียมไว้

พลตำรวจตรี นายแพทย์เกษม รัตนสุมาวงศ์ นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชี้ว่าหนึ่งในอาการข้างเคียงที่พูดถึงกันบ่อย คือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลการฉีดในประเทศไทยเอง มีรายงานว่าพบได้ประมาณ 2 ในล้าน ซึ่งจะเกิดเพิ่มขึ้นในวัยรุ่นชายอายุ 18-29 ปี

โดยเฉพาะหลังเข็มที่ 2 แต่หลังเข็มกระตุ้น เราแทบจะไม่เจอรายงานเลย โดยถ้าเทียบกับอุบัติการณ์ที่เราเจอในคนทั่วไปที่ไม่ได้รับวัคซีนก็พบว่าไม่ได้เจอเพิ่มขึ้นหลังเข็มกระตุ้น การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงจึงไม่มีความกังวลในจุดนี้

อย่างไรก็ตาม โควิด เองก็อาจทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้และพบได้บ่อยกว่าการฉีดวัคซีนด้วยซ้ำไป หากจะชั่งน้ำหนักแล้วประโยชน์ที่ได้รับจากวัคซีนมีมากกว่าโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงแทบจะเทียบกันไม่ได้

นอกจากนี้ ศ. พญ.ศศิโสภิณ ยังกล่าวเสริมด้วยว่าในช่วงระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา วัคซีนโควิดมีการฉีดไปแล้วทั่วโลกมากกว่า 13,000 ล้านเข็ม ซึ่งต้องบอกว่ามากกว่าวัคซีนหลาย ๆ ตัวที่มีการใช้มาเป็นสิบ ๆ ปี มีการศึกษาเกี่ยวกับวัคซีนโควิดและโควิด-19 ออกมามากมาย ซึ่งข้อมูลยังคงสนับสนุนว่า วัคซีนโควิด-19 โดยเฉพาะที่ใช้ในปัจจุบัน คือ วัคซีนชนิด mRNA มีความปลอดภัยสูง อาการข้างเคียงส่วนใหญ่ไม่รุนแรง

...

เช่นเดียวกับวัคซีนอื่น ๆ ที่ใช้กันมายาวนาน การที่เราเคยพูดกันถึงการใช้ชีวิตแบบ new normal อย่างเช่นเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยตลอด หลีกเลี่ยงสถานที่พลุกพล่านแออัด ในความเป็นจริงแล้ว ทำได้ยากมาก การฉีดวัคซีนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยป้องกันการป่วยหนักหรือเสียชีวิตในกลุ่มเสี่ยง

ส่วนที่มีการบอกว่าฉีดแล้วเป็นมะเร็ง ข้อมูลในปัจจุบันไม่พบว่าวัคซีนเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็ง ตามที่ ร.อ. นพ.สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้เคยชี้แจงไว้แล้ว สุดท้ายอยากฝากให้ประชาชนติดตามและตรวจสอบข้อมูลข่าวสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันหรือสมาคมทางการแพทย์ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุข ก่อนที่จะเชื่อหรือแชร์ข้อมูลต่อไป

นายธนพลธ์ ดอกแก้ว จากเครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มผู้ป่วย Healthy Forum และสมาคมโรคเพื่อนไตแห่งประเทศไทย หนึ่งในผู้ร่วมเวทีเสวนาครั้งนี้เน้นย้ำว่า ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโควิด ด้วยวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังและประชาชนกลุ่มเสี่ยง

...

โดยกลุ่มผู้ป่วยส่วนใหญ่มีการระมัดระวังตัวมาโดยตลอดตั้งแต่การระบาดของโควิด เป็นการป้องกันตนเองตามที่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นสิ่งที่เราสามารถทำเองได้ แต่การปกป้องตัวเองด้วยวัคซีนนั้น

นอกเหนือจากความสามารถของเรา จึงอยากเรียกร้องไปถึงผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องให้ช่วยพิจารณาและจัดหาวัคซีนให้เพียงพอสำหรับประชาชน ถึงแม้ว่าวัคซีนอาจไม่จำเป็นสำหรับประชาชนส่วนหนึ่งแล้ว แต่ยังคงมีความจำเป็นสำหรับกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังและประชาชนกลุ่มเสี่ยงอยู่