"โกศลวัฒน์" อธิบดีอัยการ สคช. ชี้ส่อผิดกฎหมาย "เเม่ตั๊ก" ไลฟ์ขายทอง บอกรายละเอียดไม่ครบ การรับซื้อคืนถือเป็นการบรรเทาผลร้าย ฟ้องกลับผู้บริโภคทำได้หรือไม่

วันที่ 25 กันยายน นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี (สคช.) ได้ให้ความเห็นในฐานะอัยการคุ้มครองผู้บริโภค ในประเด็นข้อกฎหมาย เกี่ยวกับกรณี ดราม่าขายทอง "แม่ตั๊ก" ว่าต้องไปดูกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค อย่าง พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 47 บัญญัติไว้อย่างน่าสนใจว่า ผู้ใดโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งกระทำผิดซ้ำอีก ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 52 บัญญัติไว้อีกว่า ผู้ใดขายสินค้าที่ควบคุมฉลากตามมาตรา 30 โดยไม่มีฉลากหรือมีฉลาก แต่ฉลากหรือการแสดงฉลากนั้นไม่ถูกต้อง หรือขายสินค้าที่มีฉลากที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลากสั่งเลิกใช้ ตามมาตรา 33 ทั้งนี้ โดยรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าการไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำของผู้ผลิตเพื่อขาย หรือผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่าการโฆษณาขายสินค้า อย่างประเด็นที่เป็นข่าว คือ ทองคำ การสื่อสารต้องชัดเจนว่าทองคำผสมอะไร น้ำหนักเท่าไร ซื้อไปแล้วสามารถนำไปขายได้ในร้านทองทั่วไปหรือไม่ เรื่องนี้ถ้าสื่อสารชัดเจน ปัญหาจะไม่เกิดขึ้น

...

ส่วนในเรื่องคดีความการไลฟ์ขายทองที่เป็นข่าว ถ้าผู้ขายไม่บอกราคาให้ชัดเจน แล้วคลิปไลฟ์ถูกเซฟเอาไว้ อันนี้ก็เป็นพยานหลักฐานที่จะดำเนินคดีได้ ในส่วนที่ผู้ขายมีการประกาศว่าผู้ที่ซื้อไปสามารถนำมาขายคืนได้ในราคาที่ซื้อไป ก็อาจจะถือได้ว่าเป็นการบรรเทาผลร้ายโดยการรับซื้อคืน แต่กระบวนมันก็ดำเนินการไปแล้ว

ในส่วนความผิด ถ้าไม่มีผู้เสียหายไปแจ้งความก็อาจจะไม่เป็นไร เพราะมีการรับซื้อคืน ไม่มีผู้เสียหายแล้ว แต่ถ้าเกิดมีคนไปแจ้งความ พนักงานสอบสวนก็ต้องทำการสอบสวน ดูว่าในการไลฟ์สดขายมีการปกปิดข้อเท็จจริงหรือไม่ ถ้าสอบสวนพบว่ามีก็อาจจะเข้าข่ายข้อหาฉ้อโกง หรืออาจจะถึงขั้นข้อหาฉ้อโกงประชาชน เพราะมีการไลฟ์ไปสู่ประชาชน ตรงนี้ก็อาจจะขึ้นกับจำนวนผู้เสียหาย และอีกข้อหาคือความผิดเกี่ยวกับการค้า ซึ่งจะเป็นความผิดหรือไม่ขึ้นอยู่กับพนักงานสอบสวนจะสอบสวนหาความจริงว่า มีการปิดบังข้อมูลอันสำคัญในการขายและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ในส่วนประเด็นผู้บริโภคที่ออกมาร้องเรียนว่าเป็นทองปลอมด้วยความเข้าใจผิด และมีข่าวว่าจะมีการฟ้องร้องเอาผิดผู้บริโภคกลับ ถ้าจะฟ้องก็คงเป็นข้อหาหมิ่นประมาทฯ แต่การที่จะฟ้องผู้บริโภคนั้น ทางผู้ขายก็ควรต้องไปดูด้วยหรือไม่ว่า ตอนไลฟ์ขายทองได้พูดอะไรออกมาบ้าง ได้ทำถูกต้องตามกฎหมายครบถ้วนหรือไม่

ถ้าผู้บริโภคถูกฟ้องหมิ่นประมาทฯ เขาก็สามารถสู้ได้ หากเป็นการพูดอยู่ในกรอบข้อเท็จจริง และเป็นการปกป้องส่วนได้เสียในฐานะผู้เสียหาย แต่ก็ต้องพึงระลึกไว้ว่าการพูดจะไปพูดใส่ความกันเกินจริงไม่ได้ ในส่วนคนที่ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย เป็นลูกค้าที่ซื้อสินค้า ก็ต้องระวังตัวในเรื่องการวิจารณ์หรือพูด เพราะอาจถูกฟ้องร้องเป็นความได้

สุดท้ายก็อยากฝากถึงพ่อค้าแม่ค้าถ้าไม่เข้าใจเรื่องไลฟ์สดขายสินค้าอย่างไรให้ถูกต้องเป็นไปตามกฎหมาย สามารถโทรปรึกษาสายด่วนอัยการ สคช. โทร 1157 ได้ตลอด อัยการยินดีช่วย