มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 หรือ Thailand research expo 2024 จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอก คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ถือเป็นการแสดงงานวิจัยและนวัตกรรมที่มาจากนักวิจัยหัวกะทิทั่วประเทศ
สิ่งที่น่าสนใจ “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน เพื่อการรักษาคุณภาพทุเรียนแช่เยือกแข็ง” โดย ดร.ศิริวรรณ ณะวงษ์ นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง หัวหน้าส่วนวิจัยด้านอาหารและการเกษตร สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
สาระสำคัญของผลงานวิจัยคือ การพัฒนากระบวนการแช่เยือกแข็ง (Cryogenic freezing) ร่วมกับสารละลายไครโอโพรเทกแทนต์ (cryoprotectant) เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาทุเรียนสด ที่ช่วยคงคุณค่าทางโภชนาการ และเพิ่มมูลค่าการส่งออกทุเรียนด้วยแสงซินโครตรอน
นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เทคนิคแสงซินโครตรอนติดตามการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบสารชีวโมเลกุลภายในทุเรียนแช่แข็ง โดยมี 3 เทคนิคที่ใช้คือ เทคนิค Synchrotron infrared Spectro microscopy (SR-IR) เป็นเทคนิคที่ใช้แสงอินฟราเรดจากแสงซินโครตรอนในการวิเคราะห์องค์ประกอบภายในทุเรียน
ขณะเดียวกันก็ศึกษาโครงสร้าง 3 มิติของทุเรียนแช่แข็ง โดยใช้เทคนิคเอกซเรย์โทโมกราฟี (X-ray Tomography (XTM) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติ
นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังใช้แสงซินโครตรอนวิเคราะห์ด้วยเทคนิคการเรืองรังสีเอ็กซ์ “X-ray fluorescence (XRF)” เพื่อตรวจวิเคราะห์ธาตุองค์ประกอบของตัวอย่างเนื้อทุเรียนที่แช่แข็ง ร่วมกับสารละลายไครโอโพรเทกแทนต์ชนิดต่างๆ
ผลการวิเคราะห์ด้วยเทคนิคต่างๆข้างต้นพบว่า คุณภาพทางกายภาพ และโครงสร้างทางเคมีของทุเรียนแช่เยือกแข็งมีความใกล้เคียงกับทุเรียนสดใหม่
...
เมื่อทดสอบทางประสาทสัมผัสจากผู้ทดสอบชิมจำนวน 50 คน แสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ทุเรียนแช่เยือกแข็งที่อายุการเก็บรักษานาน 6 เดือน ไม่แตกต่างจากทุเรียนสดใหม่ ผลการศึกษาครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการยกระดับทุเรียนแช่เยือกแข็งเพื่อการส่งออกสู่การมุ่งเน้นตามแนวทางเศรษฐกิจใหม่.
สะ–เล–เต