นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยถึงการเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมเดือนสิงหาคม ว่า กทม.ได้วิเคราะห์การแก้ปัญหาน้ำท่วมมาตลอด ทั้งในระดับเส้นเลือดใหญ่และระดับเส้นเลือดฝอย เส้นเลือดใหญ่ของ กทม.คือ อุโมงค์ยักษ์และระบบอุโมงค์หลักในการระบายน้ำ รวมถึงระบบประตูระบายน้ำต่างๆ ส่วนเส้นเลือดฝอย คือ การขุดลอกคูคลองและลอกท่อระบายน้ำ แต่บางครั้งการระบายน้ำอาจต้องใช้เวลาสักเล็กน้อย “ที่ผ่านมา มีฝนตกในพื้นที่เขตบางนา ปริมาณน้ำฝนกว่า 70 มม. แต่ กทม. ก็สามารถระบายน้ำได้รวดเร็ว และคืนก่อนมีฝนตกหนักบริเวณฝั่งธนบุรี ทำให้ถนนเพชรเกษมมีน้ำท่วมขังแต่ก็ยังสามารถระบายน้ำได้ภายในครึ่งชั่วโมง”

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า สิ่งที่วิตกกังวลคือการเกิดฝนตกหนักเฉพาะจุด หรือปรากฏการณ์ Rain Bomb ที่อาจส่งผลกระทบพื้นที่จุดอ่อนในกรุงเทพฯ ดังนั้น กทม.จึงต้องเพิ่มเติมในส่วนของการพยากรณ์ให้แม่นยำมากยิ่งขึ้นว่าฝนกำลังจะตกหนักในพื้นที่ใด เพื่อจัดเตรียมทรัพยากรให้พร้อมล่วงหน้ารองรับสถานการณ์ เช่น รถสูบน้ำเคลื่อนที่ อุปกรณ์เครื่องมือ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เป็นต้น สำหรับขณะนี้ มีจุดที่เป็นห่วงคือ คลองเปรมประชากรที่เป็นคลองหลัก ซึ่งจะรองรับน้ำจากคลองย่อยหลายคลองในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ปัญหาในปัจจุบันคือยังมีการก่อสร้างเขื่อนไม่เสร็จ และยังมีบ้านรุกล้ำคูคลอง โดยปัญหาดังกล่าวอยู่ย่านดอนเมืองและบริเวณซอยช่างอากาศอุทิศ ซึ่งได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไข และอีกคลองที่เป็นห่วงคือคลองประเวศบุรีรมย์ย่านลาดกระบังที่ยังเป็นจุดอ่อนอยู่ ซึ่งได้ดำเนินการให้เร่งระบายน้ำไปลงคลองบางซื่อโดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม และเร่งขุดลอกคูคลองบริเวณที่เกี่ยวข้องแล้ว.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่

...