นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า ได้เรียกประชุมสำนักการคลัง สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักกฎหมาย สำนักงบประมาณ เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อหารือวางกรอบแนวทางการดำเนินงานตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เรื่องการชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 จำนวน 12,000 ล้านบาท ให้กับ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ BTSC เบื้องต้นได้วางกรอบการดำเนินงาน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

1.การศึกษารายละเอียดคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดทั้งหมด ซึ่งต้องเข้าใจให้ครบถ้วนทุกประเด็น

2.การดำเนินการในอนาคต เรื่องสัญญาจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ควรทำให้ถูกต้อง เนื่องจากยังไม่ผ่านการพิจารณาจากสภา กทม.

3.เรื่อง ป.ป.ช.มีมติเห็นชอบให้ชี้มูลความผิดคดีจ้างบีทีเอสซีเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายและเส้นทางหลักรวม 3 เส้นทางไปสิ้นสุดสัญญาพร้อมกันใน 2585 เมื่อเดือน ก.ย.66 ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงและไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ซึ่งเรื่องนี้ต้องศึกษาให้ชัดเจน ป้องกันประเด็นปัญหาภายหลัง

นายชัชชาติกล่าวว่า เรื่องการชำระหนี้ 12,000 ล้านบาท ไม่ได้กังวล กทม.พร้อมปฏิบัติตาม แต่ที่กังวลคือเรื่องการจ่ายเงินในอนาคต เนื่องจากสัญญาส่วนต่อขยายที่ 2 ไม่เคยผ่านการพิจารณาจากสภา กทม. จะทำอย่างไรให้ถูกต้อง และการแบกรับส่วนต่างต่อปีจากค่าเดินรถในอนาคต ซึ่งไม่ทราบว่าการทำสัญญาลักษณะนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะ กทม.ต้องแบกรับภาระมาก ขณะเดียวกัน เป็นเรื่องยากที่จะขึ้นค่าโดยสาร การดำเนินการต่างๆต่อจากนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ เช่น การเจรจากับบีทีเอสซี การนำเรื่องเข้าสภา กทม.เพื่อพิจารณามูลหนี้ในส่วนต่างๆ การคำนึงถึงดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ในส่วนการชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด จะนัดหารือเรื่องนี้อีกครั้งในวันที่ 5 ส.ค.นี้

...

ด้านนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ตอนนี้กังวลเรื่องส่วนต่างค่าจ้างเดินรถในอนาคตที่ต้องแบกรับแต่ละปีนั้น ปัจจุบันค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 ปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท เก็บค่าโดยสารได้ปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 2 ปีละประมาณ 6,000 ล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ยค่าโครงสร้างพื้นฐานปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท กทม.จึงยังไม่รับโอนส่วนต่อขยายที่ 2 จาก รฟม. เพราะรับภาระไม่ไหว ขณะที่ กทม.เก็บค่าโดยสารได้ปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท ขณะที่ค่าจ้างเดินรถเพิ่มขึ้นทุกปี หากจะปรับขึ้นค่าโดยสารต้องหารือกับรัฐบาล ส่วนประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน กรณี ป.ป.ช.มีการชี้มูลความผิดคดีจ้างบีทีเอสซีเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายตั้งแต่เดือน ก.ย.66 ที่ผ่านมา จะมีผลอย่างหนึ่งอย่างใดในอนาคตหรือไม่ อยู่ระหว่างหารือเพื่อให้เกิดความกระจ่างในการดำเนินการขั้นต่อไป.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่