ผอ.เขตห้วยขวาง รุดตรวจสอบป้ายขายสัญชาติ ล่าสุดสั่งปรับเจ้าของอาคาร 5,000 บาท ส่วนผู้ว่าจ้างรอตำรวจตรวจสอบ เบื้องต้นพบเป็นชาวสิงคโปร์


เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 23 ก.ค. 67 ที่บริเวณสี่แยกห้วยขวาง ถนนรัชดาภิเษก แขวงและเขตดินแดง กทม. นายไพฑูรย์ งามมุข ผู้อำนวยการสำนักงานเขตห้วยขวาง เดินทางมาตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีติดป้ายโฆษณาภาษาจีนชวน ซื้อ-ขายพาสปอร์ตและแปลงสัญชาติเพื่อประกอบการดำเนินคดีตามกฎหมาย ตามที่ปรากฏทางโซเชียล 


นายไพฑูรย์ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าป้ายดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคารฉบับที่ 55 พ.ศ. 2553 มาตรา 66, พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 10, 11 และ 12 ต้องแสดงข้อความและภาพที่ไม่ขัดความเรียบร้อยของบ้านเมืองและวัฒนธรรม ขณะนี้สำนักงานเขตห้วยขวางส่งผู้เชี่ยวชาญภาษาจีน เข้ามาดำเนินการแปลข้อความ เพื่อประกอบสำนวนดำเนินคดีเอาผิด


ส่วนเรื่องการเสียภาษีป้าย ทางเขตสามารถดำเนินการเรียกเก็บภาษี โดยจะคำนวณภาษีจากขนาดของป้าย 50 บาทต่อตารางเซนติเมตร รวมเป็นเงินประมาณ 160,000 ต่อปี แต่กรณีนี้สามารถเรียกเก็บภาษีได้ครึ่งหนึ่ง คือ 84,000 บาท เนื่องจากตรวจสอบพบว่าเพิ่งมีการดำเนินการติดตั้งเพียง 2 วัน โดยหลังจากนี้จะมีการตรวจสอบสภาพอาคาร รวมถึงโครงสร้างของป้ายดังกล่าวว่ามีความสมบูรณ์แข็งแรงมากน้อยเพียงใด หากไม่สมบูรณ์ก็ไม่สามารถที่จะติดตั้งโฆษณาได้

...


นายไพฑูรณ์ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นพบว่าอาคารแห่งนี้เป็นการลักลอบติดตั้งป้าย เพราะหลังจากรับแจ้งข้อมูลเขตเร่งดำเนินการทันที และหลังจากนี้เขตจะเข้มงวด ตรวจสอบป้ายลักษณะนี้ในพื้นที่เขตห้วยขวางซึ่งมีอยู่ประมาณ 153 ป้าย ที่โฆษณาทั่วไป ว่า เข้าข่ายกระทำความผิดหรือไม่ แต่ยืนยันว่าที่ผ่านมาไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่สังกัดของสำนักงานเขตห้วยขวางเข้าไปเกี่ยวข้องหรือมีการทุจริตอย่างแน่นอน และการดำเนินการเรียกเก็บภาษีทุกอย่างเป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐ เขตได้เงินจากภาษีป้ายเป็นอันดับต้นๆ ของกรุงเทพมหานคร 


ขณะนี้เขตได้เรียกเจ้าของอาคารมาดำเนินการเปรียบเทียบปรับ เป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท ในความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคารฉบับที่ 55 พ.ศ. 2553 มาตรา 66 ส่วนเจ้าของป้ายพบว่าเป็นบริษัทที่มีเจ้าของเป็นคนไทย จะต้องมาเสียภาษีภายใน 15 วันหลังจากนี้ 


ผอ.เขตห้วยขวาง กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับประเด็นการโฆษณาซื้อขายสัญชาติหรือพาสปอร์ตนั้น ขอให้เป็นหน้าที่ของตำรวจในการพิสูจน์ทราบว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดใดบ้าง เบื้องต้นพบข้อมูลในป้ายไม่ได้มีการประกาศซื้อขายสัญชาติไทย โดยพบว่าบริษัทที่ว่าจ้างนั้นมีเจ้าของเป็นชาวสิงคโปร์ แต่ยังไม่สามารถดำเนินคดีตามกฎหมายได้เพราะต้องรอตำรวจตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง