นับเป็นเหตุสะเทือนใจสังคมอีกครั้ง “เมื่อหนุ่ม 26 ปี ลวงฆ่าว่าที่ร้อยโทวัย 48 ปี อาชีพขับรถไรเดอร์” แล้วนำศพอำพรางชิงรถยนต์ไปก่อเหตุชิงทองในห้างดังกลางเมืองเชียงใหม่ได้ทองรูปพรรณ 32 เส้นน้ำหนักรวม 80 บาท “ชะล่าใจนำออกไปขาย” กลายเป็นเบาะแสสู่การถูกตามจับได้ทันควัน

สารภาพหมดเปลือก “หวังเงินไปซื้อตั๋วเครื่องบินใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างประเทศ” เลียนแบบพฤติกรรมจากเกม และภาพยนตร์แนวอาชญากรรม ทำให้ทีมสกู๊ปหน้า 1 ต้องกลับมาถอดบทเรียนนี้จาก รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล รองอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา และการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต บอกว่า

ถ้าวิเคราะห์ตามข่าว “คนร้าย” น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับบุคลิกภาพ และการตัดสินใจอย่างไม่เป็นเหตุเป็นผล สามารถดูจากในช่วงตำรวจนำผู้ต้องหาออกมาพิมพ์ลายนิ้วมือ หรือนำตัวไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพยังคงมีสีหน้าเรียบนิ่งเฉย “ไม่มีอาการสะทกสะท้านกับสิ่งที่เกิดขึ้น” แสดงให้เห็นว่าเขายึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล

...

ลักษณะพฤติการณ์ของคนแบบนี้ “มักไม่สนใจคนรอบข้าง หรือเหยื่อที่ถูกกระทำ” สังเกตจากการก่อเหตุฆ่าหนุ่มขับไรเดอร์โดยไม่รู้จัก หรือไม่เคยโกรธแค้นกันมาก่อน เพียงแค่ต้องการรถยนต์ไปก่อเหตุชิงทองเท่านั้น ถ้าเปรียบเทียบตามหลักอาชญาวิทยาสามารถทำการวินิจฉัยความผิดปกติได้ 2 ปัจจัย กล่าวคือ

ปัจจัยแรก...“แรงกดดันภายใน” คงต้องดูประวัติตั้งแต่การอบรมเลี้ยงดูว่า “ครอบครัวมีปฏิสัมพันธ์ระดับใด” เพราะเด็กบางคนอาจไม่เคยมีประสบการณ์ถูกทำร้ายร่างกาย “แถมพ่อแม่ดูแลทะนุถนอม” เมื่อลูกอยากได้อะไรก็ซื้อให้กลายเป็นว่า “เด็กไม่เคยรับรู้ความเป็นเหตุเป็นผล” โดยเฉพาะความผิดหวังในสิ่งต้องการแล้วไม่ได้

สุดท้ายมักหันไปทำผิดกฎหมาย “ทั้งลักทรัพย์ หรือค้ายาบ้าก็มี” หากเปรียบเทียบคดีเยาวชน 14 ปี ก่อเหตุกราดยิงในห้างดัง ถ้าดูประวัติคนร้ายอยู่ในครอบครัวฐานะดี “พ่อแม่มีเงินให้ใช้ไม่ขาดมือ” แต่มูลเหตุจูงใจก็เชื่อว่า “เรียกร้องความสนใจ” ดังนั้นเด็กก่อเหตุร้ายในสังคมจะดูประวัติการเลี้ยงดูในครอบครัวอย่างเดียวคงไม่พอ

จำเป็นต้องย้อนดูการเติบโตในสิ่งแวดล้อมชุมชน และการขัดเกลาทางสังคมประกอบ เพราะสิ่งนี้เป็นตัวบ่งชี้สะท้อนบุคลิกภาพการแสดงออก หรือการคิดการตัดสินใจความผิดปกติทางภาวะสุขภาพจิตนั้นออกมา

ปัจจัยที่สอง...“สิ่งรุมเร้าภายนอก” เริ่มจากการใช้ชีวิตของเด็กอยู่ในสังคม ชุมชน โรงเรียนมักมีสิ่งล่อแหลมอันเป็นความเสี่ยงนำไปสู่การใช้ความรุนแรงได้ทั้งสิ้น “ยิ่งมีตัวกระตุ้นจากการเล่นเกมเนื้อหาความรุนแรงต่อเนื่องเป็นเวลานาน” สิ่งนี้จะมีผลแนวโน้มในการเป็นอาชญากรในอนาคตได้ไม่มากก็น้อย

เพราะการเล่นเกมหลายชั่วโมงต่อวันก็มีงานวิจัยรองรับชัดเจนว่าส่งผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ฉุนเฉียว โกรธ โมโหง่ายนำไปสู่ “พฤติกรรมด้านลบ” อย่างคดีคนร้ายฆ่าไรเดอร์ถูกเลี้ยงมาแบบให้เงินใช้ไม่ขาดมือ แต่พอพ่อแม่นำเงินไปลงทุน “ถูกโกงหมดตัว” จากเคยกินอยู่สบายต้องพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ

แม้พ่อแม่ยังคงส่งเงินให้เดือนละ 15,000-20,000 บาท แต่การให้นั้นอาจสำทับในเชิงลบอย่างไม่ตั้งใจ เช่น อาจพูดกับลูกควรต้องหางานทำได้แล้ว หรืออาจพูดทำนองว่าครอบครัวมีปัญหาต่อไปรายได้อาจไม่ได้เหมือนเดิม สิ่งนี้ล้วนเป็นแรงกดดันให้เด็กเกิดความเครียดเลือกวิถีทางหาเงินในทางผิดกฎหมายก็ได้

...

ประการต่อมาต้องยอมรับว่า “การเล่นเกมนานๆ” เป็นความเสี่ยงของความรุนแรงอยู่แล้วยิ่งมีปัจจัยอย่างเช่น “คบเพื่อนที่ก้าวร้าว เกเร อันธพาล” ก็จะกระตุ้นการใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นนำไปสู่การละเมิดกฎหมายได้

แต่เรื่องนี้ก็มิใช่จะเกิดกับ “เด็กทั่วไปทุกคน” เพราะบางคนยังมีหลักแนวคิดตาม “ทฤษฎีพันธะทางสังคม” อันมีความเกี่ยวข้องกับสายใยรักแห่งคนในครอบครัว คนรอบข้าง คนในชุมชน รวมถึงเพื่อนในโรงเรียน หรือเพื่อนร่วมงานบริษัทเดียวกันที่มักจะมีความผูกพันร่วมกันอยู่เสมอ

เพราะตามธรรมชาติ “เด็ก” จะแสวงหาความรักความอบอุ่นโดยเฉพาะจาก “พ่อแม่” เมื่อทุกคนตอบสนองต่อความต้องการของเด็กเต็มเปี่ยมไปด้วย “ความรัก ความห่วงใย และเอาใจใส่” การกระทำนี้ก็จะทำให้เด็กมีความผูกพันไม่อยากให้คนรอบข้าง และคนที่รักต้องเสียใจ อันเป็นเสมือนสายใยยึดไม่ให้ทำการละเมิดกฎหมาย

...

แม้แต่สายใยความเชื่อทางศาสนาที่ถูกต้อง “การฆ่าทำลายชีวิต หรือเบียดเบียนทำร้ายคนอื่น” ล้วนเป็นบาปหนักพุทธศาสนาจะไม่ยอมรับการฆ่าทุกกรณี สิ่งนี้ทำให้ผู้ยึดมั่นทางศาสนาไม่กระทำความผิดต่อคนอื่น

ปัจจุบันสิ่งนี้กลับลดน้อยลงจาก “การถูกบีบของสภาวะทางสังคม เศรษฐกิจ” แล้วยิ่งปรากฏพบพระสงฆ์บางรูปมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมถูกนำเสนอผ่านสื่อโซเชียลฯ ทำให้ความศรัทธาของผู้คนลดน้อยถอยลงด้วย

จริงๆแล้ว “การฆ่าผู้อื่นโดยไม่เคยมีเรื่องโกรธแค้นกันมาก่อนนั้น” ตามหลักมักมีปัญหาเกี่ยวกับความผิดปกติของบุคลิกภาพต่อต้านสังคมโดยไม่คำนึงถึงสิทธิของผู้อื่น ขาดความเห็นอกเห็นใจ และการมีส่วนร่วม แต่กลับยึดหลักตัวเองเป็นใหญ่ ถ้าอยากได้ต้องได้ อยากทำต้องทำ นำไปสู่การละเมิดบรรทัดฐาน และกฎเกณฑ์ทางสังคม

เปรียบเทียบกับกรณี “คนร้ายฆ่าไรเดอร์” ก็ค่อนข้างเข้าข่ายความผิดปกติของบุคลิกภาพต่อต้านสังคมจากความไม่สนใจ หรือไม่แคร์คนอื่น เพียงแค่มุ่งหวังหาประโยชน์จากการทำร้ายผู้อื่น “โดยไม่รู้สึกผิด หรือไม่สำนึกผิดใดๆทั้งสิ้น” แล้วเท่าที่ประเมินคร่าวๆผู้ต้องหาสามารถรับรู้เข้าใจตอบสนองคำถามได้ดี

ดังนั้นคิดว่า “การก่อเหตุครั้งนี้น่าจะมีการเตรียมการมาอย่างดี” ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมปืน เลือกสถานที่ และเลือกเวลา “ทำให้ไม่มีประเด็นอาการผิดปกติทางจิต” เพราะกรณีผู้ป่วยทางจิตส่วนใหญ่มักมีอาการหูแว่ว และประสาทหลอนตลอดเวลา “ไม่สามารถวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน” เหมือนดั่งลักษณะนี้ได้เลยด้วยซ้ำ

...

ประเด็นถัดมา “อาวุธปืนใช้ก่อเหตุ” ปัจจุบันต้องยอมรับสังคมไทยมีคดีอาชญากรรมเกี่ยวกับปืนเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีช่องทางการผลิต และจำหน่วยหลากหลาย โดยเฉพาะปืนเถื่อนยังลักลอบดัดแปลง หรือผลิตขายกันเกลื่อนบนโลกออนไลน์ แล้วในขณะที่ “ปืนผิดมือ” ที่อยู่ในครอบครองของคนอื่นก็มีอยู่มากมาย

ส่วนหนึ่งเพราะ “นโยบายรัฐไม่เข้มข้นกับการป้องกัน และปราบปราม” อย่างกรณีไม่นานมานี้กระทรวงมหาดไทยเคยประกาศให้ผู้ครอบครองบีบีกัน สิ่งเทียมคล้ายปืน และกระสุนต้องมาขึ้นทะเบียน แต่เรื่องนี้กลับเงียบไป ทำให้เชื่อว่าผู้ครอบครองบีบีกัน และสิ่งเทียมอาวุธปืนยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีกมากในปัจจุบัน

เช่นนี้จึงขอยกตัวอย่าง “ประเทศออสเตรเลีย และประเทศนิวซีแลนด์” ที่เคยมีปัญหากราดยิงในที่สาธารณะจนต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรม “ความผิดอาวุธปืน” เพื่อให้ผู้ถือครองนำมามอบให้รัฐตามกำหนดจะไม่ถูกดำเนินคดี และทำควบคู่กับการปราบปรามผู้ลักลอบผลิต และปิดช่องทางการจำหน่วยอย่างจริงจัง

ไม่เท่านั้นยังออกมาตรการจัดระเบียบสังคมจริงจัง “ตรวจจับรถไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน” ที่เป็นจุดเสี่ยงนำไปสู่เหตุร้ายจนสถิติอาชญากรรม และฆ่าตัวตายจากอาวุธปืนลดลง แล้วหากเกิดคดีฆ่ากันตายในกระบวนการสืบสวนติดตามคนร้ายมาลงโทษจะเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ทำให้ผู้กระทำความผิดเกิดความเกรงกลัวต่อกฎหมาย

หากย้อนมาดู “ประเทศไทย” มีความผิดฝ่าฝืนจราจรมากทุกวัน “แต่การเพิกเฉยความผิดเล็กๆน้อยๆ” ตามทฤษฎีหน้าต่างแตกระบุว่า ถ้าปล่อยให้ทำความผิดลหุโทษได้มักจะกลายเป็นการก่อคดีใหญ่ในอนาคต

ฉะนั้นต้องไม่เพิกเฉยกับความผิดเล็กน้อย “ไม่ปล่อยให้ทำความผิด” เพื่อตัดไฟแต่ต้นลมไม่ให้สามารถไปก่อคดีใหญ่ๆได้ต่อไป นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับ “คดีประชาชนสนใจ” ด้วยการเปิดช่องทางพิเศษเร่งรัดสรุปคดีส่งฟ้อง “ศาล” ให้พิจารณาลงโทษคนทำผิดโดยเร็ว เพื่อปรามผู้ที่คิดจะใช้ความรุนแรงในสังคมนั้น

สุดท้ายย้ำว่า “สังคมไทยบอบช้ำกับความรุนแรงมามากพอแล้ว” รัฐบาลควรจัดการปัญหาอาชญากรรมในประเทศอย่างจริงจังโดยเฉพาะการเฝ้าระวังเด็ก เยาวชน และครอบครัวที่ชอบใช้ความรุนแรง อันจะเป็นกลุ่มเสี่ยงแนวโน้มของการเกิดอาชญากรเพิ่มขึ้นในอนาคต...

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม