สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ชูผลงาน รอบ 4 ปี ขับเคลื่อนโครงการตามนโยบายรัฐบาล สร้างรายได้ 650 ล้านบาท เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 7,486 ล้านบาท โดยสามารถนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปใช้อย่างกว้างขวาง ซึ่งจะกลายเป็นพลังงานสะอาดของโลกอนาคต หรือ "ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์" รวมทั้งระดมผู้เชี่ยวชาญทางด้านสาขาต่างๆ มาต่อยอดเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ
เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 67 รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า สทน. มุ่งมั่นขับเคลื่อนกิจกรรมและโครงการต่างๆ ตามภารกิจและนโยบายของรัฐบาล โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศ และร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ดียิ่งขึ้น สถาบันฯ ได้ดำเนินการแบบครบวงจร คือ การวิจัย การบริการ และการถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์สู่ภาคส่วนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปใช้อย่างกว้างขวางมากขึ้น โครงการสำคัญ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชัน ซึ่งจะกลายเป็นพลังงานสะอาดของโลกอนาคต หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์" สถาบันได้ร่วมทำงานกับหลายภาคส่วนทั้ง มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และภาคเอกชน ระดมผู้เชี่ยวชาญทางด้านสาขาต่างๆ มาต่อยอดเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสร้างองค์ความรู้และสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติในอนาคตได้ และการยกระดับอาหารพื้นถิ่นฉายรังสีเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจของอาหารพื้นถิ่น การให้ความรู้กับผู้ประกอบการทางภาคต่างๆ ของประเทศไทย ในการเผยแพร่ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ให้เป็นที่รู้จักแก่ประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ สทน. ยังได้พัฒนางานบริการและงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง เช่น การฉายรังสีสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อการส่งออก และการตรวจสอบสินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นต้น สำหรับสรุปผลการดำเนินงานของ สทน. แบ่งออกเป็นสองด้านหลักๆ คือ งานด้านการให้บริการ และงานด้านการวิจัย แต่ละด้านมีผลการดำเนินงาน ดังนี้
...
ด้านการให้บริการ
1. รายได้ที่เกิดจากการให้บริการและผลิตภัณฑ์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ในช่วงปี 2563-66 มีมูลค่าตามลำดับ ดังนี้ 147.18 ล้านบาท 149.77 ล้านบาท 175.51 ล้านบาท 178.07 ล้านบาท รวมรายได้ในรอบ 4 ปี เป็นจำนวน 650.3 ล้านบาท
2. มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากผลิตภัณฑ์และการให้บริการทางด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ในช่วงปี 2563–66 มีมูลค่าตามลำดับดังนี้ 1,573 ล้านบาท, 1,694 ล้านบาท, 1,926 ล้านบาท, 2,293 ล้านบาท รวมมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในรอบ 4 ปี เป็นจำนวน 7,486 ล้านบาท
3. จำนวนผู้ประกอบการที่รับบริการด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ปี 2565 มีจำนวน 3,534 ราย, 2566 มีจำนวน 4,590 ราย
4. จำนวนผู้ประกอบการที่รับบริการฉายรังสี ในช่วงปี 2563–66 มีดังนี้ 317 ราย, 401 ราย, 319 ราย และ 502 ราย รวมในรอบ 4 ปี มีจำนวนผู้ประกอบการที่รับบริการฉายรังสี ทั้งสิ้น 1,539 ราย
5. จำนวนผู้เข้าถึงการรักษาและวินิจฉัย ในช่วงปี 2563–66 มีจำนวนผู้เข้าถึงตามลำดับ ดังนี้ 2565 จำนวน 22,800 ราย, 2566 มีจำนวนผู้เข้าถึง 42,000 ราย รวมผู้เข้าถึงการรักษาและวินิจฉัยในช่วง 2 ปี มีจำนวน 64,800 ราย
6. จำนวนคนที่ได้รับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อสนับสนุน งานด้านอุตสาหกรรม ในช่วงระหว่างปี 2563–66 มีจำนวน ดังนี้ 549 ราย, 163 ราย, 1,575 ราย, 2,076 ราย รวมจำนวนคนที่ได้รับการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในรอบ 4 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 4,363 ราย
ด้านการวิจัย
1. จำนวนการยื่นจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร ในช่วงระหว่างปี 2563–66 มีผลงานการขึ้นทะเบียนตามลำดับ ดังนี้ 13 เรื่อง, 11 เรื่อง, 13 เรื่อง และ 31 เรื่อง รวมผลงานที่จดทะเบียนสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรในรอบ 4 ปี เป็นจำนวน 68 เรื่อง
2. ผลงานวิจัยพัฒนาและเทคโนโลยีพร้อมใช้ที่ถูกนำไปใช้ในเรื่องการสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ ให้กับภาคการผลิต บริการ และการแพทย์และสาธารณสุข ในช่วงระหว่างปี 2563–66 มีจำนวนผลงานตามลำดับ ดังนี้ 14 เรื่อง, 13 เรื่อง, 12 เรื่อง และ 14 เรื่อง รวมผลงานที่มีการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ในรอบ 4 ปี มีจำนวน 53 เรื่อง
3. ผลงานการตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ ในช่วงระหว่างปี 2563–66 มีผลงานการตีพิมพ์ตามลำดับ ดังนี้ 23 เรื่อง, 39 เรื่อง, 62 เรื่อง และ 63 เรื่อง รวมผลงาน ตีพิมพ์ในช่วง 4 ปี เป็นจำนวน 187 เรื่อง
...
ในส่วนของโครงการที่สำคัญๆ ที่ สทน.ดำเนินการช่วงระหว่างปี 2563-66 มี 2 โครงการคือ 1. โครงการศูนย์ฉายรังสีอิเล็กตรอนบีม 2. โครงการเครื่องโทคาแมคเพื่อวิจัยเทคโนโลยีฟิวชัน
สำหรับแนวนโยบายในการปฏิบัติงานของ สทน. ในปี 2567-2570 สทน. เน้นเป้าหมายสำคัญใน 3 ด้าน คือ
เป้าหมายที่ 1 การนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ SMEs เพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจอาหารและการเกษตร เช่น การต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกจากโครงการ “ฉายรังสีปลอดภัย อาหารพื้นถิ่นปลอดโรค” การวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม
เป้าหมายที่ 2 การยกระดับงานวิศวกรรม เน้นการพัฒนาต่อยอดด้านเทคโนโลยี ให้สามารถพัฒนานวัตกรรมและเครื่องมือทางนิวเคลียร์ได้ โดยความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เช่น ระบบการตรวจสอบท่อใต้น้ำ ระบบวัดคุณสมบัติของพลาสมา การพัฒนาอุปกรณ์วัดรังสี และโครงการอื่นๆ ที่กำลังดำเนินการ
เป้าหมายที่ 3 การเปลี่ยนผ่านงานสู่ระบบดิจิทัล การนำ AI มาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์และประเมิน เพื่อความรวดเร็วในการปฏิบัติงาน และการให้บริการ มีกิจกรรมที่สำคัญ เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชัน หรือระบบการให้บริการในรูปแบบดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการบริการ การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการข้อมูลและการใช้ประโยชน์จากข้อมูล การพัฒนาทรัพยากรบุคคล และทักษะด้านดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพ และการปรับปรุงการบริหารจัดการและกระบวนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลภายในองค์กร
...