ทุกชีวิตที่เกิดมาบนโลกใบนี้ต่างต้องการความสุขความสมหวังและความอยู่รอดปลอดภัยด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครที่ต้องการความทุกข์ความผิดหวังหรือได้รับอันตรายจากภัยใดๆทั้งสิ้น แต่ความเป็นจริงมิได้เป็นเช่นนั้นเสมอไปเพราะเหตุผลและปัจจัยเป็นที่ตั้ง
ทั้งหมดจึงเป็นไปด้วย “เหตุ” และ “ผล” พระครูจินดาสุตานุวัตร (พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก) ประธานมูลนิธิกลุ่มแสงเทียน เจ้าอาวาสวัดบางไส้ไก่ กทม. บอกว่า เหตุดีผลก็จะดีตามมา แต่เหตุไม่ดีผลก็จะไม่ดีตามมา ทางที่ดีมนุษย์เราจึงควรสร้างแต่เหตุที่ดีจะได้พบแต่สิ่งที่ดีให้กับชีวิตตลอดไป
“ความเป็นอยู่ที่สุขกายสบายใจ...ก็จะเกิดขึ้นจากผลดีที่สร้างขึ้น มานี่เอง”
ชีวิตของมนุษย์เราได้มีวัยที่แตกต่างกันออกไป ผู้ที่เกิดก่อนก็กลายเป็นผู้สูงวัย ผู้ที่เกิดตามมาทีหลังก็กลายเป็นผู้มีวัยกลางคนและผู้ที่เกิดล่าสุดก็ยังเป็นผู้มีวัยเยาว์กันอยู่ แน่นอนว่าคนที่เกิดก่อนย่อมจะได้ชื่อว่า “เป็นผู้อาบน้ำร้อนมาก่อน” ย่อมมีประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตทั้ง “ถูก” และ “ผิด” มาแล้ว
“อะไรดีและอะไรไม่ดี อะไรเป็นประโยชน์และอะไรไม่เป็นประโยชน์ก็สัมผัสมาแล้ว ดังนั้น คนที่เกิดก่อนจึงได้พบเห็นหลายสิ่งหลายอย่างจนกลายเป็นประสบการณ์ให้กับชีวิต ส่วนคนที่เกิดตามมาทีหลังก็จำเป็นต้องค่อยๆหาประสบการณ์เป็นบทเรียนหรือเป็นอุทาหรณ์สอนใจให้กับตนเองต่อไป”
...
ชีวิต...จึงไม่มีที่สิ้นสุดตราบใดที่ยังมีลมหายใจกันอยู่ ส่วนคนที่ยังกลายเป็นผู้วัยเยาว์ก็พยายามเรียนรู้ เข้าใจในสิ่งที่ย่างกรายเข้ามาในชีวิต เรียนรู้วันละเล็กวันละน้อย ในที่สุดก็จะเป็นทางเดินของชีวิตต่อไป
ย้ำว่า...การมีชีวิตอย่างผู้ใหญ่หรือผู้ที่อาบน้ำร้อนมาก่อนจะต้องอยู่อย่างพรหมหรือเรียกว่า “พรหมวิหาร” ที่มีอยู่สี่ประการจึงจะได้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีความรอบคอบ รวมถึงปกครองดูแลผู้อื่นได้อย่างดี
ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่าประกอบด้วย หนึ่ง...ความเมตตา คือความสงสาร ผู้ที่เป็นผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองทุกระดับชั้นจะต้องมีความเมตตาเป็นที่ตั้ง มีจิตที่เมตตาต่อผู้อื่นไม่ว่ากรณีใดๆก็ตาม จิตแห่งความเมตตานี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ที่อ่อนแอกว่าผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครอง...การบังคับบัญชา
เพราะ...เมื่อผู้ใหญ่มีความเมตตาย่อมจะสามารถปกครองดูแลให้ความสงบสุขความร่มเย็นเกิดขึ้นมาในสังคมนั้นๆได้ แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าผู้ใหญ่ไม่มีความเมตตาเป็นที่ตั้งแล้วล้วนแต่จะเกิดความสับสนความวุ่นวายติดตามมา หาข้อยุติแห่งความขัดแย้งลงตัวได้ยาก
“ความเมตตา” จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการอยู่ร่วมกันและการปกครองของผู้ที่มีอำนาจและมีโอกาสกว่า แต่ความเมตตาก็มิใช่ความอ่อนแอหรือความไม่ได้เรื่องใดๆทั้งสิ้น เราจึงพบเห็นอยู่ตลอดเวลาว่าเมื่อเกิดความไม่ปกติสุขขึ้นมาในสังคม จึงมักเรียกร้องถึงความเมตตาของผู้ปกครอง...ผู้ที่มีอำนาจในการจัดการปัญหา
ทุกอย่างจะสงบและเย็นลงก็เพราะ “ความเมตตา” พระพุทธองค์จึงได้ตรัสสอนไว้ว่า “โลโก ปตฺถมฺภิกา เมตตา แปลว่า เมตตาเป็นเครื่อง ค้ำจุนโลก”
สอง...ความกรุณา คือความคิดที่จะช่วยเหลือเขาให้พ้นทุกข์ มนุษย์เราจะมีเพียงความเมตตาคือความสงสารเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีความกรุณาคือมีความคิดที่จะช่วยเหลือเขาที่ตกทุกข์ได้ยากให้เขาได้พ้นจากทุกข์นั้นๆไป แต่ความกรุณาปรานีจะมีใครบังคับก็หาไม่ จะเกิดขึ้นกับบุคคลนั้นเฉพาะตัว
“บางคนมีความเมตตาเพียงอย่างเดียวก็จบลงไปคือรู้ถึงความทุกข์ยากความลำบากของเขาแต่ไม่คิดที่จะช่วยเหลือเขาก็มี บางคนมีความเพียรพยายามเมื่อพบเห็นว่าเขาตกทุกข์ได้ยากก็พยายามดิ้นรนเสาะแสวงหาว่าเขาอยู่แห่งหนตำบลใดแล้วยื่นมือเข้าไปให้ความช่วยเหลือจนบุคคลนั้นได้พ้นทุกข์ไป...”
...
บุคคลที่กระทำเช่นนี้จึงเรียกว่า “เป็นมนุษย์ที่ไม่นิ่งดูดาย” สมควรแก่การยกย่อง สมควรแก่การเชิดชูให้กลายเป็น “ตัวอย่างที่ดี” ในสังคมของเรา คนที่มีความกรุณาเช่นนี้ขอให้เกิดมีมากในโลกมนุษย์เราเพราะเป็นบุคคลที่ได้ “สร้างปกติสุขให้กับสังคม” ทำความดีที่ไม่หวังผลตอบแทนใดๆทั้งสิ้น
จึงได้กลายเป็น “ผู้ใหญ่” ที่ไม่จำเป็นต้องกำหนดว่ามีอายุมากน้อยเพียงใด อยู่นานถ้าไม่มีความกรุณาเป็นพื้นฐานของชีวิตก็ไม่มีค่าอะไร แต่ถ้าอยู่ไม่นานหรือเกิดมาไม่นานกลับมีจิตที่ประกอบไปด้วย “ความกรุณา” ย่อมจะเป็นบุคคลที่สร้างความร่มเย็นให้กับส่วนรวมได้เช่นเดียวกัน
อายุจึงไม่สำคัญตลอดไป แต่การกระทำจึงเป็นจุดบ่งชี้ว่าบุคคลนั้นมีคุณสมบัติของ...ความเป็นพรหม มากน้อยเพียงใด?
สาม...ความมุทิตา คือความพลอยยินดี มนุษย์มีทั้งความโลภความโกรธความหลงหรือทางพระเรียกว่ามีกิเลสคือเครื่องที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ความโกรธที่เกิดขึ้นจากการที่ไม่ได้อะไรดังตั้งใจเอาไว้...เกิดทำลายล้างผลาญซึ่งกันและกัน ความหลงที่เข้าใจผิดสำคัญผิดไปแล้วกระทำละเมิดกฎหมายบ้านเมือง ประพฤติผิดกติกา
...
ถ้าเป็นผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ในสังคมทุกระดับชั้นมีจิตใจที่พลอยยินดีเมื่อคนอื่นได้ดี ปราศจากความอิจฉาริษยาก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองที่ช่วยสร้างความร่มเย็นเป็นสุขให้กับส่วนรวมได้อย่างดี
นับตั้งแต่คนที่เป็นบิดามารดาของบุตร คนที่เป็นเจ้านาย...ผู้บังคับบัญชาองค์กร หน่วยงานนั้นๆ ผู้ที่มีอำนาจในการปกครอง...ดูแลสังคม ล้วนแต่ จะก่อให้เกิดให้ผู้คนในสังคมมีสุขภาพจิตที่ดีเพราะการพลอยยินดีนี้ได้สร้างสังคมได้อย่างดียิ่ง ผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตหน้าที่การงานการดำรงชีพก็จะได้รับการสนับสนุนเชิดชู
เจริญก้าวหน้าเพราะการ “พลอยยินดี” เป็นที่ตั้ง
สี่...ความอุเบกขา คือความวางเฉย มีจิตใจที่เป็นกลาง ไม่ดีใจเมื่อคนที่เคยเป็นศัตรูของเราได้รับความหายนะ...ไม่เสียใจเมื่อเป็นผู้คนที่ตนเองรักและเคารพได้รับความทุกข์ยากลำบากในกรณีที่ตัวเราเองได้ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้ว ก็ยังช่วยเหลือไม่ได้
อีกอย่างหนึ่งคนที่มีความอุเบกขาเป็นที่ตั้งย่อมไม่เป็นคนที่คลอนแคลนในทุกกรณีที่เกิดขึ้น มักเป็นคนที่มีอารมณ์ไม่แปรปรวนไปตามเหตุการณ์ต่างทำใจอยู่ตลอดเวลาว่ามนุษย์เราได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ ได้รับการสรรเสริญเยินยอ ถูกติฉินนินทา...มีความสุขและได้รับความทุกข์กันทุกชีวิต
...
“...จะแตกต่างกันอยู่บ้างว่าใครหรือชีวิตใดได้รับฝั่งใดมากน้อยเท่านั้น คนที่มีความอุเบกขามักมีสุขภาพจิตดี เข้าใจในความเป็นจริงของชีวิต โดยยึดเอาตามหลักคำสอนที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ว่า กมฺมุนา วตฺตติ โลโก แปลความว่า...สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม”
คนที่มีความอุเบกขาเป็นที่ตั้ง จึงได้กลายเป็นการใช้ชีวิตที่มีความเป็นอย่างพรหมนั่นเอง
“เราได้พบเห็นรูปพรหมที่ติดตั้งไว้ที่หน้าบ้านในบ้านในที่ทำงานเป็นรูปพรหมสี่หน้าบ้างพรหมแปดหน้าบ้างหรืออื่นๆ ตามความเชื่อ พรหมที่มีสี่หน้าก็หมายถึงการเป็นผู้ใหญ่ที่มองรอบด้านดูแลคุ้มครองคนอื่นให้ทั่วถึงทุกด้านหรือหลายด้านตามความเชื่อที่มีอยู่ เพื่อให้เกิดความสุข ความร่มเย็น ความเจริญก้าวหน้า”
แต่...ตามหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาแล้วหมายถึง “มนุษย์” ที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันดั่งเช่นบิดาและมารดาก็เป็น...พรหมของบุตรธิดา หัวหน้าหรือเจ้านายก็เป็น...พรหมของลูกน้องและผู้ช่วยงานผู้สนับสนุนให้การงานเจริญก้าวหน้า อีกทั้งครูบาอาจารย์ก็เป็น...พรหมของศิษย์
สุดท้ายนี้การมีชีวิตความเป็นอยู่อย่าง “พรหม” จึงเป็นชีวิตของผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีโอกาสกว่า.