"ชัชชาติ" ลงตรวจชุมชนตรอกโพธิ์ ยันการช่วยดับเพลิงมีอุปสรรค เพราะเป็นบ้านไม้ ทางเข้าซอยแคบ เพลิงลุกไหม้รวดเร็ว รถดับเพลิงเข้าถึงยาก เผยประปาหัวแดงมีเพียงพอ แต่ไม่สามารถลากสายยางได้ เพราะมีหลังคาถล่มลงมา อนาคตอาจจัดอุปกรณ์ดับเพลิงที่สามารถแบกได้ และเครื่องปั๊มน้ำที่จะสามารถสูบน้ำจากแหล่งน้ำในชุมชนมาฉีดได้ โดยไม่ต้องพึ่งประปาหัวแดง 


เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 8 ส.ค. 67 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเกิดเหตุเพลิงไหม้ ชุมชนตรอกโพธิ์ เยาวราช กล่าวถึงกระแสข่าวที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าประปาหัวแดงนั้นมีเพียงพอที่จะใช้ในการระงับเหตุเพลิงไหม้ในชุมชนหรือไม่ ว่า ประปาหัวแดงมีเพียงพอ โดยประปาหัวแดงจุดแรก อยู่หน้าบ้านต้นเพลิง ทำให้เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถมาต่อสายฉีดน้ำที่ประปาหัวดังกล่าวได้ เพราะเป็นอันตราย ส่วนอีกหัวอยู่ฝั่งซอยเยาวราช 7 ห่างจากต้นเพลิงประมาณ 50 เมตร แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถลากสายยางมาถึงจุดต้นเพลิงได้ เพราะมีหลังคาพังถล่มลงมาระหว่างทาง


ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อว่า ส่วนถังดับเพลิงมีอยู่ประมาณ 20 ถังในชุมชนนี้ที่มี 65 ครัวเรือน มีมากพอจากปกติอัตราส่วนจะมีถังดับเพลิง 1 ถังต่อ 5 ครัวเรือน แต่คาดว่านาทีที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ประชาชนส่วนใหญ่เน้นวิ่งหนีเอาตัวรอดก่อน เพลิงลุกลามอย่างรวดเร็วในระยะเวลาสั้นๆ ยังนับว่าเป็นโชคดีอยู่ เพราะชุมชนนี้เพิ่งผ่านการฝึกอพยพเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้มาเมื่อต้นปี ตามมาตรการของตนเองที่ถอดบทเรียนจากเหตุเพลิงไหม้ชุมชนบ่อนไก่ ทำให้ไม่มีผู้เสียชีวิต และปีนี้ได้กรุงเทพมหานครได้จัดซ้อมอพยพหนี้ภัยไปแล้ว 375 ชุมชน


นายชัชชาติ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ครั้งนี้ พบอุปสรรคที่เกิดขึ้น คือ ชุมชนเป็นบ้านไม้ ทางเข้าเป็นซอยแคบ และมีอาคารล้อมรอบ ทำให้เพลิงลุกลามรวดเร็ว และรถดับเพลิงเข้าถึงได้ยาก ดังนั้นกรุงเทพมหานครต้องไปถอดบทเรียน เพื่อหาแนวทางไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก เพราะในพื้นที่กรุงเทพฯ มีชุมชนที่เป็นซอยแคบลักษณะนี้อีก 256 ชุมชน และมีชุมชนที่มีตึกล้อมรอบลักษณะนี้อีก 3 แห่งในบริเวณใกล้เคียง คือชุมชนพาหุรัด สำเพ็ง และราชวงศ์ ดังนั้นอนาคตอาจมีการจัดสรรอุปกรณ์ดับเพลิงที่สามารถแบกได้ และเครื่องปั๊มน้ำที่จะสามารถสูบน้ำจากแหล่งน้ำในชุมชนมาฉีดได้ โดยไม่ต้องพึ่งประปาหัวแดง รวมถึงต้องจัดระเบียบรถอาสาสมัครกู้ภัยและรถดับเพลิงให้เป็นระบบมากกว่านี้

...


"ส่วนการเยียวยา หากเป็นเจ้าของอาคารก็จะได้เงินเยียวยา 40,000 บาท แต่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นผู้เช่า ไม่ใช่เจ้าของจะได้เพียงชดเชยค่าเช่าประมาณ 30,000 บาทต่อเดือน ส่วนชาวต่างชาติที่ไม่ใช่คนไทย ก็ต้องขอไปดูข้อกฎหมายว่าจะชดเชยเยียวยาอย่างไรได้บ้าง แต่เบื้องต้นก็มีอาหารและที่พักชั่วคราวให้ก่อน" นายชัชชาติ กล่าว