“ประเทศไทย” เข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศอยู่ในระยะพึ่งพิง ผู้สูงอายุ...มักมีโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด ประกอบกับวิวัฒนาการทางการแพทย์และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทำให้ทั้งผู้ป่วย ครอบครัว แพทย์ ยังคงต้องการให้มีการรักษาให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เพื่อ “ยื้อชีวิต” ของ “ผู้ป่วย” ให้อยู่ได้นานที่สุด ถึงแม้ว่าการรักษานั้นจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์...ค่าใช้จ่ายที่สูงและสร้างความทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วยก็ตาม

“การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (palliative care)” ตามคำนิยามขององค์การอนามัยโลก (WHO) คือ การมุ่งเน้นการดูแลเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย...ครอบครัว ที่เผชิญกับตัวโรคที่อยู่ในระยะสุดท้ายให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และจากไปอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากที่สุด

ให้การดูแลโดยสหวิชาชีพช่วยจัดการอาการที่ไม่สุขสบายทางกาย ดูแลสุขภาพด้านจิตใจ สังคม จิตวิญญาณ มากกว่าการมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยหายจากโรคจนกว่าผู้ป่วยจะเสียชีวิต และติดตามดูแลครอบครัวผู้ป่วยหลังการเสียชีวิตอีกด้วยว่า ครอบครัวสามารถจัดการกับความโศกเศร้าจากการสูญเสียได้หรือไม่

พญ.จิราภา คชวัฒน์
พญ.จิราภา คชวัฒน์

...

“อยู่ดี ตายดี ที่บ้าน” หัวใจสำคัญก็คือหลักการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง คนละเรื่องกับผู้ป่วยสูงอายุ เน้นว่า...เป็นการดูแลผู้ป่วยที่เผชิญกับโรคที่รักษาไม่หายอยู่ในระยะสุดท้ายอย่างโรคมะเร็ง

ซึ่งก็รวมถึงคนสูงอายุด้วย...ให้ “ผู้ป่วย” มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ โดยไม่สนว่า “โรค” ที่เป็นอยู่จะหายหรือไม่ เพียงแต่จะทำอย่างไรให้อยู่สบายที่สุดในช่วงเวลาที่เหลือ

พญ.จิราภา คชวัฒน์ นายแพทย์ชำนาญการ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาประคับประคอง โรงพยาบาลสิรินธร บอกว่า การแพทย์ ณ ปัจจุบันก้าวหน้าไปมาก ด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่มากมาย โรคบางโรคที่เป็นแล้วไม่หายแต่หมอก็เต็มที่ ญาติก็เต็มที่...ทำอะไรได้ก็ทำ ทั้งๆที่ไม่ได้เกิดประโยชน์แล้ว

“ไม่ได้ทำให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ยิ่งไปแทงไปทำอะไรกับร่างกายคนไข้ก็ยิ่งเจ็บ ยังไงก็เสียชีวิตอยู่ดี” น่าสนใจว่า “คนไข้” กลุ่มนี้มีเยอะ ทำให้แออัดอยู่ในโรงพยาบาล แทนที่คนไข้อื่นที่มีโอกาสรอด...เข้าถึงมากกว่า

นี่คืออีกมิติหนึ่งของคนไข้กลุ่มนี้ แม้ว่าญาติจะพากลับไปรักษาตัวต่อที่บ้าน ก็อาจมีปัญหาญาติดูแลไม่เป็น เพราะคนไข้ส่วนใหญ่ก็มักจะพูดว่าถ้ารักษาไม่หายก็ปล่อยให้ไปตายที่บ้านเถอะ ไปอยู่กับญาติพี่น้องที่บ้านไม่ต้องอยู่โรงพยาบาลแล้ว...ถ้าอยู่ก็ไม่ได้ทำอะไรหรือรักษาก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร

คราวนี้ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะกลับบ้านก็ยังกลับไม่ได้ อาจจะมีปัญหาเรื่องผู้ดูแล ไม่มีความรู้ในการดูต่อ แล้วกรณีถ้าผู้ป่วยอยู่บ้านแล้วมีเหนื่อยจะทำอย่างไร ไม่สุขสบายจะทำอย่างไร

ก็เกิด...การดูแลอย่างประคับประคอง เป้าหมายเพื่อคุณภาพชีวิตคนไข้กลุ่มนี้...กลับไป “ตายดี” ที่บ้านตามความต้องการ ถ้าคนไหนอยากกลับบ้านเราก็ส่งเสริม เพื่อจะได้เคลียร์เตียงในโรงพยาบาลไปด้วย และได้ตอบสนองความต้องการคนไข้ด้วย ประเด็นสำคัญก็คือการที่จะไป “ตายดี...ที่บ้าน” ก็ต้องมีความพร้อม

กรณีอยู่ต่างจังหวัดลูกหลานอยู่ใกล้บ้านก็ดูแลคนไข้กลุ่มนี้ได้ แต่ถ้าคนไข้อยู่กรุงเทพฯ ลูกไปทำงานไม่มีคนดูแลก็จะเกิดปัญหา ไม่สามารถกลับบ้านได้ หรือจ้างคนมาดูแต่พอคนไข้มีปวด เหนื่อย ทรมานจากโรคมะเร็งระยะสุดท้าย...ต้องให้มอร์ฟีนที่บ้าน ตรงนี้แพทย์...โรงพยาบาลต้องเข้าไปช่วยแล้ว

...จะสามารถจัดการอาหารอะไรได้บ้าง ซึ่งตอนนี้ในคนไข้ระยะสุดท้าย สิ่งที่จะตามมาคือทุกโรค พอใกล้เสียชีวิตจะกินทางปากไม่ได้ แล้วก็จะกินยาไม่ได้ด้วย...มอร์ฟีนที่เคยให้กินระงับความปวดเคยคุมได้ก็คุมไม่ได้แล้ว ก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไข้ถูกส่งกลับมาโรงพยาบาลมากขึ้น

“ต้องเปลี่ยนมาเป็นมอร์ฟีนฉีด...สุดท้ายก็ต้องกลับมาตายที่โรงพยาบาล ก็ขัดกับความต้องการของคนไข้ด้วยแล้วก็มากินเตียงที่โรงพยาบาลโดยไม่จำเป็นซึ่งตอนนี้มีการบริการมอร์ฟีนเอาไปฉีดที่บ้านได้เลย”

...

สิ่งสำคัญต้องทำงานร่วมกันกับ “หน่วยบริการปฐมภูมิ” หรือ “ศูนย์บริการสาธารณสุข” ใกล้บ้านลงไปเยี่ยมที่บ้านเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อให้ญาติคนป่วยมั่นใจว่าสามารถดูแลที่บ้านได้และกรณีเสียชีวิตที่บ้านจะต้องทำ อะไรบ้าง...โทร.หาตำรวจ ชันสูตรที่บ้าน ประสานงานเขต...ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้จะกินเวลาเป็นอาทิตย์ สองอาทิตย์

หรือ...เป็นเดือนก็แล้วแต่ ถ้าอยู่ที่บ้านก็จะช่วยลดการครองเตียงได้มาก

ย้ำว่า...ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคองคือ ถ้าผู้ป่วยไม่ทราบอาการของตนเอง เพราะญาติปิดบัง ผู้ป่วยจะไม่สามารถตัดสินใจเลือกวิธีการดูแลได้เอง ขณะเดียวกันญาติก็ไม่กล้าตัดสินใจ หรือ...กรณีที่ผู้ป่วยมีญาติหลายคน ความเห็นของญาติอาจไม่ตรงกัน...

“ฝ่ายหนึ่งอาจให้ดูแลเต็มที่ แต่อีกฝ่ายไม่ต้องการให้ยื้อชีวิต เหล่านี้ล้วนแล้วแต่จะสร้างความลำบากใจแก่ทุกฝ่าย...เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ป่วยที่มาถึงระยะสุดท้ายจึงมักถูกยื้อชีวิตโดยไม่จำเป็น”

ทำให้ “ผู้ป่วย” ต้องเจ็บปวดและทรมานจากเครื่องมือกู้ชีพต่างๆไม่ว่าจะเป็นเครื่องเจาะคอเพื่อใส่ท่อช่วยหายใจ เครื่องปั๊มหัวใจ การต่อสายให้อาหาร ฯลฯ...มีผลให้จากไปอย่างไม่สงบและยังเกิดค่าใช้จ่ายสูง

...

ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้าง “ความทุกข์ใจ” ทั้งแก่ผู้ป่วย ญาติ และทีมผู้ดูแล

“การทำความตกลงเรื่องแผนการดูแลล่วงหน้าจึงเป็นกระบวนการของการปรึกษาหารือระหว่างผู้ป่วย ญาติ และทีมผู้ดูแล โดยมีเป้าหมายให้การดูแลที่จะเกิดขึ้น รวมไปถึงการทำพินัยกรรมชีวิต เพื่อให้การดูแลตรงกับความต้องการของผู้ป่วยให้มากที่สุด”

หากผู้ป่วย...ครอบครัวได้รับการพูดคุย และตัดสินใจเรื่องแผนการดูแลล่วงหน้าอย่างครบถ้วน แสดงเจตนาขอรับการดูแลในช่วงวาระสุดท้ายที่บ้าน ทีมบุคลากรทางการแพทย์ด้านการดูแลแบบประคับประคองจะต้องช่วยบริหารจัดการให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัวต่อไป

“อยู่ดี ตายดี ที่บ้าน” ปกติเราจัดว่าเป็น “ผู้ป่วยประคับประคอง” จะเอาคนไข้ที่เข้าสู่การดูแลประคับประคองจะเหลือระยะเวลาในชีวิตไม่เกิน 6 เดือนถึง 1 ปี แต่ถ้าเป็นการตายที่บ้านจะเหลือเวลาหลักวันหรือสัปดาห์ตรงนี้สำคัญที่หมอควรจะพยากรณ์ได้ว่า...คนไข้จะมีระยะเวลาอยู่ไม่นานและไม่เกิดประโยชน์ที่จะไปรักษา

“พอเถอะ...กลับบ้านเถอะ”

ปัญหาสำคัญมีว่าหมอจะต้องมีทักษะในการประเมิน หมอไม่ได้เรียนมา ไม่ได้อยู่ในหลักสูตรแพทย์ ปัจจุบันก็รักษาเต็มที่ สู้ตาย...คนไข้พวกนี้ก็จะเสียโอกาส (อยู่ดี ตายดี ที่บ้าน) แล้วก็เสียชีวิตที่โรงพยาบาลเยอะ

ปัจจุบันมีการเรียน “การดูแลแบบประคับประคอง” มากขึ้น พยายามที่จะผลิตหมอ พยาบาลกลุ่มนี้มากขึ้นเพื่อมารองรับสังคมผู้สูงอายุ แต่ประเทศไทยไม่มีหน่วยงาน ยังไม่มีโครงสร้างอัตรากำลังที่ชัดเจนที่บรรจุกลุ่มที่เรียนมาในเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ อีกทั้งงานที่หนัก ต้องใช้ทั้งแรงกาย...ใจ ไม่สอดคล้องกับค่าตอบแทนที่ได้รับ

...

ทำให้คนเลือกที่จะเรียนหรือทำงานสาขานี้ลดลง หรือไปอยู่หน่วยงานภาคเอกชนมากกว่า ปัญหาจึงย้อนกลับมาที่ “ผู้ป่วยระยะสุดท้าย” “ผู้ป่วยยากไร้” ไม่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองได้อย่างมีคุณภาพเท่าที่ควร

...ควรที่จะต้องเร่งผลักดันกันในเรื่องนี้ทั้งระบบ

“อยู่ดี ตายดี ที่บ้าน” สำคัญมากแน่ๆ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ...การเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ “ผู้สูงอายุ” และ “ผู้ป่วย” ที่อยู่ในวาระสุดท้ายให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม