วันนี้ (จันทร์ที่ 8 กรกฎาคม 2567) ตั้งแต่เวลา 14.30 น.เป็นต้นไป จนถึง 17.30 น. ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคาร 17 ชั้น 11 ถนนวิภาวดีรังสิต จะมีพิธีเปิดบริษัทใหม่ในเครือไทยรัฐ กรุ๊ป ขึ้นอีก บริษัทหนึ่ง...ได้แก่ บริษัท “ไทยรัฐโลจิสติคส์” ดังที่ผมพาดหัวคอลัมน์ไว้

คำว่า “โลจิสติคส์” หรือ “ลอจิสติคส์” นั้น มีความหมายหรือคำจำกัดความตามที่ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี อธิบายไว้...ดังนี้

“เป็นระบบการจัดการขนส่งสินค้า ข้อมูลและทรัพยากรอย่างอื่นจากจุดต้นทางไปยังจุดบริโภคตามความต้องการของลูกค้า”

“โลจิสติคส์เกี่ยวข้องกับการผสมผสานของข้อมูลการขนส่ง การบริการ วัสดุคงคลัง การจัดการวัตถุดิบ การบรรจุหีบ ห่อ รวมทั้งเป็นช่องทางหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานที่เพิ่มมูลค่าของการใช้ประโยชน์ของเวลา และสถานที่”

ถ้าอ่านทั้ง 2 ย่อหน้าข้างต้นแล้วทำให้รู้สึกงุนงง ผมก็ขอเสนอให้อ่านเพียงย่อหน้าแรกย่อหน้าเดียวก็แล้วกัน จะได้หายงงและเข้าใจความหมายของคำว่า “โลจิสติคส์” ได้ดีขึ้น

ซีอีโอน้องใหม่ของ บริษัท ไทยรัฐ โลจิสติคส์ จำกัด ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐในหน้าสตรีไทยรัฐ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม หรือฉบับเมื่อวานนี้ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“เราคุยกันในครอบครัวในการมองหาแหล่งรายได้ใหม่ๆที่ไม่ได้มาจากแวดวงเดิมของสื่อ ซึ่งต้องพึ่งพารายได้จากโฆษณาเป็นหลัก...

“พี่จูเนียร์” (วัชร วัชรพล) เป็นคนเสนอไอเดียว่าน่าจะลองบุกธุรกิจขนส่งโลจิสติคส์ เพราะเป็นอะไรที่ไทยรัฐค่อนข้างมีความชำนาญอยู่แล้ว

...

“เราขนส่งหนังสือพิมพ์เองมาตลอด 60-70 ปี ด้วยรถของเราเองทุกวัน ออกจากสำนักงานที่ถนนวิภาวดีทุกวัน ขนหนังสือพิมพ์จากกรุงเทพฯกระจายไปยังจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ ตรงนี้น่าจะเป็นศักยภาพอีกอย่างที่เราสามารถแตกไลน์ธุรกิจใหม่ๆออกไปได้ และเราก็มีรถขนส่งหนังสือพิมพ์ที่ยังว่างอยู่จำนวนหนึ่ง จึงอยากนำรถเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ให้ได้อย่างเต็มที่ เป็นการต่อยอดจากจุดแข็งของเราเอง”

ซีอีโอน้องใหม่รายนี้ก็คือ “มัดหมี่” วราพรรณ วัชรพล บุตรสาวคนโตของ อินทิรา วัชรพล ซึ่งเป็นบุตรสาวคนเล็ก (คนที่ 3) ของท่าน ผอ.กำพล วัชรพล...ที่ผมรู้จักและคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็กๆนั่นเอง

เพราะตามสไตล์การเลี้ยงลูกและหลานของท่าน ผอ.กำพล และคุณหญิงประณีตศิลป์ วัชรพล นั้นท่านจะให้ทุกคนมารับรู้และซึมซับความยากลำบากของการทำธุรกิจสิ่งพิมพ์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้อยู่เสมอ

ทำให้ลูกหลานของท่านล้วนเติบโตมากับกองกระดาษและกลิ่นหมึก รวมทั้ง “มัดหมี่” หลานสาวของท่านที่กำลังจะมารับหน้าที่ในบริษัทใหม่ที่จะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันนี้

ในปีที่เศรษฐกิจของประเทศไทยยังไปดีพอสมควรก่อนโควิด-19 ระบาด ประมาณการว่าธุรกิจบริการโลจิสติคส์ของประเทศไทย มีมูลค่าทางธุรกิจไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปี แต่ในช่วงโควิดมีรายงานว่า มูลค่าธุรกิจของบริการโลจิสติคส์ลดลงกว่าร้อยละ 20 เลยทีเดียว

ช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ค่อยดีนัก การเติบโตของจีดีพีค่อนข้างตํ่าอย่างที่ทราบกันแล้ว...มูลค่าทางธุรกิจของโลจิสติคส์โดยรวมไม่น่าจะเพิ่มขึ้น จากช่วงก่อนโควิด แต่ก็คงจะเป็นรายได้ก้อนใหญ่พอสมควรในจีดีพี

หลานมัดหมี่ให้สัมภาษณ์ว่า ทดลองเปิดบริษัทอย่างไม่เป็นทางการมาปี 2 ปีแล้ว ผลประกอบการดีเกินคาด...และเมื่อเริ่มอย่างเป็นทางการตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นมา จนถึงบัดนี้ 6 เดือนพอดี...ปรากฏว่ารายได้เป็นไปตามเป้าคือทะลุ 100 ล้านบาทเรียบร้อยแล้ว ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างดียิ่ง

ผมขอให้กำลังใจหลาน “มัดหมี่” และขออวยพรให้ธุรกิจใหม่ภายใต้การนำของเธอจงประสบความสำเร็จสมดั่งที่ตั้งใจไว้และบรรลุเป้าหมายที่จะดำเนินการ...จงทุกประการ

แต่ก็นั่นแหละ...ตามประสา “สว.” ผู้ชอบระลึกความหลัง...อ่านเจอประโยคที่หลานมัดหมี่พูดถึงว่า ไทยรัฐ เราขนส่งหนังสือพิมพ์เอง มีรถไปส่งเองทั่วประเทศไทย ก็ทำให้ผมนึกถึง “วิสัยทัศน์” ของท่าน ผอ.กำพล วัชรพล ในเรื่องนี้เมื่อ 50 กว่าปีก่อนขึ้นมาทันที

โลจิสติคส์ขนส่งหนังสือพิมพ์เกิดขึ้นได้อย่างไร? ใครเป็นต้นคิด? เมื่อเกิดขึ้นแล้วส่งผลต่อยอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์อย่างไรบ้าง? พรุ่งนี้ขอเขียนต่ออีกวันนะครับ.

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม