เกาหลีเสนอ เครื่องบินรบ FA-50 เป็นทางเลือกให้ "ทัพฟ้าไทย" ย้ำคือหนึ่ง "เรือธง" ที่คุ้มค่าในการเสริมเขี้ยวเล็บเพื่อให้กองทัพอากาศมีศักยภาพที่คุ้มค่าในกรอบงบประมาณที่จำกัด 1.9 หมื่นล้าน ได้ถึง 8 เครื่อง เพื่อเติมเต็มฝูงบิน 102 กองบินรบหลักของไทย

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดหาเครื่องบินบินขับไล่ทดแทน F-16A/B ที่กองทัพอากาศจะปลดประจำการบางส่วน และอยู่ระหว่างการพิจารณาเครื่องบินรบบรรจุทดแทนประจำการในฝูง 102 กองบิน 1 โคราช อยู่ระหว่างการคัดเลือกของคณะกรรมการ ทอ. ที่ได้นำเครื่องบินรบเข้าพิจารณาเป็นตัวเลือกเพียง 2 ค่าย คือ เครื่องบิน F-16 Blk 70/72 จากสหรัฐฯ และ Jas-39 กริพเพน E/F จากประเทศสวีเดน 


ขณะเดียวกันแหล่งข่าวจาก ทอ. เผยว่า ล่าสุดเครื่องบินขับไล่โจมตีอเนกประสงค์ แบบ F/A-50 ขอเข้ามาเป็นทางเลือกให้กับกองทัพอากาศไทย จากการที่ นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ได้เยือนประเทศเกาหลีใต้ เมื่อ 27-30 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยบริษัท KAI ได้พาชมขีดความสามารถของเครื่องบินขับไล่โจมตีอเนกประสงค์แบบ F/A-50 โดยเฉพาะเขี้ยวเล็บและสมรรถนะที่ใกล้เคียง แต่มีความคุ้มค่าในเรื่องของราคาต่อลำที่ถูกกว่าครึ่งหนึ่ง ตลอดจนค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบิน และค่าซ่อมบำรุงที่ถูกกว่ามาก 

...


เพราะด้วยกรอบงบประมาณโครงการ 19,500 ล้านบาท ที่ ทอ.จะขอจัดซื้อในงบฯ ปี 2568 ทางเครื่องบินรบจากค่ายเกาหลีใต้ได้เสนอ และเห็นว่าคุ้มค่า หากผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณาจาก ทอ. ก็จะทำให้กองทัพอากาศสามารถเสริมเขี้ยวเล็บ และได้เครื่องบินขับไล่โจมตีแบบ F/A-50 ถึง 8 เครื่อง และหากเป็นเครื่องบิน F-16 Blk 70/72 จากสหรัฐฯ และ Jas-39 กริพเพน E/F จากสวีเดน ทอ.จะได้เพียง 4 ลำเท่านั้น


"เครื่องบินรบ FA-50 ถือเป็นเครื่องบินรบสมรรถนะสูงที่พัฒนาจากความร่วมมือของเกาหลีใต้และสหรัฐฯ จากวิสัยทัศน์ของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่เฉียบขาด ที่ต้องการสร้างอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้สามารถผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์สมรรถนะสูงที่สามารถป้องกันประเทศได้จริง" แหล่งข่าวกล่าว


แหล่งข่าวเผยด้วยว่า ปัจจุบันเกาหลีใต้มีบริษัทอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่มีความเข้มแข็งและยิ่งใหญ่ สามารถผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ขีดความสามารถสูงได้หลากหลาย ที่นำมาใช้เองในประเทศและขายให้กับหลายประเทศในโลก FA-50 คือหนึ่งใน “เรือธง” ที่โด่งดัง หลายคนที่ชอบศึกษาประวัติศาสตร์และการเมืองโลกคงรู้ดีว่าปัจจุบันเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ยังไม่ได้มีความสงบที่แท้จริง สภาพปัจจุบันเป็นเพียงหยุดยิง แต่ไม่ได้สงบศึก และทั้งสองประเทศยังคงมีโอกาสที่จะสู้รบกันตลอดเวลา FA-50 คือหนึ่งในฝูงบินหลักที่กองทัพอากาศเกาหลีใต้ใช้ในการป้องกันประเทศหากเกิดสงครามกับเกาหลีเหนือ 


ดังนั้นถ้าพูดถึงเรื่องสมรรถนะและขีดความสามารถในการรบคงไม่ต้องสงสัย เพราะเครื่องบินชนิดนี้ถูกสร้างมาให้พร้อมรบจริง และจากการที่เครื่องบินรบชนิดนี้มีราคาที่ถูกกว่าเครื่องบินที่ขายโดยตะวันตกและยุโรป จึงทำให้เป็นที่นิยม หลายประเทศในอาเซียนได้ซื้อเครื่องบินชนิดนี้มาใช้งาน และล่าสุดประเทศในยุโรปและเป็นหนึ่งในสมาชิกนาโตคือโปแลนด์ ได้สั่งซื้อ FA-50 ลอตใหญ่ เพื่อไปใช้ในการป้องกันประเทศ และการปฏิบัติการร่วมกับสมาชิกนาโต 


ทำให้ FA-50 กลายเป็นเครื่องบินรบระดับ "World Class" ที่ตอบโจทย์ครบด้วยราคาที่ถูกกว่าเครื่องบินที่อยู่ใน generation เดียวกันที่เป็นของชาติตะวันตกและยุโรป แต่มีสมรรถนะที่ใกล้เคียงกัน และหากคิดถึงประวัติศาสตร์ระหว่างไทยและเกาหลีใต้ที่มีมาอย่างแนบแน่นและยาวนาน เพราะไทยเคยส่งหน่วยทหารไปช่วยเกาหลีใต้รบในสงครามเกาหลี รวมทั้งเกาหลีใต้เป็นประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกับไทย แล้วทำไม FA-50 จะไม่สามารถเป็นเครื่องบินรบหลักของกองทัพอากาศไทยได้ในอนาคต

...


อย่างไรก็ตาม ภายในเดือน มิ.ย.นี้ คณะกรรมการ ทอ. จะต้องสรุปในการคัดเลือกแบบเครื่องบินที่จะมาทดแทน เพื่ออนุมัติการจัดซื้อว่าจะเป็นเครื่องบินจากประเทศใด เพราะในปี 2572 กองทัพอากาศจะทยอยปลดประจำการเครื่องบินเป็นจำนวนมากจาก 6 ฝูงบิน อาจจะเหลือแค่ 3 ฝูงบิน และมีฝูงบินรบหลักเหลือเพียง 2 ฝูงบินเท่านั้น คือที่กองบิน 7 จังหวัดสุราษฎร์ธานี กับกองบิน 4 จ.นครสวรรค์ เพราะกองบิน 1 จะต้องทยอยปลดในปี 2572 เป็นต้นไป.