นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ว่ารถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะทาง 1.75 กม. เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่สถานีกรุงธนบุรี มีจำนวน 3 สถานี ได้แก่ 1.สถานีกรุงธนบุรี (G1) 2.สถานีเจริญนคร (G2) และ 3. สถานีคลองสา (G3) โดยเอกชนลงทุนทั้งหมด และรับภาระค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ประเด็นปัญหาที่พบก็คือ จำนวนผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการ เฉลี่ย 7,400 เที่ยว-คนต่อวัน ต่ำกว่าที่ประมาณการอยู่ที่ 30,000 เที่ยว-คนต่อวัน ส่งผลให้ค่าโดยสารของโครงการไม่เพียงพอกับรายจ่ายค่าการบริการจัดการเดินรถ ปัจจัยหลักเนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีทอง เป็นโครงข่ายอิสระไม่ได้เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่นแบบครบวงจร นอกจากนี้มีการเดินรถลักษณะอื่นแข่งขัน เช่น การเดินทางข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้นทางแก้เพื่อช่วยลดภาระที่เกิดขึ้นต้องปรับปรุงนำโครงการเข้าสู่โครงข่ายภาพรวมของภาครัฐให้ได้ เพื่อให้เกิดการบูรณาการเส้นทางร่วมกัน เมื่อเชื่อมโยงกันแล้วเชื่อว่าปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายได้

นายธรัฐพรกล่าวว่า สำหรับการเชื่อมต่อกับโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนอื่น ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงความเหมาะสมว่าจะต่อบนเงื่อนไขและโครงสร้างอะไร เพราะรถไฟฟ้าสายสีทอง เป็นของ กทม. หากจะต่อมีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องกลับเข้าสู่ระบบรวมของภาครัฐ เพื่อให้การเชื่อมต่อมีประสิทธิภาพ ส่วนที่มีการเสนอให้ต่อขยายเส้นทางไปเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ที่สถานีประชาธิปก (G4) เพื่อให้การเดินทางสะดวกมากยิ่งขึ้น เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของ กทม. จะพิจารณาดำเนินการอย่างไรต่อไป.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่

...