“ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดน้อยลง ขณะที่ผู้สูงอายุมีมากขึ้น รวมถึงจำนวนคนในวัยแรงงานก็เริ่มน้อยลง พม.จึงส่งเสริมให้มีการจ้างงานคนพิการมากขึ้น เพื่อทดแทนแรงงานในสังคมที่กำลังหดหายไป”

คำกล่าว นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ถึงความสำคัญในการพัฒนาคนพิการที่นำไปสู่การขับเคลื่อนโครงการการขยายผลเครือข่ายอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาศักยภาพคนพิการเพื่อการประกอบอาชีพผ่านโมเดลการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ บนความร่วมมือระหว่าง พม.โดย กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพ ชีวิตคนพิการ (พก.) กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และ มหาวิทยาลัยพันธมิตรในเครือข่าย

วราวุธ ศิลปอาชา
วราวุธ ศิลปอาชา

นายวราวุธ ยังกล่าวด้วยว่า คนพิการวัยแรงงาน (อายุ 15-60 ปี) มีจำนวน 863,195 คน ซึ่งสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐจะต้อง จ้างงานคนพิการตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการคิดเป็นจำนวน 67,940 คน แต่ปัจจุบันมีการจ้างงานตามมาตรา 33 เพียง 37,921 คน ที่เหลือนายจ้างเลือกใช้การส่งเงินเข้ากองทุนและการให้สิทธิประโยชน์ ทั้งที่เป้าหมายของกฎหมายคือการให้โอกาสและเปิดพื้นที่ให้คนพิการได้แสดงศักยภาพในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนพิการและครอบครัว อย่างไรก็ตาม การจ้างงานนั้นต้องมองถึงความต้องการในทักษะวิชาชีพของสถานประกอบการ จึงนำมาสู่การขับเคลื่อนโครงการการขยายผลเครือข่ายอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาศักยภาพคนพิการเพื่อการประกอบอาชีพผ่านโมเดลการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ โดย มจธ.เป็นแม่ข่ายที่นำมหาวิทยาลัยพันธมิตรเข้ามาร่วม ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.) วิทยาเขตสุพรรณบุรี และ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เพื่อร่วมพัฒนาหลักสูตรและฝึกอบรมวิชาชีพให้กับคนพิการตามความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่ เบื้องต้นนำร่องกับคนพิการรวม 300 คน โดยได้รับการสนับสนุนเงินดำเนินการจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พก.

...

“ต้องขอบคุณ มจธ.และเครือข่าย ที่เป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจ และได้ขยายผลเครือข่ายไปยังมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในอนาคต พม.จะขยายความร่วมมือไปยังกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ต่อไป” นายวราวุธ ระบุถึงความมุ่งหวังในอนาคต

สุวิทย์ แซ่เตีย
สุวิทย์ แซ่เตีย

ด้าน รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มจธ.ได้พัฒนาทักษะวิชาชีพให้คนพิการผ่านหลักสูตรต่างๆ อาทิ หลักสูตรเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน หลักสูตรผู้ทดสอบทางประสาทสัมผัสสำหรับคนพิการทางสายตา หลักสูตรการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ดิจิทัล และหลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หัตถ กรรมท้องถิ่น เป็นต้น จนมีงานทำไปแล้วกว่า 400 คน มีสถานประกอบการเอกชนร่วมสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืน ครั้งนี้เป็นการขยายผลไปสู่มหาวิทยาลัยพันธมิตรอีก 5 แห่งในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งแต่ละแห่งมีจุดเด่นต่างกัน โดย มจธ.จะเป็นเจ้าภาพช่วยเกื้อหนุนและถ่ายทอดประสบการณ์เพื่อให้มหาวิทยาลัย 5 แห่งที่ร่วมโครงการ สามารถพัฒนาคนพิการตามแนวทางของมหาวิทยาลัยได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยก็สามารถสร้างโอกาสให้บุคลากรรวมทั้งนักศึกษาได้เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งโมเดลการฝึกอบรม แบ่งเป็น 6 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1.หารือร่วมกับสถานประกอบการที่สนับสนุนโครงการ 2.รับสมัครและคัดเลือกคนพิการเข้าร่วมโครงการ ตามคุณสมบัติของแต่ละหลักสูตร 3.กระบวนการฝึกอบรม-ฝึกงาน

...

รวม 6 เดือน ครอบคลุมทักษะ 3 ด้าน ได้แก่ ทักษะด้านอาชีพ ทักษะด้านการสนับสนุนการทำงานและการใช้ชีวิต และทักษะการฝึกประสบการณ์ทำงานตรง 4.สนับสนุนการจ้างงานคนพิการร่วมกับภาคี 5.ระบบพี่เลี้ยงติดตามและให้คำแนะนำ และ 6.การเก็บรวบรวมข้อมูล

“คาดหวังว่าโครงการขยายผลอุดมศึกษาฯนำร่องนี้ จะทำให้มีคนพิการที่ผ่านการฝึกอบรมเข้าสู่สถานประกอบการได้มากขึ้น หรือคน พิการที่ไม่สะดวกในการไปทำงานกับสถานประกอบการ สามารถทำอาชีพอิสระที่บ้านได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบสิ่งพิมพ์ดิจิทัล หรืองานฝีมือ และหากรุ่นที่ 1 ผลลัพธ์ออกมาดี เชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนขยายผลเพิ่มขึ้นก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว และหากทำอย่างต่อเนื่องจำนวนคนพิการที่มีงานทำ มีอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น โครงการนี้จะช่วยสังคมไทยได้มาก ทั้งเรื่องของคุณภาพชีวิตคนพิการ ลดช่องว่าง และลดภาระของภาครัฐ ขณะเดียวกัน คนพิการเองจะเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง และสามารถดำรงชีพได้อย่างภาคภูมิ ที่สำคัญยังตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของประเทศอีกด้วย ซึ่ง มจธ.เองก็ทำเรื่องดังกล่าวมายาวนานเช่นกัน ทั้งนี้ หัวใจในการทำงานพัฒนาคนพิการคือ การใส่ใจลงไปในการทำงานอย่างมุ่งมั่นและต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยเราก็ได้จ้างคนพิการที่จบจากโครงการของเราทำงานในคณะต่างๆ ซึ่งเป็นกำลังคนที่มีคุณภาพไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบุคลากรปกติ” รศ.ดร.สุวิทย์ กล่าว

...

กันตพงศ์ รังษีสว่าง
กันตพงศ์ รังษีสว่าง

ขณะที่ นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง อธิบดี พก. กล่าวว่า ถือเป็นโครงการที่ให้โอกาสคนพิการในพื้นที่ โดยสถาบันอุดมศึกษาจะประสานกับนายจ้างในพื้นที่เพื่อสอบถามถึงทักษะวิชาชีพที่ต้องการนำไปสู่การอบรมพัฒนา เมื่อจบหลักสูตร สถานประกอบการก็สามารถรับเข้าทำงานได้ทันที เป็นโครงการที่ ตอบโจทย์การพัฒนาศักยภาพคนพิการเข้าสู่การจ้างงานที่ตรงความต้องการของสถานประกอบการ สร้างงานสร้างอาชีพและรายได้ให้กับคนพิการที่สามารถดูแลตนเองและครอบครัวอย่างมีศักดิ์ศรี

ทีมข่าวการพัฒนาสังคม เห็นด้วยอย่างยิ่งและสนับสนุนการประสานระดมสรรพกำลังความสามารถของแต่ละหน่วยงานและทุกภาคส่วน ในการร่วมขับเคลื่อนพัฒนางานด้านคนพิการ เพราะไม่เพียงการสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับคนพิการและครอบครัว แต่ยังเป็นอีกช่องทางที่ตอบโจทย์รับมือโครงสร้างประชากรที่วัยแรงงานกำลังลดน้อยลงเพื่อสร้างสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง.

...

ทีมข่าวการพัฒนาสังคม

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่