ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) เผยว่า ในอดีตพืชกระท่อมมีบทบาทในวิถีชีวิตผู้คน ทั้งในมิติสังคม วัฒนธรรม และการแพทย์ในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนพืชควบคุมสามารถใช้ได้โดยมีการควบคุมที่ปลอดภัย สวก.จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กรมการแพทย์ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) ลงนามบันทึกความเข้าใจ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านการจัดการห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อมแบบครบวงจร สู่การผลิตเชิงพาณิชย์
“เป็นการต่อยอดงานวิจัยพัฒนายาจากพืชกระท่อม นำไปใช้บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตที่มีมาตรฐานทางการแพทย์ พัฒนาเป็นยาบำบัดและต่อยอดสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด อันนอกจากจะเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านการเกษตร การแพทย์และอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ ยังสอดรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการตั้งเป้าผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของความเป็นเลิศด้านการแพทย์และสุขภาพ”
...
สำหรับการลงนามในครั้งนี้ ผอ.สวก. เผยว่า ถือเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐ และสถาบันการศึกษา ในการร่วมพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมในด้านการแพทย์ โดยการศึกษาวิธีการสกัด “สารไมทราไจนีน” ในพืชกระท่อมที่เป็นสารที่มีฤทธิ์ลดการปวด ต้านการอักเสบ และที่สำคัญสามารถช่วยลดอาการลงแดง มีแนวโน้มที่จะนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่ติดยาเสพติด โดยในปีนี้มุ่งเน้นกระบวนการวิจัย เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และคาดว่าในปี 2568 จะเริ่มมีการนำไปทดสอบใช้จริงในมนุษย์ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสุขภาพของผู้ติดยาเสพติดได้อย่างเป็นรูปธรรม ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและปัญหาอาชญากรรมในสังคมไทย
นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นอุตสาหกรรมทางยาภายในประเทศ ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศที่มีมูลค่าสูงมาใช้ในการบำบัด อันจะส่งผลให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าจากการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย เพื่อแก้ไขปัญหาและส่งเสริมการแข่งขันของประเทศต่อไป นอกจากการลงนามในครั้งนี้ สวก.ยังได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับ ม.อ. เรื่องการส่งเสริมสนับสนุนทุนเพื่อการพัฒนาการวิจัยการเกษตร และบุคลากรด้านการเกษตรและการส่งเสริมผลักดันผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์อีกด้วย
“ม.อ.มีองค์ความรู้ที่จะชี้แนะและให้ข้อมูลแก่หน่วยงานต่างๆ รวมถึงสามารถแสดงให้เห็นถึงฤทธิ์ของกระท่อม ที่จะนำไปใช้ทางการแพทย์ได้ ส่วนกรมการแพทย์ก็มีภารกิจในด้านการรับส่งต่อ และบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด รวมถึงสนับสนุน ส่งเสริมและสร้างความร่วมมือในการศึกษาวิจัยทางคลินิก พัฒนาเทคโนโลยีการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดที่สมคุณค่า และในอนาคตหากมีผลเป็นที่น่าพึงพอใจ สำนักงาน ป.ป.ส. พร้อมผลักดันเชิงนโยบายให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง โดยความร่วมมือดังกล่าวสอดคล้องกับมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. 2565 ที่มอบหมายให้ ป.ป.ส.เป็นหน่วยประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมพืชกระท่อมให้เป็นพืชเศรษฐกิจ การใช้ตามวิถีชุมชน และคุ้มครองสุขภาพของบุคคล รวมถึงประสานงานให้เกิดการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพืชกระท่อมอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำอย่างเป็นระบบต่อไป” ดร.วิชาญ กล่าว.
...
กรวัฒน์ วีนิล