ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาจำคุกผู้กองหญิง รอง สว.ธุรการ สน.วังทองหลาง 125 ปี ลดเหลือ 50 ปี หลังก่อเหตุยักยอกเงินประกันตัวผู้ต้องหา 7.2 แสนบาท โดยจำเลยชดใช้เงินคืนบางส่วนแล้ว ศาลเห็นควรส่งคำร้องขอยื่นประกันตัวไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ส่งตัวไปขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง
ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ศาลมีคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ฟ้อง ร.ต.อ.หญิง จิรัฏฐ์อร ภาคทรัพย์ อายุ 47 ปี เป็นจำเลย ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำ จัดการรักษาทรัพย์ อาศัยโอกาสในตำแหน่ง เบียดบังทรัพย์ ตาม ป.อาญา ม.147 และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ม.157 จำเลยให้การปฏิเสธและประกันตัวมาตลอด ระหว่างฟ้องอัยการขอให้ศาลสั่งให้จำเลยคืนเงินที่ได้มาจากการกระทำผิดที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เสียหายเป็นเงิน 270,000 บาท
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างปี 65-66 จำเลยดำรงตำแหน่งรอง สว.ธุรการ สน.วังทองหลาง เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ป.อาญา ม.1 (16) ได้รับ การแต่งตั้งจากคณะกรรมการเก็บรักษาเงินให้มีหน้าที่ จัดการรักษาทรัพย์ราชการ คือรับเงินประกันตัวผู้ต้องหา คดีอาญาในแต่ละวันจากพนักงานสอบสวน ซึ่งต้องทำรายการรับจ่ายนำส่งธนาคาร บังอาจเบียดบังเอาเงินเพื่อประโยชน์ส่วนตัว 25 ครั้ง เป็นเงินรวม 720,000 บาท ต่อมามีการตรวจสอบระบบการเงินพบว่าเงินสูญหายระหว่างที่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย ต้นสังกัดจึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและดำเนินคดีทางอาญา ก่อนนี้จำเลยยินยอมคืนเงิน 450,000 บาท จำเลยให้การปฏิเสธและต่อสุู้ว่าแม้เป็นการผิดระเบียบการบริหารจัดการ แต่ไม่ได้มีเจตนาทุจริตไม่เป็นความผิดอาญา
โจทก์นำสืบว่า ในการรับเงินประกันตัว เมื่อพนักงานสอบสวนอนุญาตให้ปล่อยตัวในชั้นพนักงานสอบสวน ก็จะทำสัญญาประกัน แล้วนําเงินประกันตัวผู้ต้องหามาส่งมอบให้ฝ่ายธุรการ จำเลยมีหน้าที่นําเงินฝากเข้าบัญชีหรือให้เจ้าหน้าที่การเงินอื่นฝากแทนได้ ในวันที่ได้รับเงินนั้นกรณีที่ไม่สามารถฝากทันภายในวันนั้น ให้รวบรวมเงินเก็บรักษาไว้ในตู้นิรภัยที่ สน.วังทองหลาง ก่อน แล้วนำฝากในวันที่ธนาคารเปิดทำการวันแรกตามระเบียบของกระทรวงการคลัง โดยต้องนําใบรับฝากเงินที่ธนาคารออกให้มาลงบัญชีการนําฝากเพียงผู้เดียวและต้องสรุปยอดรายวัน ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของจำเลย แล้วเสนอ ผกก.สน.วังทองหลาง ตรวจสอบลงลายมือชื่อรับรอง แต่ปรากฏว่าไม่มีการนําฝากเข้าบัญชีธนาคาร มีพยานพบเห็นธนบัตรประมาณ 200,000 บาท ที่จำเลยเก็บไว้ที่ตู้เหล็กในห้องทำงานแทนที่จะนำส่งธนาคารตามระเบียบ เมื่อตรวจสอบพบโดยสำนักตรวจสอบภายใน ตร.และสำนักตรวจเงินแผ่นดิน กรณีเงินขาดหายและนำเข้าไม่ตรงวันและตรงจำนวน จำเลยจึงนำเงินเข้าบัญชีภายหลัง การกระทำของจำเลยเป็นการเบียดบังเอาเงินดังกล่าวไปเป็นของตนเองโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์ ตาม ม.147 และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ม.157
...
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัย ว่าจำเลยมีการกระทำผิดตามฟ้องจึงเป็นความผิดตาม ป.อาญา ม.147 และ ม.157 เมื่อปรับบทลงโทษเฉพาะตาม ม.147 ไม่ต้องลงโทษตาม ม.157 อันเป็นบททั่วไป พิพากษาจำเลยมีความผิดตาม ป.อาญา ม.147 ลงโทษจำคุกกระทงละ 5 ปี 25 กระทง รวมจำคุก 125 ปี ทางนำสืบของ จำเลยมีประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษ 1 ใน 3 ตาม ป.อาญา ม.78 คงจำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน คงจำคุก 75 ปี 100 เดือน แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกิน 50 ปี ตาม ป.อาญา ม. 91 (3) คงจำคุกจริง 50 ปี และให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงิน 270,000 บาท แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้เสียหายด้วย จากนั้นจำเลยได้ขอยื่นประกันตัว แต่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางเห็นว่าสมควรให้ศาล อุทธรณ์สั่งจึงส่งคำร้องไปศาลอุทธรณ์ ก่อนส่งตัวจำเลยไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่