นักวิชาการด้านการศึกษาหลายฝ่าย ระดมความรู้ เพื่อแก้วิกฤติการศึกษาไทย จากอดีตที่ตกต่ำ สู่ปัจจุบันที่ได้มาตราฐาน หวังปฏิรูปด้วยการพลิกโฉมกระบวนการเรียนรู้เพื่อตอบหลักสูตรการศึกษาชาติสู่มาตรฐานสากล

เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 67 การเสวนาทางการศึกษาเรื่อง "ปฏิรูปการศึกษาด้วยการพลิกโฉมกระบวนการเรียนรู้เพื่อตอบหลักสูตรการศึกษาชาติสู่มาตรฐานสากล" ซึ่งจัดขึ้น ณ ห้องประชุมศูนย์พัฒนา ทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยมี ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ คณะกรรมการปฎิรูปประเทศด้านการศึกษา ผศ.ดร.ผดุง พรมมูล ที่ปรึกษาอธิการบดี ม.สวนดุสิต นายเสน่ห์ ขาวโต อดีตผู้บริหารกระทรวงศึกษา ผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการอีก 2 คน นำโดย ดร.วีระ แข็งกสิการ ดร.สมใจ วิเศษทักษิณ และสถาบันการศึกษา ทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึง นายชาตรี ลดาลลิตสกุล ศิลปินแห่งชาติ และผู้ประกอบการ ที่ร่วมเสวนาครั้งนี้ 


ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และประธานบริหาร สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ ได้นำเสนอความคิดเห็นว่า นักปราชญ์ทางการศึกษาของโลกได้ให้ความสำคัญของการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ (Learning by Doing) การเรียนรู้ทั้งหลายต้องผ่านประสาทสัมผัส การเรียนการสอนต้องเป็นการจัดประสบการณ์ผ่านการรับรู้ และเป็นการสร้างประสบการณ์จากปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ มากกว่าการถ่ายทอดเนื้อหา ซึ่งเป็นระบบการส่งต่อข้อมูลให้นักเรียนกลับไปอ่าน

...

ท่องจำเพื่อนำมาสอบแล้วลืมหมด เมื่อเรียนผ่านไปในแต่ละชั้นปีจะเป็นเพียงระดับการรับรู้ข้อมูล แต่ไม่ได้นำข้อมูลไปเรียนรู้ ผ่านกระบวนการเรียนรู้หรือผ่านลำดับกิจกรรมการเรียนรู้ที่ดี เพื่อสร้างให้เป็นความรู้ด้วยตัวของผู้เรียนเอง ดังนั้นครูผู้สอนจึงควรให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ มากกว่าการจำเนื้อหาและการสอบเพื่อตัดสินผลการเรียน


จากการติดตามผลการทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับชาติ (O-NET) ใน 17 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2549-2566) พบว่าคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนในทุกการทดสอบต่ำกว่าร้อยละ 50 เป็นเวลา 15 ปี คิดเป็นร้อยละ 88 มีเพียง ในปี 2551 ที่วิทยาศาสตร์มีคะแนนร้อยละ 51.68 และในปี 2554 ที่คณิตศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 52.04 ซึ่งสูงกว่าร้อยละ 50 เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และยังพบว่าคณิตศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุดเพียงร้อยละ 14.99 ในปี 2553 เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเรายังไม่สามารถยกระดับคุณภาพผู้เรียนได้ ทั้งๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการได้มีการปรับหลักสูตรมาตั้งแต่ปี 2551 เป็นหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard Based Curriculum) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ โดยนำมาศึกษาวิเคราะห์เพื่อจัดทำเป็นมาตรฐานการเรียนรู้ในหลักสูตรแกนกลางอิงมาตรฐาน พ.ศ. 2551 ซึ่งขณะนี้เทียบเท่ามาตรฐานสากลในศตวรรษที่ 21 โดยเน้นที่มาตรฐานความสามารถหรือมาตรฐานการแสดงออก (Performance Standard) เป็นเป้าหมายการเรียนรู้ที่สำคัญ มุ่งหวังให้ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ด้วยตนเองตามแนวทาง Backward Design ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบในทุกสาระการเรียนรู้ ทุกระดับชั้นปี ให้ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ระดับความคิดรวบยอด ระดับหลักการ และนำหลักการไปเรียนรู้ในสาระการเรียนรู้อื่นๆ ในทุกบริบทของชีวิต รวมถึงการนำไปใช้ในการประกอบอาชีพในทุกอาชีพให้เกิดความก้าวหน้าเกิดคุณค่าในระดับนวัตกรรมได้ หลักสูตรดังกล่าวจึงมีมาตรฐานในระดับสากลสอดคล้องกับการปฏิรูปกระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ที่เป็นการพลิกโฉมประเทศเพื่อนำไปสู่การเพิ่มฐานความรู้ของสังคมได้ในทันที หากไม่ดำเนินการก็จะส่งผลให้เป็นเงื่อนไขอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต

แต่ผลที่ปรากฏโรงเรียนจำนวนหนึ่ง/ไม่น้อยที่ยังจัดการเรียนรู้ในรูปแบบการนำเนื้อหาสาระมาอธิบาย ขยายความ เพื่อให้นักเรียนนำไปอ่านและท่องจำ แล้วสอบวัดจากสิ่งที่ครูบอก สิ่งที่ท่องจำ และคุ้นชินกับข้อสอบแบบวัดความจำเท่านั้น แต่ความรู้ที่ใช้ในการทดสอบ O-NET ผู้เรียนต้องเรียนรู้จากกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบที่มีกิจกรรมให้ผู้เรียนได้ฝึกสังเกต รวบรวมข้อมูล จำแนก เปรียบเทียบจัดหมวดหมู่ คิดวิเคราะห์ สรุปสาระสำคัญ ไม่เชื่อมโยงความรู้ สรุปความรู้-หลักการ ได้ฝึกสร้างทางเลือกและการเลือกทางเลือก รวมทั้งฝึกนำความรู้ไปสร้างงาน สร้างนวัตกรรม ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบ Active Learning และเป็นหัวใจสำคัญของการนำไปวิเคราะห์ข้อสอบ O-NET ผู้เรียนจำนวนมากยังไม่เคยรู้จักและยังไม่เคยเรียนรู้ผ่านกระบวนการดังกล่าวมาก่อน


ดังนั้นครูผู้สอนจึงควรให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้มากกว่าการจำเนื้อหาและการสอบเพื่อตัดสินผลการเรียน จึงกล่าวได้ว่ากระบวนการเรียนรู้ที่ดี และกิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีจะเป็นแกนหลักในการกำหนดกิจกรรมขั้นตอนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการลงมือทำจนเกิดเป็นความรู้ ทักษะ และเจตคตินำไปสู่การสร้างนิสัย สร้างงาน สร้างนวัตกรรม และสร้างวิธีทำงาน รวมทั้งสร้างวิธีเรียนรู้ให้ติดตัวผู้เรียนไปใช้และเรียนรู้ในวิถีชีวิตได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้กระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ เป็นกระบวนการที่กำหนดไว้ในแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา

...

กิจกรรมที่ 2 (Big Rock 2) ให้ใช้ในการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย จึงเชื่อได้ว่าหากมีการนำไปใช้อย่างจริงจังทั่วถึงก็จะพลิกโฉมการศึกษาของประเทศได้สำเร็จในเวลาไม่นาน และเกิดคุณภาพต่อผู้เรียนอย่างแท้จริง

ด้าน ดร.วีระ แข็งกสิการ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการต้องทำคือการรับฟังความคิดเห็นของบุคคลภายนอก ตนเห็นด้วยกับ ดร.ศักดิ์สิน ที่บอกว่าการแข่งขันบนเวทีโลกถ้าเรามีกระกระบวนการคิดขั้นสูงก็จะทำให้เดินหน้าไปได้ กระทรวงศึกษาธิการมีผู้นำระดับประเทศมาเป็นรัฐมนตรีมาแล้ว เช่น นายทักษิณ ชินวัตร นายชวน หลักภัย หรือ นายวิจิตร ศรีสอ้าน แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะวัดว่าการศึกษาเดินหน้าหรือถอยหลัง เรามีการอบรมครูอย่างต่อเนื่อง แต่เราก็ไม่อาจไปบีบปากครูให้สอนเหมือนที่อบรมไปได้ ดังนั้นปัจจัยสำคัญของครู คืออุดมการณ์ จิตวิญญาณของความเป็นครู ทำอย่างไรที่จะมุ่งมั่นเสียสละโดยไม่มีใครบังคับ ซึ่งจริงๆ แล้วเราจะต้องสอนให้เด็กเรียนโดยผ่านกระบวนการตั้งแต่ปฐมวัย เด็กจะได้แยกแยะได้ว่าสิ่งไหนผิด สิ่งไหนถูก

...


ขณะที่ ดร.สมใจ วิเศษทักษิณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การจัดการศึกษาจะต้องเอาความเป็นจริงมาเป็นตัวตั้ง เพราะเป็นการพัฒนาชีวิตของคนทั้งโลกซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าเด็กเรียนรู้จากการปฏิบัติแล้วสามารถอธิบายได้ ก็ถือว่าการเรียนรู้บรรลุผล เราต้องหันกลับไปดูผลผลิตที่จบออกไป ถ้าไม่ดีก็ต้องกลับมาทบทวนใหม่


นอกจากนี้ นายชาตรี ลดาลลิตสกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) ปี 2562 ย้ำว่า การศึกษาเป็นองคาพยพ ถ้าครูรู้อย่างเดียวไม่สามารถพัฒนาได้ ถ้านักเรียนรู้อย่างเดียวก็ไม่สามารถพัฒนาได้ แต่ถ้าเป็นองคาพยพ ทุกฝ่ายมีใจรักที่จะพัฒนาการศึกษาไปด้วยกัน ก็จะประสบผลสำเร็จ ซึ่งต้องสร้างเด็ก สร้างครู ให้ Active สอดรับยุคสมัยที่กำลังจะเปลี่ยนไป โดยแนะให้ เปลี่ยนจาก ครูสอนเป็นครูตั้งคำถามเด็ก ให้เด็กลงมือทำ ลงความคิด และสร้างนวัตกรรม เพราะยุคสมัยนี้ เด็กสามารถค้นหาความรู้จากโลกของ IT ได้เอง

ส่วน ผศ.ดร.ผดุง พรมมูล ที่ปรึกษาอธิการบดี ม.สวนดุสิต ขานรับ และเห็นด้วย กับการขับเคลื่อนการศึกษา ของสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนและตอบโจทย์ เด็กยุคสมัยนี้ ที่มีการพัฒนาต่อยอด จนสำเร็จเกือบจะครอบคลุมทั่งประเทศแล้ว

...