นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 งานสำรวจและออกแบบโครงการพัฒนาสนามบินดอนเมือง ระยะที่ 3 เพื่อระดมความเห็นนำไปประกอบการออกแบบโครงการให้มีความเหมาะสมว่า การขยายสนามบินดอนเมือง ระยะที่ 3 มูลค่า 36,000 ล้านบาท เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการเดินทางทั้งในและระหว่างประเทศ ตามนโยบายการผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบินโลก (Aviation Hub) ของรัฐบาล โดยดอนเมืองระยะที่ 3 จะเริ่มเปิดประกวดราคาได้ในต้นปี 2568 และเริ่มก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ใหม่ซึ่งอยู่ด้านทิศใต้สนามบินให้เป็นอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ แล้วเสร็จเปิดให้บริการปี 2572 และปรับปรุงอาคารระหว่างประเทศ 1 และ 2 เดิม ให้เป็นอาคารผู้โดยสารในประเทศ เปิดให้บริการปี 2574 เพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 50 ล้านคน

นอกจากนี้ ในปี 2568 ทอท.ยังมีแผนที่เชิญชวนเอกชนที่มีความชำนาญในการบริหารจัดการอาคารเครื่องบินส่วนตัว (ไพรเวท เจ็ต) และศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนหรือ PPP โดยจะใช้พื้นที่บริเวณอาคารคลังสินค้าที่ 4 ด้านทิศใต้สนามบินดอนเมืองเป็นอาคารเครื่องบินส่วนตัว มูลค่าโครงการลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท สนับสนุนการเป็นศูนย์กลางหรือฮับไพรเวท เจ็ตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยหาก ทอท.เชิญชวนเอกชนที่มีความชำนาญเข้ามามั่นใจว่าจะรองรับลูกค้าในระยะแรกกว่า 60 ไฟลท์ต่อวัน ซึ่งจะสามารถดึงลูกค้าคนไทยกระเป๋าหนักที่มีเครื่องบินส่วนตัวให้เข้ามาจอด และบำรุงรักษาแบบครบวงจรได้อย่างแน่นอน.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่

...