“บ้านเรากำลังเผชิญกับวิกฤติขยะอาหาร ที่ทั้งหมดมาจากสินค้าเกษตรและสินค้าแปรรูป ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางอาหารของประชาชนกลุ่มเปราะบาง การลดการสูญเสียอาหารตั้งแต่ต้นทางเลยเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญในการลดวิกฤติปัญหาขยะอาหาร จากข้อมูลที่ได้มีการศึกษาพบว่า ไทยมีอาหารส่วนเกินมากถึงเกือบปีละ 4 ล้านตัน ในขณะที่มีการรายงานตัวเลขของประชากรของประเทศที่มีรายได้น้อย และมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาการเข้าถึงอาหารอยู่ถึง 3.8 ล้านคน เราจึงร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ดำเนินการศึกษาและวิจัยเชิงนโยบาย เพื่อสร้างต้นแบบการดำเนินงาน เพื่อบริหารจัดการอาหารส่วนเกินของไทย โดยเปิดตัวต้นแบบธนาคารอาหารของประเทศเป็นครั้งแรก”

ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG สาขาอาหาร บอกถึงความร่วมมือระหว่าง สวทช.กับมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) และหน่วยงานพันธมิตร ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.

...

การเปิดตัวต้นแบบธนาคารอาหารของประเทศไทย หรือ (Thailand’s Food Bank) เป็นไปเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารส่วนเกิน การกอบกู้อาหาร และการส่งต่ออาหารส่วนเกินอันจะช่วยส่งเสริมให้ลดการเกิดขยะอาหาร และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศไปด้วยกัน และหวังเป็นต้นแบบของการสร้างแบบจำลองการส่งต่ออาหารส่วนเกินให้สังคมไทย โดยนำร่องที่ชุมชนย่านลาดพร้าว ณ โรงเรียนคลองทรงกระเทียม เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ

นอกจากนี้ สวทช.ยังได้สนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการอาหารส่วนเกินอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ แพลตฟอร์มดิจิทัลแนะนำการจับคู่ความต้องการและอาหารบริจาคแบบอัตโนมัติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหาร และจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) มีมูลนิธิ SOS และองค์กรพันธมิตรเครือข่ายเป็นผู้ใช้งาน ช่วยเพิ่มความสะดวกให้ผู้รับบริจาคเพื่อรองรับการขยายฐานผู้บริจาคอาหาร เพิ่มความสามารถในการจัดการอาหารส่วนเกิน ช่วยลดภาระงานและสนับสนุนการตัดสินใจของผู้ดูแลระบบ และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการอาหารส่วนเกิน รวมถึงสามารถจัดส่งอาหารไปยังผู้ขอรับความช่วยเหลือได้ตรงตามความต้องการ และลดความเสียหายของอาหาร และแนวปฏิบัติอาหารปลอดภัยสำหรับอาหารบริจาค (Food Safety Guideline)

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการจะเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนการรับอาหาร การเก็บรักษาอาหาร การขนส่ง การแจกจ่ายอาหาร หลักปฏิบัติสำหรับผู้สัมผัสอาหาร เช่น การแช่แข็งอาหารส่วนเกินและติดฉลากใหม่ การระบุวันที่และระยะเวลาที่แนะนำ ข้อมูลเกี่ยวกับอันตราย และการควบคุมอันตราย เช่น สารเคมี สารก่อภูมิแพ้ หลักปฏิบัติในการเตรียมอาหาร เช่น การทำละลายอาหารแช่แข็ง การทำให้สุก การทำให้เย็น การอุ่นร้อน การรักษาความปลอดภัยอาหารระหว่างขนส่ง เป็นต้น ที่สอดคล้องกับข้อกำหนดด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องของประเทศ เพื่อให้อาหารที่แจกจ่ายยังคงมีความปลอดภัยและเหมาะสมต่อการบริโภค ช่วยให้เกิดความมั่นใจทั้งต่อผู้ให้บริจาคและผู้รับบริจาครวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการบริจาคอาหารในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

...

สำหรับอาหารบริจาคจะดำเนินการร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมอนามัย ส่วนการกอบกู้อาหารส่วนเกินจะดำเนินการร่วมกับผู้ผลิตอาหารในเครือข่ายของหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร้านสะดวกซื้อ โรงแรม และร้านอาหาร ที่จะเป็นผู้บริจาคอาหาร และนำอาหารเหล่านี้ส่งต่อให้กับเครือข่ายผู้รับบริจาคอาหาร ทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน โดยปัจจุบันมูลนิธิ SOS ได้ส่งต่ออาหารส่วนเกินไปแล้วกว่า 8.3 ล้าน กก.หรือคิดเป็น 35 ล้านมื้อ ให้แก่ชุมชนต่างๆมากกว่า 3,600 แห่ง ซึ่งเท่ากับว่าเราได้ลดการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการนำอาหารไปฝังกลบถึง 21,166 ตัน.

กรวัฒน์ วีนิล

คลิกอ่าน “ข่าวเกษตร” เพิ่มเติม