เมื่อวานนี้ผมเขียนเล่าว่า ผมไปเที่ยวงาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 52” และ “สัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 22” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์มาเรียบร้อย...รู้สึกปลื้มและตื่นเต้นมากที่พบว่า มีแฟนๆหนังสือไปอุดหนุนแน่นขนัด

เผอิญวันที่ผมไปเดินเป็นวันรองสุดท้ายก่อนปิดงาน จึงยังไม่ทราบว่า ยอดเงินสะพัดจะเป็นอย่างไรบ้าง? โดยเฉพาะยอดจำนวนผู้เข้าไปชมงานจะมากน้อยเพียงไร?

พอดีงานรถยนต์ “บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 45” ที่เมืองทองธานี เขาจบไปก่อนและแถลงผลออกมาก่อน ปรากฏว่า ทะลุเป้าในทุกด้าน

โดยเฉพาะจำนวนผู้เข้าชมงานรถยนต์ปีนี้สูงเป็นประวัติการณ์ถึงกว่า 1.6 ล้านคน--ผมซึ่งมีใจลำเอียงมาที่งานหนังสือมากกว่า จึงภาวนาว่าขอให้งานหนังสือมีคนเที่ยวสัก 1.7 ล้านคนเถอะ จะได้ “ชนะ” งานรถยนต์

ผลปรากฏว่า มีการเผยแพร่ตัวเลขต่างๆของงานหนังสือออกมาแล้วครับ...ทันทีที่ปิดงานได้พักเดียว คุณ สุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ก็ออกมาแถลงกับผู้สื่อข่าว สรุปข้อใหญ่ใจความได้ว่า

งานสัปดาห์หนังสือปีนี้ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น “เม็ดเงินสะพัด” จากการจำหน่ายหนังสือของสำนักพิมพ์ 322 แห่ง 914 บูธ รวมแล้วสูงเกินกว่าเป้า 400 ล้านบาทที่ตั้งเอาไว้

โดยเฉพาะจำนวนคนมาเข้าชมงานก็สูงถึงกว่า 1.3 ล้านคน เพิ่มจากปีที่แล้วประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์

จากนั้นนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯก็เชิญคณะกรรมการฝ่ายต่างๆแถลงข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับผลการวิจัยว่าด้วย พฤติกรรมการอ่านหนังสือและการซื้อหนังสือของคนไทยในปัจจุบัน ที่ดำเนินการโดยคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งใช้ตัวอย่างจากประชาชนทุกเพศทุกวัยกว่า 2,550 คนทั่วประเทศ...พบว่า

...

คนไทยมีพฤติกรรมการอ่านหนังสือทุกชนิด ทั้งหนังสือเล่มและอีบุ๊กรวมทุกกลุ่มอายุเฉลี่ยถึง 113 นาทีต่อวัน หรือเกือบ 2 ชั่วโมงต่อวัน และสัดส่วนถึง 45 เปอร์เซ็นต์ ยังเป็นการอ่านหนังสือทุกๆวันเสียด้วยซ้ำ

หนังสือที่อ่านก็มีทั้งตำราเรียน คู่มือเตรียมสอบ หนังสือพัฒนาตนเอง หนังสือเกี่ยวกับสุขภาพ หนังสือนวนิยาย และสารคดี ฯลฯ

จริงๆแล้วยังมีพฤติกรรมการอ่านหนังสือของคนไทยที่น่าสนใจอีกมาก แต่ผมขอยกมาแค่ประเด็นนี้ประเด็นเดียวนี่แหละ

ประเด็นที่ย้ำว่า คนไทยยังอ่านหนังสือ และอ่านอย่างใจจดใจจ่อด้วยเฉลี่ยถึง 113 นาที หรือเกือบ 2 ชั่วโมงต่อวัน ดังที่ผลการศึกษาล่าสุดของจุฬาฯค้นพบนั่นเอง

เราเคยได้ยินวลีที่ว่า “คนไทยอ่านหนังสือ แค่วันละ 8 บรรทัด” มาเป็นเวลายาวนานเกือบ 20 ปีแล้วกระมัง ซึ่งน่าจะมาจากการสำรวจขององค์กรใดองค์หนึ่งในอดีตเช่นกัน

กลายเป็นคำพูดที่ติดปากและการอ้างอิงอย่างซ้ำๆซากๆมาโดยตลอด

ทำให้เป็นห่วงกันมากว่า ถ้าอ่านวันละเพียงแค่ 8 บรรทัดละก็... ประเทศไทยมีหวังถอยหลังเข้าคลองแน่ๆ เพราะแค่วันละ 8 บรรทัด จะไปมีประโยชน์อะไรแก่สมองและสติปัญญาของผู้คน

ที่สำคัญผลสำรวจดังกล่าวก็น่าจะเกิดขึ้นในยุคก่อนที่ “มือถือ” จะ “บูม” เสียด้วยซ้ำ...ทำให้ยิ่งห่วงหนักขึ้นไปอีก ถ้าอุปนิสัยในการอ่านหนังสือของคนไทยยังไม่เปลี่ยนแปลง

เพราะในยุคมือถือ คนไทยเรากลายเป็นคนใจร้อนมากขึ้น ใจเร็วมากขึ้น สมาธิสั้นมากขึ้น ไม่อยากอ่านอะไรยาวๆ เอาแต่ไถหน้าจอมือถือดูเฉพาะภาพ หรืออ่านข้อความสั้นๆเท่านั้น-เผลอๆจะทำให้อ่านหนังสือเหลือวันละ “3 บรรทัด” เสียด้วยซ้ำไป

เมื่อผลสำรวจออกมาว่า คนไทยทุกกลุ่มทุกระดับอ่านหนังสือเฉลี่ยถึงวันละ 113 นาที หรือเกือบๆ 2 ชั่วโมงเช่นนี้

ยังไงๆก็ต้องเกิน 8 บรรทัดแน่ๆ อาจจะเป็นหลายๆร้อย หรือหลายๆพันบรรทัดสำหรับคนที่อ่านได้เร็วๆ

สรุปว่าดีใจครับที่งานหนังสือของเราปีนี้มีข่าวดีหลายอย่าง...รวมทั้งสถิติคนไปเที่ยวงาน 1.3 ล้านคน แม้จะไม่ชนะคนไปเที่ยวงานรถยนต์ 1.6 ล้านคน แต่ก็ถือว่าเกินล้านและมากกว่าปีที่แล้วถึง 10 เปอร์เซ็นต์

ผมมีทฤษฎีที่ผมทึกทัก และสร้างขึ้นมาเองว่า...คนอ่านหนังสือคือคนมีคุณภาพ...และจากงานนี้พิสูจน์ได้ว่า เรามีคนคุณภาพ เพราะไปซื้อและเที่ยวงานหนังสือถึง 1.3 ล้านคน...มีมากมายซะขนาดนี้ ประเทศไทยของเราไม่เจริญก็ให้มันรู้กันไปซีน่า.

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม