“แอนแทรกซ์” เชื้อร้ายระบาดประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาวเมื่อไม่นานมานี้ ข่าวนี้สร้างความกังวลใจอยู่ไม่น้อย

เพราะเชื้อที่ว่านี้มีระดับความอันตราย...น่ากลัวอยู่มากทีเดียว

“แอนแทรกซ์” หรือภาษาไทยเรียกว่า “โรคกาลี” เป็น “โรคสัตว์สู่คน” ได้ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ “Bacillus anthracis” เป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีความสามารถในการสร้าง “สปอร์” ได้ เมื่อเชื้ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมกับการเจริญเติบโต

โดยสปอร์ของเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ มีความคงทนต่อการเปลี่ยนของสิ่งแวดล้อม และยาฆ่าเชื้อโดยสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้เป็นเวลานานหลายสิบปี

ให้รู้ต่อไปอีกว่า...โรคนี้มักเกิดในสัตว์พวกโค กระบือ แพะ แกะ โดยได้รับเชื้อจากการกินหญ้าที่มีการปนเปื้อนสปอร์ของเชื้อเข้าไป เชื้อจะเพิ่มจำนวน และก่อโรคทำให้สัตว์ตายอย่างกะทันหัน ในสัตว์ หลังเสียชีวิตจะมีเลือดออกจากปาก จมูก และทวาร

สำหรับการระบาดของโรคนี้มักพบในพื้นที่อเมริกาใต้ แอฟริกาตอนใต้ เอเชียกลาง...ใต้...ตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

...

สำหรับ “ประเทศไทย” ไม่พบการระบาดของโรคแอนแทรกซ์มานานมากแล้ว

กรณีข่าวการที่มีการพบการระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาวที่พบผู้ป่วยด้วยโรคนี้ 54 คน ทำให้คนไทยต้องมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือและการป้องกัน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง...กลุ่มคนที่ประกอบอาชีพเลี้ยงโค กระบือ แพะ แกะ

หากพบการเสียชีวิตของสัตว์อย่างกะทันหัน ให้รีบแจ้งกรมปศุสัตว์หรือเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และห้ามไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายสัตว์เด็ดขาด

ประเด็นสำคัญมีอีกว่า “คน” สามารถติดโรคแอนแทรกซ์ที่ว่านี้ได้ 3 ทาง ประกอบด้วยการสัมผัสทาง ผิวหนัง การหายใจ และการกินซึ่งการสัมผัสทางผิวหนังเป็นการติดต่อที่พบบ่อยที่สุด โดยผ่านทางรอยแยกบนผิวหนังที่สัมผัสโดยตรงกับสัตว์ป่วยหรือเลือด ขน หนัง ของสัตว์ที่เป็นโรค

อาการที่พบในคนขึ้นอยู่กับช่องทางการได้รับเชื้อ ถ้าได้รับเชื้อผ่านการสัมผัสทางผิวหนังจะทำให้เกิดแผลที่มีลักษณะเฉพาะที่เรียกว่า “black eschar”...แผลบุ๋มสีดำคล้ายบุหรี่จี้ และมีอาการบวมน้ำ เป็นต้น

สำหรับระยะตั้งแต่ได้รับเชื้อจนก่อโรคอยู่ที่ประมาณ 1–7 วันถือว่าเร็วมาก...กลุ่มเสี่ยงจะเป็นคนที่ใกล้ชิดเเละมีการสัมผัสกับสัตว์มากกว่า

อ.สพ.ญ.ดร.วรรษวรรณ ประภาสวัสดิ์
อ.สพ.ญ.ดร.วรรษวรรณ ประภาสวัสดิ์

อ.สพ.ญ.ดร.วรรษวรรณ ประภาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสัตวแพทย์สาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร หรือ อาจารย์ฝ้าย บอกว่า ความอันตรายน่ากลัวของเชื้อก็คือ...ถ้าพื้นที่ไหนเคยมีการระบาด ตัว “เชื้อแอนแทรกซ์”...ในส่วนที่ก่อโรคก็อันตรายแล้ว

แต่...เชื้อหากแฝงตัวอยู่ในสิ่งแวดล้อมจะสร้างตัวเองเป็นสปอร์ แล้วก็อยู่ตามดิน หญ้า...เหมือนจำศีลเก็บตัวเองอยู่ได้นานเป็นสิบๆปีเลยทีเดียว

ถ้าบังเอิญว่าเราเลี้ยงวัวควายแล้วไปกินหญ้าที่มีสปอร์เชื้อแอนแทรกซ์เข้าไปในร่างกาย ได้รับสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมก็จะเพิ่มจำนวนที่ได้รับเจริญเติบโต แล้วก็ก่อโรคในสัตว์

“การติดต่อในคน ก็เมื่อเราไปเลี้ยงสัตว์ พอสัตว์ติดเชื้อก็จะมีอาการแล้วก็เสียชีวิตโดยฉับพลัน ตายแบบกะทันหัน นี่คือสิ่งที่ต้องสังเกต”

ต้องยอมรับว่า...เชื้อร้ายนี้ตั้งแต่เกิดมาก็ยังไม่มีประสบการณ์ตรงเจอมากับตัว เพียงแต่ศึกษาข้อมูลรู้เพียงว่า...เชื้อแอนแทรกซ์ไม่ได้เกิดในประเทศไทยมานานมากแล้ว

...

คำถามสำคัญมีว่า...ถ้าเกิดการระบาดเชื้อนี้ติดแนวชายแดนประเทศไทย จะมีโอกาสมากน้อยในการแพร่กระจายเชื้อเข้ามาบ้านเรา?

ประเด็นที่น่ากังวล หากสัตว์ที่ติดเชื้อตายแบบกะทันหัน ถ้าเราแจ้งปศุสัตว์ก็จะตัดวงจรไปได้ ตามกระบวนการวิธีการกำจัด ป้องกัน เพราะเชื้ออยู่ในกระแสเลือดสัตว์ที่ตาย เลือดก็จะออกทางทวาร ปาก ก้น ก็ไหลลงดิน ค้างอยู่ในธรรมชาติ...

“ถ้าหากเราเคลื่อนย้าย แล้วยังชำแหละมาบริโภค...ก็จะเกิดการติดเชื้อตั้งแต่คนย้าย คนชำแหละ คนขาย ตลาด ผู้บริโภคขึ้นได้แล้ว”

ย้ำว่า...“สัตว์ที่ตายกะทันหัน ยังไม่ทันได้แสดงอาการใดๆเลย...ให้รีบแจ้งปศุสัตว์ทันที”

“สัตว์เลี้ยงตายแบบกะทันหันแล้ว หากสงสัยว่าตนเองจะติดเชื้ออะไรหรือเปล่าก็ให้รีบไปตรวจ การรักษามียาปฏิชีวนะสามารถรักษาได้ แต่...อัตราการเสียชีวิตมากน้อยขึ้นอยู่กับว่าจะตรวจวินิจฉัยได้เร็วแค่ไหนพื้นที่ไหนอยู่ใกล้ความเสี่ยงก็ให้เฝ้าระวัง ให้รู้ไว้ว่า...รู้เร็วก็รักษาได้ไว รู้ช้าโอกาสสูญเสียก็มีมากกว่า”

กรณีคนเอาเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อมากินแม้ว่าจะปรุงสุกแล้ว ความเป็นจริงมีว่า...จะติดเชื้อตั้งแต่ชำแหละแล้ว...สัมผัสกับเลือดเนื้อที่มีเชื้อ ติดได้ด้วยการสัมผัส มีโอกาสติดตามผิวหนังสูงถึง 95 เปอร์เซ็นต์

...

ส่วนติดเชื้อทางการกินน้อยลงมา แล้วก็ติดเชื้อทางการหายใจน้อยสุด แต่อันตรายที่สุด เสียชีวิตเยอะที่สุด...รวม 3 ทางที่มีโอกาส รับเชื้อเข้าร่างกาย

หลายๆคนอาจจะเคยได้ยินข่าว ที่มีการเอาเชื้อ “แอนแทรกซ์” มาทำอาวุธชีวภาพใส่ซองจดหมาย โอกาสหายใจเข้าไปแม้จะมีอุบัติการณ์การเกิดน้อยที่สุด แต่พอเข้าสู่ร่างกายแล้วอันตรายมาก

เชื้อแอนแทรกซ์มีความสามารถในการสร้างท็อกซินเป็นสารพิษทำให้ตัวบวม ทำให้เกิดเนื้อตายเป็นแผลเหมือนรอยบุหรี่จี้ ทีนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายด้วยการหายใจกับการกิน สังเกตภายนอกไม่ได้ดูไม่ออก...แต่ความเสียหายเกิดขึ้นในร่างกายมากแล้ว ทำลายอวัยวะภายในที่สำคัญ พอแสดงอาการ...ผู้ติดเชื้อก็อาการหนักแล้ว

ย้ำว่า...สปอร์เชื้อแอนแทรกซ์...มีความทนทานสูง แห้งแล้งมากๆ...ในดิน เชื้อสามารถอยู่ได้จำศีลเก็บตัวรอสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมก็เจริญเติบโตขึ้นมาได้ วันนึง...เมื่อได้เข้าไปในร่างกายสัตว์มีอาหารเต็มที่แล้ว ก็เติบโตดีกว่า

ส่วนใหญ่ลำดับแรกที่เชื้อจะก่อโรคได้ก็คือ “สัตว์”...เพราะคนจะใส่รองเท้า เชื้อจากดิน หญ้าเข้าสู่ร่างกายไม่ได้ แต่ถ้าไม่ใส่ เท้าแตกมีบาดแผลแล้วดินหญ้าที่เหยียบมีเชื้อ คนก็มีโอกาสติดเชื้อได้โดยตรง

...

ถึงตรงนี้อยากจะฝากไว้ว่า...เราควรจะตระหนักถึงอันตราย โอกาส ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น...เชื้อโรคหลีกเลี่ยงได้ด้วยการไม่สัมผัสกับสัตว์โดยตรง หากมีความจำเป็นให้สวมถุงมือ และสวมหน้ากากอนามัย

“รู้ว่าเป็นโรคร้าย ก็ต้องป้องกันตัวเอง...อย่าตระหนกจนไม่กล้ากินอะไร ไม่กล้าซื้อ ไม่กล้าจับ ประเทศไทยไม่มีโรคนี้เลย แล้วก็ห้ามครอบครองเชื้อชนิดนี้เพราะสามารถใช้เป็นอาวุธชีวภาพได้”

โรค “สัตว์สู่คน” มีมากมาย มุมมองสำคัญก็คือทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องติดตามข้อมูล ความรู้...ที่สำคัญสำหรับคนทั่วไปก็คือดูแลตัวเองโดยเฉพาะ...“ไม่กินดิบ” โรคอะไรก็ตามที่ปนเปื้อนมากับเนื้อสัตว์ ถ้าปรุงสุกจะปลอดภัยกว่า ที่สำคัญคือ... “ให้ตระหนัก แต่อย่าตระหนก” อย่ากลัวแบบกังวล.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม