งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เป็นกิจกรรมที่เหล่านิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ล้วนเฝ้าคอยที่จะเข้าไปมีส่วนร่วม ทั้งขณะกำลังศึกษา รวมถึงเมื่อต่างเป็นนิสิตเก่าและนักศึกษาเก่า

...เป็นวันที่ทุกคนได้กลับมารวมพลังแห่งความรัก ความสามัคคีระหว่างเพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมสถาบันกันอีกครั้งหนึ่ง งานนี้จัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2477

บันทึกย้อนรอยในวันวาน “งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์” แม้จะงดเว้นไปบางปี แต่งานก็มีการพัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาตามลำดับ อาทิ ในครั้งที่ 2 การเชียร์ของฝั่งจุฬาฯ นิสิตหญิงมีการสวมถุงเท้าสีชมพูและโบกผ้าสีชมพู พอตื่นเต้นก็ตะโกนร้องว่า ชู้ต ชู้ต ชู้ต

หลังจากนั้นในครั้งที่ 3 การเชียร์ของฝั่งธรรมศาสตร์ได้มีการแจกธงสีเหลืองแดงสำหรับโบก รวมถึงหมวกหนีบทำด้วยผ้าสีแดงสำหรับสวมมีกองเชียร์ประมาณ 300 คน ตั้งแถวบริเวณถนนหน้าโดม เช่ารถเมล์ขนาดกลางประมาณ 4-5 คัน ไปส่งที่สนาม และนักศึกษาบางส่วนก็ไปที่สนาม

เสื้อเชียร์ทำจากเสื้อขาว นำมาย้อมสีเหลืองแล้วเอาผ้าสีแดงเย็บทาบลงไปรอบตัวเช่นเดียวกับเสื้อเชียร์ของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ในเวลาต่อมามีการนำเสื้อไปย้อมสีชมพู ยกเว้นนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์จะนำเสื้อไปย้อมสีกรมท่า

...

ด้วยเป็นธรรมเนียมสากลว่า...วิศวกรจะต้องใส่เสื้อช็อปสีน้ำเงิน ต่างจากในปัจจุบันที่มีการผลิตและจำหน่ายเสื้อเชียร์เป็นการเฉพาะทั้ง 2 มหาวิทยาลัย แต่ยังคงใช้สีเสื้อตามสีประจำมหาวิทยาลัยคือสีชมพูของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสีเหลืองแดงของมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์

สำหรับปีนี้...เทศกาลงานกีฬาฟุตบอลสานสัมพันธ์ จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ CU-TU Unity Football Match 2024 จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม 2567 ณ สนามศุภชลาศัย สนามกีฬาแห่งชาติ

โดยทั้งหมดอยู่บนแนวคิดของ Sustainability...หรือความยั่งยืน โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดีที่เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาได้ลงมือทำ สานฝันประเพณีดีงามที่มีมานาน

ประธานโครงการฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ 2024 นางสาวปุณยภา คุณาวิชชา ฝั่งจุฬาฯ และ นายปิยวิทย์ หวังชูธรรม ฝั่งธรรมศาสตร์ ผสานเสียงยืนยันความพร้อม ชวนพี่น้องชาวจุฬาฯและธรรมศาสตร์เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างหน้าประวัติศาสตร์ในงาน

กิจกรรมนี้...สะท้อนให้เห็นถึง “พลัง” จากความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทั้ง 2 มหาวิทยาลัยภายใต้แนวคิด Unity to Sustainability (ยูนิตี้ทูซัสเทนอะบิลิตี้)...ที่ไม่ได้มีไฮไลต์เพียงการแข่งขันฟุตบอลเท่านั้น

แต่เป็นการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่หลังจากห่างหายไปถึง 4 ปี โดยยังคงมนต์เสน่ห์ของงานบอลผสมผสานกับกิจกรรมที่สอดรับยุคสมัยปัจจุบัน ทั้งขบวนพาเหรดสะท้อนประเด็นทางสังคม การแปรอักษรรูปแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีผ่านจอ LED การแสดงสุดพิเศษจากชุมนุมชมรมต่างๆของทั้ง 2 มหาวิทยาลัย

ตอกย้ำ...ภาพความสามัคคีสู่ความยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม

พร้อมกันนี้ น้องๆยังขอบคุณผู้สนับสนุนทุกภาคส่วน ทั้งมหาวิทยาลัย คณาจารย์ นิสิตนักศึกษาทั้งศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่า โดยเฉพาะผู้ใหญ่ใจดีจากองค์กรต่างๆ ที่ไม่ได้สนับสนุนเพียงงบประมาณเท่านั้น แต่เป็นทั้งรุ่นพี่...เป็นทั้งต้นแบบและเมนเทอร์ที่ช่วยให้คำปรึกษาให้งานนี้สำเร็จได้ตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้

นางสาวปุณยภา คุณาวิชชา นิสิตชั้นปีที่ 4 ประธานโครงการฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ 2024 ฝั่งจุฬาฯบอกว่า สิ่งที่นักศึกษาได้เรียนรู้จากงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์จะได้เรียนรู้แบบก้าวกระโดดมากๆในการบริหารจัดการกิจกรรมที่ใหญ่และเป็นตำนานขนาดนี้

เราได้ฝึกทักษะการบริหารจัดการ, ทีมเวิร์ก, ได้ลงมือทำการตลาดยุคใหม่ อาทิ Fandom Marketing...เครื่องมืออันทรงพลังที่จะช่วยทำให้แบรนด์เชื่อมต่อกับผู้ชมได้มากขึ้น, การนำเทคโนโลยีล่าสุดมาผสมผสานกับรูปแบบของงานอย่างกลมกลืน อย่างการแปรอักษรผ่าน LED

...

รวมไปถึงการฝึก Problem Solving...ทักษะการแก้ปัญหาที่ทำให้ก้าวทันโลกอนาคต ที่คิดว่าเป็นโชคดีมากๆที่เราได้มีโอกาสลงมาทำงานและได้เรียนรู้

ในอดีตกิจกรรมต่างๆในทุกระดับยังมีอยู่ไม่มากศูนย์การค้ามีอยู่ไม่กี่แห่ง การแข่งขันฟุตบอลเองก็มีอยู่ไม่กี่นัด “งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์” จึงไม่ได้เป็นกิจกรรมใหญ่ของ 2 มหาวิทยาลัยเท่านั้น หากเป็นกิจกรรมใหญ่ของกรุงเทพมหานครและยังคงเป็นกิจกรรมที่ยึดถือเป็นประเพณีที่จะต้องรักษาเอาไว้

ภาพจำของหลายๆคนในวันนี้...ในตอนเช้าของวันงาน นิสิตนักศึกษาจะพากันขับรถเปิดประทุนวนรอบเมือง เมื่อเจอกันก็จะร้องเพลงเชียร์ใส่กัน แต่ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ร่วมกัน

เช่น การกวาดถนน ซึ่งก็ยังคงรักษาการบำเพ็ญประโยชน์นี้ไว้ แต่ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบของกิจกรรม เช่น มีการจัดกิจกรรมเลือดไม่แบ่งสี โดยนิสิตนักศึกษาร่วมกันบริจาคโลหิตให้แก่สภากาชาดไทย

...

“การที่กิจกรรมใดจะคงอยู่ได้เป็นระยะเวลายาวนานเช่นนี้ กิจกรรมนั้นต้องเป็นกิจกรรมที่มีคุณค่าต่อผู้มีส่วนร่วมทุกคน ซึ่งคุณค่าของงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์นี้ไม่ได้อยู่ที่ผลการแข่งขันว่า มหาวิทยาลัยใดจะเป็นฝ่ายชนะ แต่อยู่ที่จุดมุ่งหมายของผู้ร่วมริเริ่มก่อตั้งนั่นคือความสามัคคี”

หากนิสิตนักศึกษาทุกคนได้ย้อนมองกลับไปค้นหาแก่นแท้ของงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ตั้งแต่อดีต แล้วนำข้อคิดนั้นมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตให้ทุกคนมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ประเทศไทยของเราย่อมมีความวัฒนาสถาพรตลอดไป

ปิยวิทย์ หวังชูธรรม นิสิตชั้นปีที่ 4 ประธานโครงการฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ 2024 ฝั่งธรรมศาสตร์เสริมว่า งานฟุตบอลระหว่างสองสถาบันไม่ได้เกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน จึงตั้งใจที่จะสนับสนุนและผลักดันให้งานฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ...ธรรมศาสตร์ เกิดขึ้นให้ได้

ภายใต้จุดประสงค์คือการคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ที่ทุกคนอยากจะเห็น ผสมผสานกับการสอดรับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป

แต่ที่สำคัญที่สุดไม่แพ้กันคือ พวกเราโชคดีที่ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากผู้ใหญ่ใจดี ที่เป็นทั้งรุ่นพี่และเป็นทั้ง “Role Model” ...แบบอย่างที่ดีมากๆก็คือ คุณสารัชถ์ รัตนาวะดี จาก GULF นะครับ

“ท่านทั้งสนับสนุนผ่านการเป็นสปอนเซอร์และให้ไอเดียอีกหลายอย่างเหมือนเป็นที่ปรึกษาที่ดีมากๆ ซึ่งทั้งหมดทำให้พวกเราสามารถจัดงานนี้ให้เกิดขึ้นได้อย่างที่เล่าไปข้างต้นครับ พวกเราขอเป็นตัวแทนทีมขอบพระคุณ คุณสารัชถ์ ไว้ด้วยนะครับ”

ถึงตรงนี้พวกเราขอขอบคุณ Gulf และคุณสารัชถ์ ซีอีโอกัลฟ์อีกครั้ง...กับภาพความสำเร็จที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ พร้อมเชิญชวนไปงาน...

...

“ฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ 2024” พบกันในวันที่ 31 มีนาคม 2567 นี้ ประตูเปิดเวลา 12.00 น. ณ สนามศุภชลาศัย หรือชมสดที่ “AIS PLAY” ตั้งแต่เวลา 14.00-22.00 น.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม