เมื่อวันที่ 7 มี.ค.67 ที่สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ โดยนายสุรเชษฐ์กล่าวว่า หลังจากจัดประชุมครั้งแรกเดือน ต.ค.2566 ที่ปรึกษาสรุปผลการศึกษารูปแบบโครงการด้านทิศใต้ของถนนมอเตอร์เวย์สาย 7 ฝั่งเดียวกับแอร์พอร์ต เรลลิงก์ เหตุผลที่ไม่เลือกรูปแบบก่อสร้างตรงกลางถนนมอเตอร์เวย์เพราะกระทบต่อการจราจร ถ้าทำด้านข้างการจราจรสามารถเคลื่อนตัวได้ ส่วนเรื่องผลกระทบการเวนคืนที่ดินไม่มาก คาดว่าจะได้รับผลกระทบประมาณ 2-3 จุด บริเวณสะพานเกือกม้าและทางขึ้นลงปลายโครงการ ส่วนรูปแบบการลงทุน กทพ.จะใช้วิธี PPP ระยะเวลา 25-30 ปี วงเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งรายละเอียดจะมีการจัดประชุมอีกครั้งเพื่อสรุปผลเดือน ก.ย.นี้ และเสนอ ครม.พิจารณาต่อไปตามแผนงานจะเริ่มก่อสร้างปี 2570 

ขณะที่ที่ปรึกษาโครงการรายงานสรุปผลการศึกษา จากการทบทวนการศึกษาเดิมได้พิจารณาแนวเส้นทางที่เหมาะสมของโครงการ ตามแนวเส้นทางบนเขตทางเดิมของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 รวมระยะทางประมาณ 18 กม. สำหรับรูปแบบโครงการที่เหมาะสม เป็นทางยกระดับมีจุดเริ่มต้น ต่อจากจุดสิ้นสุดของทางพิเศษศรีรัช (ส่วน D) บริเวณเกาะแบ่ง ระหว่างทางหลวงพิเศษและทางบริการของทั้ง 2 ทิศทาง ทิศทางละ 2 ช่องจราจร และจะวิ่งผ่านทางต่างระดับศรีนครินทร์ จากนั้น ทางยกระดับด้านเหนือจะเบี่ยงแนวลงมารวมกับด้านทิศใต้เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 10 กม. ผ่านจุดตัดทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 และจะแยกออกเป็นสองฝั่ง ฝั่งละ 2 ช่องจราจรต่อทิศทางเช่นเดิม และจะวิ่งผ่านทางต่างระดับร่มเกล้า ผ่านทางแยกต่างระดับสุวรรณภูมิ โดยบริเวณนี้โครงสร้างจะมีทางแยกออก เพื่อเชื่อมต่อทางต่างระดับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทั้งขาเข้าและขาออก จากนั้น แนวเส้นทางหลักจะมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกตามทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และลดระดับเป็นระดับดินที่จุดสิ้นสุด 

...

นายสุพจน์ ศรีนิล รองอธิการบดี สจล. กล่าวว่า กทพ.เลือกรูปแบบโครงการ โดยก่อสร้างเสาตอม่อริมถนนมอเตอร์เวย์ เพื่อลดผลกระทบด้านจราจร เนื่องจากต้องปิดถนนมอเตอร์เวย์บางส่วนเพื่อก่อสร้าง ทำให้การจราจรมีปัญหาติดขัด อย่างไรก็ตาม สจล.และชาวบ้านในแนวเส้นทางไม่เห็นด้วย ยังยืนยันให้ กทพ.ก่อสร้างเสาตอม่อโครงการต้องอยู่บริเวณร่องกลางถนนมอเตอร์เวย์ เพื่อลดการเวนคืนที่ดิน ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงจะเดินหน้าคัดค้านโครงการต่อไป โดยจะทำหนังสือร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนโครงการ เช่นเดียวกับประชาชนที่เข้าร่วมประชุม ส่วนใหญ่เสนอให้ก่อสร้างตรงกลางถนนมอเตอร์เวย์ เพราะกระทบประชาชนน้อยที่สุด หาก กทพ.ยังดึงดันตามรูปแบบที่เสนอจะออกมาคัดค้านโครงการแน่นอน.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่