ศิษย์เก่าและปัจจุบันอุเทนถวาย กว่า 2,500 คน รวมพลังเดินขบวนคัดค้าน "จุฬาฯ" จ้องยึดที่และให้ย้ายสถานที่ตั้งอุเทนถวายใหม่ เรียกร้องให้มีการแก้ไขโฉนดที่ดินใหม่ ให้ยกเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเพื่อการศึกษาเท่านั้น เหตุหวั่นจะกลายเป็นพื้นที่พาณิชย์เช่นสามย่าน

เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 67 เวลา 09.00 น. ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย สโมสรนักศึกษา นำโดยคณะนักศึกษาอุเทนถวาย สมาชิกสมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย และตัวแทนสมาคมผู้ปกครองและครูอุเทนถวาย กว่า 2,500 คน จัดชุมนุมแสดงพลังคัดค้านการย้ายวิทยาเขตอุเทนถวายออกจากที่ตั้งบนถนนพญาไทในปัจจุบัน ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลจัดกำลังทั้งในและนอกเครื่องแบบ ดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันเหตุวุ่นวายจากกลุ่มนักศึกษาของโรงเรียนคู่อริ

จากนั้นเวลา 09.30 น. กลุ่มนักศึกษาอุเทนถวายและศิษย์เก่าทั้งหมด ได้เคลื่อนตัวออกจากวิทยาเขตอุเทนถวาย มุ่งหน้าไปยังสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อยื่นหนังสือแสดงความจำนงคัดค้านการย้ายวิทยาเขตอุเทนถวายออกจากพื้นที่ โดยกลุ่มนักศึกษาและศิษย์เก่าได้เดินขบวนถือธงตราสัญลักษณ์อุเทนถวาย พร้อมป้ายข้อความต่างๆ อาทิ อุเทนถวาย โรงเรียนช่างก่อสร้างแห่งแรกของประเทศไทย, ที่ดินของเรา 21 ไร่ เป็นที่ดินเพื่อการศึกษา (ไม่ใช่) เพื่อการพาณิชย์, โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย อยู่คู่ประวัติศาสตร์ไทยมากว่า 100 ปี เป็นต้น ไปตามถนนพญาไท พร้อมมีรถขยายเสียงบอกเล่าประวัติความเป็นมาของอุเทนถวาย ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ พร้อมยืนยันว่า อุเทนถวายไม่ได้มีปัญหากับจุฬาฯ แต่มีปัญหากับสำนักงานจัดการทรัพย์สิน และผู้บริหารของจุฬาฯ เท่านั้น

...


เมื่อเดินขบวนมาถึงบริเวณทางเข้าตึกอำนวยการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทางจุฬาฯ ได้ทำการปิดประตูรั้วและนำแผงเหล็กมากั้นอีกชั้น ตัวแทนนักศึกษาอุเทนถวาย นำโดยน.ส.อชิรญา ธุวะนุติ ผู้แทนกรรมการสโมสรนักศึกษา วิทยาเขตอุเทนถวาย พร้อมด้วย ตัวแทนนักศึกษาระดับปริญญาโท วิทยาเขตอุเทนถวาย ได้ตั้งโต๊ะแถลงการณ์ พร้อมกับยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงคัดค้านการย้ายอุเทนถวาย และข้อเรียกร้องเพื่อเป็นแนวทางยุติข้อพิพาท โดยมีนายภคทัชช พัศภัคชญช์ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ เป็นผู้รับเรื่อง

น.ส.อชิรญา กล่าวว่า คณะนักศึกษาปัจจุบันไม่อาจเห็นพ้องด้วยกับการดำเนินการการย้ายวิทยาเขตอุเทนถวาย เพราะปัญหาความขัดแย้งระหว่างนักศึกษาอุเทนถวายกับนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปฏิบัติกับคู่กรณีทั้งสองฝ่ายด้วยความไม่เป็นธรรม ขาดธรรมาภิบาล เนื่องจากทุกครั้งที่มีปัญหาเกิดขึ้น ก็มุ่งย้ายวิทยาเขตอุเทนถวายออกจากพื้นที่ที่ยังเป็นข้อพิพาทระหว่างอุเทนถวายกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแต่เพียงฝ่ายเดียวมาโดยตลอด ทั้งที่การย้ายสถานศึกษาเป็นคนละเรื่องกับปัญหาที่มีบุคคลภายนอกก่อเหตุร้ายต่อนักศึกษาทั้งสองสถาบัน ประกอบกับการใช้ที่ดินพิพาทอันเป็นที่ตั้ง มทร.ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวายอยู่บนพื้นที่เดียวกับจุฬาฯ ต้องเป็นไปตามพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อให้ใช้เฉพาะกิจการการศึกษา การเปลี่ยนแปลงนำที่ดินพิพาทไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ที่ทรงอุทิศย่อมมิอาจกระทำได้ และขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการยื่นหนังสือไปยังประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา เพื่อทบทวนความชอบด้วยกฎหมายของที่มาแห่งกรรมสิทธิ์ที่ดิน ตาม พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  

...


ดังนั้นสโมสรนักศึกษาอุเทนถวายและนักศึกษาปัจจุบัน จึงขอคัดค้านการย้ายอุเทนถวาย และขอให้ธำรงตามพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้เฉพาะกิจการการศึกษาวิชาช่าง โดยมีชื่ออุเทนถวายเช่นเดิม และขอเรียกร้องให้ทางสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี และคณะผู้บริหาร สำนักงานทรัพย์สิน จุฬาฯ หยุดปรับเปลี่ยนการพัฒนาพื้นที่ โดยมุ่งเป็นการรักษาและพัฒนาการอยู่ร่วมกันของพื้นที่เพื่อการศึกษา ที่ควรเป็นสาธารณสมบัติของชาติ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชน แต่มิควรอ้างแค่เพียงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน มาแสวงหาผลประโยชน์กำไรเช่นอดีตที่ผ่านมา ด้วยการขับโรงเรียนที่อยู่คู่กับชุมชนสามย่านและปทุมวันมาทำพื้นที่เชิงพาณิชย์ 


น.ส.อชิรญา กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ ประชาคมอุเทนถวายได้เคยถวายฎีกาขอความเป็นธรรม ขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในประเด็นนี้ และเพื่อเป็นการบรรเทาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชาวอุเทนถวาย ขอให้สภามหาวิทยาลัย อธิการบดี และคณะผู้บริหาร สำนักงานทรัพย์สิน จุฬาฯ ยุติปัญหาด้วยการนำที่ดินพิพาทแปลงนี้ ด้วยการจดทะเบียนเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สำหรับประชาชนใช้ร่วมกันเป็นที่ตั้งสถานศึกษาเท่านั้น และออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง และจัดทำทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์ตามกฎหมายกำหนด โดยมิอาจเปลี่ยนแปลง ยุบ ย้าย ได้อีกต่อไป ขอให้มุ่งเรื่องนิติธรรมเป็นที่ตั้ง รวมทั้งควรตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการและปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อเรียกร้อง โดยแต่งตั้งคณะกรรมการทั้งสองฝ่ายในสัดส่วนเท่ากัน มีประธานและคณะกรรมการฝ่ายที่สาม ที่มาจากบุคคลภายนอก ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นกลางจากรัฐ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางการศึกษา โดยขอให้ระบุกำหนดการแล้วเสร็จอย่างเป็นรูปธรรม

...


ด้านนายภคทัชช กล่าวว่า สำนักจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ รับทราบข้อมูลและเจตนารมณ์ของทางอุเทนถวาย ยินดีนำหนังสือที่ยื่นเสนอให้ผู้บริหารจุฬาฯ ได้พิจารณาต่อไป


จากนั้นเวลา 11.00 น. ตัวแทนศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันอุเทนถวาย เดินทางจากสำนักจัดการทรัพยสิน จุฬาฯ ไปยังกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยใช้เส้นทางถนนพญาไท เลี้ยวซ้ายเข้าถนนโยธี เพื่อปักหลักอภิปรายและขอเข้าพบนางศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการ อว. และส่วนหนึ่งจะเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา เพื่อขอคัดค้านเรื่องดังกล่าวต่อไป 

...


พ.ต.อ.ยิ่งยศ สุวรรณโณ ผกก.สน.ปทุมวัน กล่าวว่า ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบดูแลรักษาความปลอดภัยตลอดเส้นทาง จำนวนหลายร้อยนาย ขณะเดียวกันได้ประสาน สน.ตามเส้นทางที่ขบวนเคลื่อนผ่านให้ช่วยดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด โดยได้กำชับให้นักศึกษาเดินขบวนอยู่บริเวณริมฟุตปาท เพื่อไม่ให้กีดขวางการจราจร แต่หากมีจำนวนมากก็อาจจำเป็นต้องปิดเส้นทางเดินรถหนึ่งช่องทาง รวมถึงขอความร่วมมือผู้เข้าร่วมกิจกรรม ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเคร่งครัด โดยเตรียมความพร้อมระงับเหตุกรณีเกิดความรุนแรง เนื่องจากเป็นสถาบันที่เคยมีเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทมาก่อน