นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ข้อมูลเดือน ม.ค.2567 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 8,197 คน มากกว่าปี 2566 ถึง 1.9 เท่าโดยพบผู้ป่วย 4,286 คน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบผู้ป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุ 5-14 ปี ซึ่งพบมากทางภาคใต้และภาคกลาง ทั้งนี้มีรายงานผู้เสียชีวิตยืนยันแล้ว 13 คน กระจายใน 11 จังหวัด และเสียชีวิตมากสุดในกลุ่มที่อายุมากกว่า 65 ปี
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้เน้นย้ำให้สถานพยาบาลทุกแห่งจ่ายยาทากันยุงให้ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในแผนกผู้ป่วยนอก เพื่อป้องกันการกระจายเชื้อไข้เลือดออกในตัวผู้ป่วยสู่ชุมชน เพราะผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกหากถูกยุงลายกัดสามารถส่งต่อเชื้อไข้เลือดออกให้ผู้อื่นได้ การทายากันยุงในผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจะช่วยตัดวงจรดังกล่าว และลดการระบาดของโรคไข้เลือดออกได้ โดยให้ทาวันละ 1 ซองทุก 6 ชั่วโมง ติดต่อกัน 5 วัน นับจากวันที่ได้รับการวินิจฉัย และต้องขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันสำรวจ และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดจำนวนยุงลายรุ่นต่อไป โดยยึดมาตรการตามมาตรการ 3 เก็บ ได้แก่ เก็บบ้านให้สะอาดปลอดโปร่ง เก็บขยะ และเก็บน้ำคือปิดภาชนะให้มิดชิดป้องกันยุงลายวางไข่ จะช่วยป้องกัน 3 โรค ได้แก่ ไข้เลือดออก ไวรัสซิกา ไข้ปวดข้อยุงลาย นอกจากนี้ ผู้ที่ไม่ป่วยแต่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน หรือละแวกบ้านเดียวกันกับผู้ป่วยก็ต้องทายากันยุงเช่นกัน เพื่อป้องกันยุงกัด.