อาการ “จาม” จากเชื้อ “โควิด-19” ...ข้อมูลวิชาการนำเสนอโดยทีมงานจาก “UCB” สหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการวิจัยใน bioRxiv (11 ม.ค.2567) ศึกษาในหนูทดลอง โดยชี้ให้เห็นว่า PLpro ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งในตระกูล protease เอนไซม์ ในไวรัส SARS-CoV-2 ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 นั้น

เมื่อใส่เข้าไปในจมูกของหนูทดลองจะกระตุ้นให้หนูเกิดอาการจามขึ้นภายใน 14 วินาที...ไวกว่ากลุ่มควบคุมซึ่งใช้เวลา 30 วินาที

นอกจากนี้ จำนวนการจามในระยะเวลา 2 นาทีของหนูที่ได้สัมผัสกับ PLpro นั้นมากกว่ากลุ่มควบคุมถึง 4 เท่า

ทั้งนี้ กลไกการทำให้จามนั้น เกิดจากโปรตีนจากไวรัสนี้ไปกระตุ้นตัวรับ nociceptor ในเซลล์ทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นตัวรับที่ทราบกันดีว่าทำให้เกิดอาการเจ็บปวด (pain) และคัน (itching)

ส่วนคำถามว่าจะทำให้เกิดอาการไอด้วยกลไกเดียวกันหรือไม่นั้น ทีมวิจัยไม่สามารถตอบได้ เพราะไม่แน่ใจว่าหนูจะแสดงอาการไอได้หรือไม่

“โควิดพุ่งกลางดงฝุ่น...” รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ โพสต์ข้อมูลนี้ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)” เปิดประเด็นตอกย้ำอีกว่า

...

“แม้หายจากติดเชื้อช่วงแรก ผลกระทบมากมายที่ตามมาคือ ไอต่อเนื่องหลายเดือน ภูมิแพ้กำเริบ อ่อนเพลียเหนื่อยล้า...ปัญหาความคิดความจำ สมาธิไม่ดี...ปัญหาการนอน นอนไม่หลับ นอนเยอะ เป็นได้ทั้งนั้น...ผมร่วง ผมบาง จะทั้งหัวหรือเป็นหย่อมๆ ใจสั่น ฯลฯ”

โดยแท้จริงแล้วล้วนเป็นผลกระทบจากการติดโควิดที่ทราบกันดี แต่บางอาการหนักกว่าปีก่อนๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง “ไอ” และอาการภูมิแพ้กำเริบที่คนมาเล่าให้ฟังกันมากกว่าเดิม ดังนั้นการป้องกันตัวจึงสำคัญมาก ใส่หน้ากาก ไม่แชร์ของกินของใช้ อยู่ห่างจากคนป่วยไอจามไม่ติดเชื้อหรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุดครับ

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

“PM2.5” รศ.นพ.ธีระ บอกว่า งานวิจัยจากสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ในวารสารโรคภูมิแพ้ Allergy เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ศึกษาในคนที่มีโรคจมูกและไซนัสอักเสบเรื้อรังจำนวนกว่า 300 คน

ชี้ให้เห็นว่า...การสัมผัสกับฝุ่นละออง PM2.5 เป็นระยะเวลานานจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหอบหืดและโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้มากขึ้น 1.5 เท่า

ผลการศึกษานี้ตอกย้ำความจำเป็นสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวในการดูแลป้องกันตนเอง การป้องกันตัวในฤดูฝุ่นเยอะเช่นนี้จึงมีความสำคัญมาก

“ใส่หน้ากากเวลาออกนอกบ้าน...เลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง ปรับมาทำในบ้านแทนใช้เครื่องฟอกอากาศเพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กภายในบ้านและที่ทำงาน ติดตามสถานการณ์อากาศอย่างสม่ำเสมอ”

หลักปฏิบัติข้างต้น ประชาชนทั่วไปก็ควรทำเช่นกัน เพราะความรู้ทางการแพทย์ปัจจุบันได้พิสูจน์ให้เราเห็นความเสี่ยงจากการสัมผัส “PM2.5” ว่าทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้หลากหลายระบบในร่างกาย

...รวมถึง “มะเร็งปอด” ด้วย

อัปเดตการระบาด “โควิด-19” ทั่วโลก ข้อมูลจาก GITHUB ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบัน BA.2.86.x นั้นครองการระบาดหลักทั่วโลก โดย JN.1 (หรือ BA.2.86.1.1) คือสายพันธุ์ที่ตรวจพบมากที่สุด

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีสายพันธุ์ใหม่ๆที่เกิดขึ้นจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่าง JN.1 กับ XBB ซึ่งเคยระบาดเดิมตั้งแต่ปีก่อน แต่ตรวจพบกันในสัดส่วนที่ยังน้อยมาก

อาทิ XDD ที่พบอยู่ราว 3% ในอิตาลีและสเปน, XDK พบราว 5% ในฝรั่งเศส

...

ดังนั้นการระบาดที่ทั่วโลกเผชิญหน้าอยู่นี้ จึงเป็นระลอกที่นำโดย JN.1 เป็นหลัก แตกต่างจากปรากฏการณ์ซุปสายพันธุ์ในช่วงปีกว่า ก่อนหน้านี้ที่มักมีสายพันธุ์ที่หลากหลาย...ความใส่ใจสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ

ป้องกันตัวด้วยการใส่หน้ากาก เลี่ยงที่แออัด ไม่แชร์ของกินของใช้กับผู้อื่นนอกบ้าน และอยู่ห่างจากคนที่มีอาการป่วยไอจาม...หากไม่สบาย ไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก คัดจมูก ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ควรตรวจ ATK ด้วยเสมอ ถ้าติดเชื้อควรหยุดพักรักษาตัวให้หายดีเสียก่อน เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อตัวเอง...คนรอบข้าง

ถ้าป่วย ตรวจได้ผลลบในวันแรกๆ อย่าชะล่าใจ ควรตรวจซ้ำจนถึงวันที่ 4-5 หลังมีอาการป่วย เพราะไวรัสจะพีกช่วงนั้น ทั้งนี้การตรวจแยงโพรงจมูก ถ้าป้ายบริเวณคอหอยด้วย จะมีโอกาสตรวจพบได้มากขึ้น

สอดคล้องกับข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบัน “JN.1” ครองการระบาดทั่วโลก โดยตรวจพบในสัดส่วนถึง 65.5% ณ ปลายปี 2023 ที่ผ่านมา...แนวโน้มของ JN.1 สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในแทบทุกภูมิภาค โดยมีรายงานการตรวจพบแล้วใน 71 ประเทศ

...

ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่ 11 ธันวาคม 2023 ถึง 7 มกราคม 2024 พบว่า มีจำนวนเคสที่ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นถึง 40% และป่วยรุนแรงรักษาตัวในไอซียูเพิ่มขึ้น 13%

หันกลับมามองสถานการณ์เมืองไทยประสบการณ์ใกล้ตัวสะท้อนว่า...ยังคงติด (โควิด) กันเพียบนะครับ ทั้งในครัวเรือน สถานศึกษาและที่ดูจะเยอะมากคือ สถานที่ทำงาน จากกินดื่มร่วมกัน งานเลี้ยง

“ติดแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะติดใหม่หรือติดซ้ำ ไม่ได้ชิลแค่หวัด แต่เสี่ยงป่วยรุนแรงได้ ลงปอดได้ ตายได้ และเสี่ยงลองโควิดอีกด้วย”

สุดท้ายนี้ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ มองว่า การศึกษาจะช่วยลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตของประชากร ผลการทบทวนงานวิจัย ทั่วโลกอย่างเป็นระบบและวิเคราะห์อภิมาน โดยรวบรวมงานวิจัยกว่า 40 ปีที่ผ่านมา เผยแพร่ในวารสาร The Lancet Public Health (23 ม.ค.2567) พบว่า

ระดับการศึกษาที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีจะช่วยทำให้ลดความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากทุกสาเหตุได้ราว 1.9% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 1.8%–2.0%)

ทั้งนี้ ผลในการลดความเสี่ยงจะมากกว่าในกลุ่มคนอายุ 18-49 ปี โดยจะลดได้ถึง 2.9% ในขณะที่ในกลุ่มคนสูงอายุมากกว่า 70 ปี จะมีผลในการลดความเสี่ยงน้อยกว่า โดยลดได้ราว 0.8%

...

...ผลการศึกษานี้ชี้ให้เราเห็นถึงความสำคัญของระดับการศึกษาของคนในสังคม สอดคล้องกับความรู้ที่เราทราบมาก่อนหน้านี้แล้วว่า คนที่มีความรู้น้อยจะมีโอกาสที่จะมีพฤติกรรมเสี่ยงด้านต่างๆ มากกว่าคนที่มีความรู้สูง

อย่างไรก็ตาม...การมีความรู้ไม่ได้การันตี 100% เพราะพฤติกรรมของคนเราในชีวิตประจำวันนั้น ส่วนใหญ่จะมีอิทธิพลจากความคุ้นเคย เคยชิน อารมณ์ รวมถึงปัจจัยแวดล้อมทางสังคมอื่นๆด้วย อาทิ โฆษณา ประชาสัมพันธ์ แรงชักชวนจากคนใกล้ชิด...เพื่อนฝูง

ดังนั้นแต่ละ “ประเทศ” จึงต้องทำทั้งเรื่องการให้ “ความรู้” หรือ “การศึกษา” ที่ดีแก่ประชาชน ควบคู่ไปกับการจัดการปัจจัยแวดล้อมต่างๆทางสังคมที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ดีต่อสุขภาพ.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม