รมว.ดิจิทัลฯ เปิดกิจกรรมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ Hackulture 2023 Illuminate Thai อัปเวลแฟชั่นไทย ด้วยดิจิทัล เพื่อธำรงรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เพื่อให้เห็นคุณค่า มรดกวัฒนธรรมของชาติ คงอยู่ได้อย่างยั่งยืน โดยจัดแข่งขัน 2 ประเภท


เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 67 สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดการแข่งขันรอบสุดท้าย Grand Pitching พร้อมตัดสินและมอบรางวัลให้กับ 12 ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจากกิจกรรมแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ "Hackulture 2023 illuminate Thai อัปเวลแฟชั่นไทย ด้วยดิจิทัล" ซึ่งเชิญชวนนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ประชันไอเดีย แฮกแฟชั่นไทยด้วยวัฒนธรรมและดิจิทัลคอนเทนต์ ปลุกพลัง Soft Power ไทย ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 400,000 บาท และโอกาสนำเสนอผลงานต่อผู้บริหารองค์กรด้านดิจิทัลชั้นนำของประเทศ ลุ้นเติบโตเป็น Start-Up ในอนาคต โดยทีมที่คว้ารางวัลสูงสุดจากการแข่งขันครั้งนี้ ได้แก่ ทีม Fash.Design รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

...


นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประธานในงานฯ กล่าวเปิดงานว่า การจัดกิจกรรมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ "Hackulture 2023 Illuminate Thai อัปเวลแฟชั่นไทย ด้วยดิจิทัล" มุ่งเน้นในด้านแฟชั่น เพราะอุตสาหกรรมแฟชั่นของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เครื่องหนัง เครื่องประดับ อัญมณี หรือธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ ดังนั้นการถ่ายทอดแฟชั่นไทยสู่รูปแบบดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีหรือสื่อมัลติมีเดีย ถือเป็นแนวทางในการสร้าง Soft Power ให้กับประเทศไทย การจัดกิจกรรมครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการธำรงรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เพื่อให้ทุกคนเห็นคุณค่าและหวงแหนมรดกวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งส่งเสริม พัฒนาบุคลากรด้าน Digital Content เตรียมพร้อมรองรับอุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศ


นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สดช. มีพันธกิจในการกำหนดทิศทางและวางยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ได้ตระหนักถึงการกระตุ้นให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้อยู่ในรูปแบบ Digital Content โดยมองว่า การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมให้อยู่ในรูปแบบเนื้อหาดิจิทัล หรือ Digital Content อย่างสร้างสรรค์ เป็นการผลิตสื่อดิจิทัลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ช่วยธำรงรักษามรดกทางวัฒนธรรมของไทยให้คงอยู่ได้อย่างยั่งยืน และทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น


Hackulture 2023 illuminate Thai อัปเวลแฟชั่นไทย ด้วยดิจิทัล จัดแข่งขัน 2 สาขาด้วยกัน คือ 1. สาขาเทคโนโลยี 2. สาขาสื่อมัลติมีเดีย โดยแต่ละสาขา จัดแข่งขัน 2 ระดับ ได้แก่ ระดับนักเรียน นิสิต นักศึกษา (มัธยม / ปวช. / ปวส. / ปริญญาตรี) และระดับประชาชนทั่วไป (ประชาชนทั่วไป / ปริญญาโท / ปริญญาเอก)

กิจกรรมดังกล่าว เปิดรับผลงานระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม-30 กันยายน 2566 มีผู้ส่งผลงานทั้งหมด 60 ทีม ซึ่งมีการคัดเลือกจำนวน 40 ทีม เพื่อเข้าสู่กิจกรรม Boot Camp 3 วัน (27-29 ตุลาคม 2566) ตามด้วยการปั้นผลงานจริงร่วมกับ Mentor จนสำเร็จ และนำเสนอผลงาน Pitching ครั้งแรกต่อคณะกรรมการ (16-17 ธันวาคม 2566) ซึ่งผ่านการคัดเลือกจนได้ 12 ทีมสุดท้าย เพื่อร่วมแข่งขันในรอบ Grand Pitching โดยแต่ละสาขา มีทีมเข้ารอบสุดท้าย ในแต่ละระดับ จำนวน 3 ทีม รวมทั้งสิ้น 12 ทีม ผลการตัดสิน มีรายละเอียดดังต่อไปนี้


สาขาเทคโนโลยี ระดับ นักเรียน นิสิต นักศึกษา (มัธยม / ปวช. / ปวส. / ปริญญาตรี) รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม 4DEV มหาวิทยาลัยสวนดุสิต รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ทีม The Board ThaiGuideGame สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง / มหาวิทยาลัยศรีปทุม รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ Metempta มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระดับประชาชนทั่วไป รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Fash.Design รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ทีม Fashion Verse รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ ทีม DM-TRU Warrior

...

สาขาสื่อมัลติมีเดีย ระดับ นักเรียน นิสิต นักศึกษา (มัธยม / ปวช. / ปวส. / ปริญญาตรี) รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Y2Thai มหาวิทยาลัยศิลปากร รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ทีม Thai Style มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ ทีม Cocoon มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระดับประชาชนทั่วไป รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม CrowdMart Thailand รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ทีม FA DPU รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ ทีม Moody (มูดี้)  

ทีมที่ได้รับคะแนนสูงสุดจากผลงานทั้ง 12 ทีม ได้แก่ ทีม Fash.Design ซึ่งส่งผลงานเข้าแข่งขันในสาขาเทคโนโลยี ระดับประชาชนทั่วไป นำเสนอ แพลตฟอร์มออนไลน์ช่วยเหลือผู้ประกอบการชุดไทยท้องถิ่นและชุดไทยดั้งเดิม ที่ขาดทักษะด้านออนไลน์และภาษาต่างประเทศ ด้วยเทคโนโลยี AI สร้าง Virtual Model และดิสเพลย์ที่สวยงาม แปลได้ 70 ภาษา และเชื่อมต่อ e-commerce กว่า 30 แพลตฟอร์มทั่วโลก ปลุกพลัง Soft Power แฟชั่นไทย ก้าวไกลสู่ตลาดสากล ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้งนี้ สามารถติดตามรายละเอียดทั้งหมดได้ที่ www.hackulture.com

...