365 วัน ในปี “กระต่าย 2566” ที่เหลือเวลาอีกเพียงชั่วข้ามคืน ก็จะก้าวไปสู่ศักราชใหม่ ปี “มังกร 2567” พร้อมกับแวดวงการศึกษาไทยที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักช่วงส่งท้ายปี

จากการประกาศ ผลประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA (Programme for International Student Assessment) ปี 2022 ที่ดำเนินการโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) ซึ่งมีการประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี ใน 3 ด้าน ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์

สำหรับครั้งนี้มีนักเรียนเข้าร่วมการประเมินประมาณ 690,000 คน เป็นตัวแทนของนักเรียนอายุ 15 ปี ประมาณ 29 ล้านคน จาก 81 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ โดยประเทศไทยมีนักเรียนกลุ่มตัวอย่างเข้าร่วมการประเมิน 279 โรงเรียนในทุกสังกัด รวม 8,495 คน ได้ทำแบบทดสอบและแบบสอบถามด้วยคอมพิวเตอร์ผ่านทางแฟลชไดรฟ์ รวมถึงการเก็บข้อมูลจาก

ผู้บริหารโรงเรียนผ่านทางแบบสอบถามออนไลน์ ซึ่งผลการประเมิน PISA 2022 พบว่า นักเรียนจากประเทศสิงคโปร์มีคะแนนเฉลี่ยทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่านสูงกว่าทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ที่เข้าร่วมการประเมินในครั้งนี้ ส่วนนักเรียนไทยพบว่า คะแนนเฉลี่ยของประเทศไทยทั้ง 3 ด้านลดลงจาก PISA ปี 2018

...

ส่งผลให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ถือเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการศึกษาชาติถูกตำหนิอย่างหนัก ว่าล้มเหลวในการนำพาการศึกษาชาติก้าวไปสู่แถวหน้าในระดับนานาชาติ ลามไปถึงความเชื่อมั่นต่อเจ้ากระทรวงอย่าง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ และ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ “มือถึง” ที่จะนั่งกุมบังเหียนกระทรวงที่เป็นหัวใจสำคัญต่ออนาคตประเทศหรือไม่

หันมาดูงานการศึกษาชาติในภาพรวมหลังรัฐบาล “เศรษฐา 1” เข้ามาบริหารประเทศ ถือว่าพลิกความคาดหมายของหลายๆคน โดยเฉพาะในตำแหน่งเสมา 1 ที่ได้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน น้องชายแท้ๆของ นายเนวิน ชิดชอบ ผู้ที่ถูกมองว่าอยู่เบื้องหลังและเป็นคีย์แมนคนสำคัญของพรรคภูมิใจไทย โดยหลายคนมองว่าเป็นตัวแทนที่นายเนวินส่งมานั่งขัดตาทัพ แทนลูกชายหัวแก้วหัวแหวนที่เตรียมปั้นขึ้นมานั่งในตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ยังขาดคุณสมบัติเรื่องอายุไม่ครบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดจึงต้อง

ส่งมวยแทนอย่าง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ขึ้นเวทีไปก่อน ในขณะที่ตำแหน่ง รมช.ศึกษาธิการ เป็นของ นายสุรศักดิ์ สส.พระนครศรีอยุธยา โควตาจากบ้านใหญ่พระนครศรีอยุธยาที่ขน สส. เข้าสภาได้ตามเป้าที่พรรคกำหนด

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ

ด้วยความที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ไม่เคยผ่านการบริหารงานด้านการศึกษามาก่อน จึงถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสม อีกทั้งกังวลกับสถานการณ์การศึกษาชาติที่อาจจะย่ำแย่หนักยิ่งกว่าเก่าไปอีก เพราะได้คนไม่ตรงกับงานเข้ามานั่งกำกับดูแลกระทรวงที่เป็นอนาคตของชาติ

เสียงสะท้อนที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะค้างคาใจ “ครูอุ้ม” พล.ต.อ.เพิ่มพูน ไม่น้อย โดยในวันที่ 14 ก.ย.2566 ทันทีที่เดินทางเข้ามาทำงาน ในวังจันทรเกษมอย่างเป็นทางการ พล.ต.อ.เพิ่มพูน จึงประกาศชัดในวงแถลงข่าว ว่า “ถึงผมจะไม่ได้เป็นนักการศึกษาโดยตรง แต่ผมก็ผ่านการบริหารงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มาก่อน และสามารถดึงนักการศึกษาที่เก่งๆเข้ามาเป็นทีมที่ปรึกษาเพื่อขับเคลื่อนงานการศึกษาชาติได้ จึงไม่อยากให้หลายฝ่ายต้องมากังวลเรื่องนี้ และยืนยันว่าการดำเนินงานของ ศธ.จะอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งนำนโยบายของรัฐบาลมาขับเคลื่อน เพื่อร่วมกันยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ภายใต้แนวทางการทํางาน “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” ที่สำคัญจะส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กนักเรียนได้ “เรียนดีมีความสุข” เพราะเล็งเห็นว่าการเรียนการสอนจำเป็นต้องเริ่มจากความสุขทั้งผู้เรียน ผู้สอน และผู้ปกครอง เมื่อมีความสุขจะส่งผลให้การเรียนดีขึ้น จึงอยากให้เกิดความร่วมมือกันทั้งผู้บริหาร ครูผู้สอน บุคลากรทางการศึกษาผู้ปกครองและชุมชน ภายใต้แนวคิดในการจัดการศึกษา 2 ข้อหลัก คือ การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต”

นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล
นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล

...

ขณะที่นโยบายที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ได้ เน้นหนักเพื่อลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา มีด้วยกัน 4 ด้าน ได้แก่ 1.ปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดขั้นตอนมุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ด้วยการปรับระบบการประเมินวิทยฐานะที่เน้นตามสภาพจริง ลดการทําเอกสาร-ขั้นตอนการประเมิน ไม่ซับซ้อน และเป็นธรรม 2.ครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น สามารถโยกย้ายกลับภูมิลำเนาด้วยความโปร่งใส ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง 3.แก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ด้วยการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการวางแผนการใช้เงินและการเก็บออมเงิน น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีพ รวมทั้งเร่งช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ NPL และ 4. จัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการ 1 ครู 1 Tablet ด้วยการสนับสนุน จัดหาอุปกรณ์ในการช่วยจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงระบบออนไลน์รองรับการใช้งานให้เพียงพอกับจำนวนครูผู้สอน

ส่วนนโยบายเน้นหนักเพื่อลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง มีด้วยกัน 6 ด้าน 1. เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา Anywhere Anytime เรียนฟรีมีงานทํา “ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” มีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษา (1 นักเรียน 1 Tablet) ด้วยการส่งเสริมบทบาทภาคเอกชน (สถานประกอบการ) ให้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนและจัดการศึกษา โดยให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมในระหว่างการเรียนหรือฝึกอาชีพ นำแพลตฟอร์มการเรียนรู้แห่งชาติมาผสมผสานการเรียนการสอนแบบเดิมในห้องเรียนกับการเรียนการสอนออนไลน์ (Hybrid Education) ผู้เรียน จะมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน และขยายการเรียนรู้ไปถึงประชาชนทุกช่วงวัยทั่วประเทศให้มีโอกาสทางการศึกษา เข้าถึงเนื้อหาสาระที่มีคุณภาพ ตลอดจนพัฒนาการศึกษาผ่านระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank System) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนและประชาชนได้เรียนและทํางานไปในเวลาเดียวกัน

...

2.ขับเคลื่อน 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ ด้วยการจัดให้มีการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพต้นแบบอย่างน้อย 1 โรงเรียนในแต่ละอำเภอหรือเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อนำร่องการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพ สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน สื่ออุปกรณ์และงบประมาณในการปรับปรุงสภาพแวดล้อม อีกทั้งจัดสรรงบประมาณอย่างต่อเนื่องทุกปีงบประมาณ 3.ระบบแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิต ด้วยการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรกระบวนการเรียนรู้ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงโลก โดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกระดับการศึกษาให้มีทักษะที่เหมาะสมและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตและมีหลักสูตรที่ตอบสนองต่อความสนใจและความต้องการของผู้เรียน เพื่อให้มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทําสอดคล้องกับความต้องการของตลาด แรงงาน อีกทั้งจัดให้มีระบบแนะแนวตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับมัธยมศึกษา

4.การจัดทําระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) ผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่ม เพื่อรับประกาศนียบัตรในการประกอบอาชีพ ด้วยการนำหน่วยกิตที่สะสมมาใช้เทียบคุณวุฒิรับรองมาตรฐานวิชาชีพเพื่อรับประกาศนียบัตรในการประกอบอาชีพ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสายอาชีวศึกษาสามารถขอการรับรองมาตรฐานวิชาชีพได้ระหว่างที่กำลังศึกษาอยู่ในระบบ เพื่อให้ผู้เรียนมีทางเลือกที่จะมีรายได้ระหว่างเรียนควบคู่กับการทํางานไปพร้อมกัน 5.การจัดทําระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษา และประเมินผลการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศ ไม่ต้องเสียเวลาเรียนในระบบ 6.มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทํา (Learn to Earn) ด้วยการจัดการอาชีวศึกษาระดับวิชาชีพอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาสมรรถนะกำลังคนระดับเทคนิค โดยมุ่งเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน

...

และเพื่อให้การดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าวถูกผลักดันสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม พล.ต.อ.เพิ่มพูน ได้มีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของ ศธ. เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ไปสู่แผนการดำเนินงานตามเป้าหมาย รวมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา จำนวน 5 ชุด

หากมองนโยบายที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ได้ประกาศเป็นจุดเน้นเดินหน้า ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และลดภาระนักเรียนและผู้ปกครองนี้ แน่นอนว่าบางเรื่องเป็นนโยบายเก่าจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน มองว่าควรได้รับการผลักดันต่อเนื่อง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู เป็นต้น บางเรื่องถูกนำนโยบายเก่าจากรัฐบาลก่อนๆมาปัดฝุ่นใหม่ เช่น 1 นักเรียน 1 Tablet และหลายเรื่องก็เป็นนโยบายใหม่ถอดด้าม

ทีมการศึกษา มองว่า เกือบ 4 เดือน ที่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้ร่มเงาของพรรคภูมิใจไทยได้ประกาศนโยบายขับเคลื่อนการศึกษาชาติ หากมองในแง่ของความตั้งใจก็ต้องถือว่ามีความพยายาม แต่ในมุมมองของเนื้องานที่ออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมนั้น คงได้คะแนนแบบคาบเส้นเฉียดฉิว เพราะยังไม่มีอะไรที่เห็นเป็นชิ้นเป็นอันที่ชัดเจน งานในบางเรื่องยังคงเกาะกระแสทำแบบฉาบฉวยไม่เกิดผลที่ยั่งยืน แต่ก็คงต้องให้เวลาและโอกาสในการทำงาน เพราะเกือบ 4 เดือนที่ผ่านมานั้นอาจจะเร็วไปที่จะพิสูจน์ความสำเร็จได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกระดับผลการประเมิน PISA ที่จะประเมินกันอีกครั้งในปี 2025 ซึ่ง “ครูอุ้ม” ได้ประกาศเอาไว้ล่วงหน้าแล้วว่าหากคะแนนนักเรียนไทยไม่ดีขึ้นพร้อมจะพิจารณาตัวเอง

ก็ได้แต่หวังว่าในปี “มังกรตื่น” 2567 จะเป็นปีของการขับเคลื่อนงานการศึกษาชาติอย่างจริงๆจังๆ และเป็นบทพิสูจน์ฝีมือรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทยที่กุมบังเหียนงานการศึกษาชาติแบบเบ็ดเสร็จพรรคเดียว

จะสามารถผลักดันการศึกษาชาติให้ “พลิกฟื้น” หรือ “ฟุบยาว”...!!!

ทีมการศึกษา

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่