ผู้บริหารโรงแรมเดอะบาซาร์ แบงค็อก พร้อมบุคคลที่เกี่ยวข้อง นิมนต์พระทำพิธีย้าย "ครูกายแก้ว" ออกจากที่ตั้งเดิมแล้ว พร้อมกับ "รูปปั้นจิ้งจอกเก้าหาง" โดยจะย้ายรูปปั้นไปที่ด้านหลังโรงแรมก่อน ย้ำไม่ได้ลบหลู่ ให้ไปอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม
เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2566 ที่ โรงแรม เดอะ บาซาร์ แบงค็อก เมื่อนายไพโรจน์ ทุ่งทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สวนลุมไนท์บาซาร์ รัชดาภิเษก จำกัด เจ้าของโรงแรม เดอะ บาซาร์ แบงค็อก และผู้บริหารได้นิมนต์ พระภิกษุ 5 รูป มาทำพิธีทางศาสนา ก่อนที่จะสวดถอดถอนดวงวิญญาณที่อยู่ในรูปปั้น ทั้งหมด 4 มุมของฐานรูปปั้น เมื่อสวดเสร็จ ได้ยกเสาที่อยู่ทั้ง 4 มุม ออก จากนั้นได้ตักทรายออกจากกระถาง ถือเป็นอันเสร็จพิธี เพื่อทำการเคลื่อนย้ายรูปปั้นทั้งหมด 8 รูป คือ ครูกายแก้ว, ขุนแผน, พระแม่อุมา, พระพรหม, จิ้งจอกเก้าหาง, เทพเห้งเจีย, เทพนาจา และเทพเจ้าไถ่ซิงเอี๊ย ก่อนเคลื่อนย้ายรูปปั้นทั้งหมดไปไว้ที่ด้านหลังโรงแรม ใช้ผ้าคลุมปิด เพื่อให้เจ้าของรูปปั้นทั้งหมดมาติดต่อรับคืนกลับไป
นายไพโรจน์ กล่าวว่า ตอนนี้กำลังเร่งเคลียร์ปัญหารูปปั้นครูกายแก้ว หลังการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ได้สั่งให้ย้ายออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน หรือภายในวันที่ 30 ธ.ค. 66 พร้อมกับให้บริษัทจ่ายค่าปรับเป็นจำนวนเงินกว่า 1.3 ล้านบาท เนื่องจากในพื้นที่บริเวณดังกล่าวห้ามมีการก่อสร้างใดๆ ตามกฎหมายควบคุมอาคาร โดยได้จ่ายค่าปรับไปแล้วเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา
...
ขณะทำการย้ายรูปปั้นอยู่นั้น นายเทพฤทธิ์ แป้นสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัทครูกายแก้ว เป็นเจ้าของรูปปั้นทั้งหมด ได้เผชิญหน้ากับ ทนายความของนายไพโรจน์ ในนามบริษัท แบงค์ค็อก ไนท์บาซาร์ ในฐานะผู้ทำสัญญาเช่าพื้นที่กับการทางรถไฟ โดยมีการเจรจานานกว่า 30 นาที โดยทนายความชี้แจงว่า จำเป็นต้องย้ายออก เนื่องจากพื้นที่เป็นของการรถไฟ และผู้บริหารชุดเก่าที่มาทำหน้าที่ในช่วงฟื้นฟูกิจการ ไม่สามารถให้เช่าช่วงได้ เพราะบริษัทแบงค์ค็อก ไนท์บาซาร์ ไม่ทราบเรื่องการเช่าช่วงต่อ เป็นการทำผิดสัญญา
ต่อมาที่ห้องประชุมชั้น 2 โรงแรม เดอะ บาซาร์ แบงค็อก นายไพโรจน์ ได้แถลงข่าวกับสื่อมวลชนว่า ในช่วงวิกฤติโควิด ตนมีร่างกายอ่อนแอ เนื่องจากติดโควิด อยู่ในกลุ่ม 608 คิดว่าจะไม่รอดจากการติดโควิด ทั้งติดเชื้อในกระแสเลือด มีภาวะไตวาย มอบหมายให้นายชาญ (สงวนนามสกุล) เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการกับศาลล้มละลายกลาง เมื่อมอบอำนาจแล้วนายชาญจึงมีอำนาจเด็ดขาด โดยมีการนำรูปปั้นไดโนเสาร์ 4 ตัวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของโรงแรมไปขายให้ร้านรับซื้อของเก่าที่จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 2.4 ล้านบาท แต่มีเงินเข้าบริษัทเพียง 2 แสนบาท และมีการปลดพนักงานเก่าตั้งแต่เมื่อครั้งอยู่ที่สวนลุมไนท์บาซาร์ ออกไปหลายคน กระทั่งมีการให้เช่าพื้นที่เพื่อนำรูปปั้นครูกายแก้วเข้ามา ตนได้ไปยื่นฟ้องศาลว่าการทำแผนฟื้นฟูดังกล่าวไม่สุจริต และขอให้ศาลมีคำสั่งให้ตนกลับมาเป็นผู้บริหารเหมือนเดิม ก่อนศาลมีคำสั่งให้ตนกลับมาเป็นผู้บริหารเช่นเดิม เพราะตนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 80% โดยตนกลับมาบริหารเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อปรับปรุงโรงแรมให้กลับมาทันสมัยขึ้น
นายไพโรจน์กล่าวว่า ในส่วนการย้ายครูกายแก้วออกจากพื้นที่ ตนไม่ได้ลบหลู่ ได้ทำพิธีสงฆ์และเคลื่อนย้ายครูกายแก้วไปอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม ตนได้ให้เวลาแก่เจ้าของรูปปั้นโดยการยื่น notice ไปแล้ว แต่ไม่มีใครแสดงตัว โดยให้เวลามาถึง 15 วัน จึงทำการเคลื่อนย้ายในวันนี้ โดยบริเวณดังกล่าว เป็นความผิดตามกฎหมายพระราชบัญญัติกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับถนนรัชดาภิเษกห้ามมิให้บุคคลใดก่อสร้างอาคารพาณิชย์ ตึกแถว อาคารขนาดใหญ่ โรงมหรสพ คลังสินค้า ภายในระยะ 15 เมตร จากถนนทั้งสองฟากของถนนรัชดาภิเษก
...
นายไพโรจน์ กล่าวว่า ทั้งนี้ในการทำสัญญาเพื่อนำครูกายแก้วมาตั้งนั้น บริษัท แบงค์ค็อก ไนท์บาซาร์ ซึ่งเป็นผู้ทำสัญญากับการรถไฟ ไม่เคยเห็นรับรู้เรื่องสัญญาดังกล่าวมาก่อน ตนเป็นผู้ออกแบบโรงแรมและเข้าใจเรื่องข้อกฎหมายมาตั้งแต่ต้น ตนจึงต้องออกมาแสดงความคิดเห็นว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการตั้งวางครูกายแก้ว บริเวณด้านหน้าโรงแรม ยืนยันว่าตนไม่ได้เป็นคนนำมา ไม่ใช่คนสร้างครูกายแก้ว แล้วตอนนี้ได้ทำหน้าที่ในการเคลื่อนย้ายดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว
...
ส่วนเรื่องความขัดแย้งที่จะมีขึ้น การฟ้องร้องกัน ตนไม่รู้สึกกังวลเพราะอะไรที่ไม่ถูกต้อง ต้องทำให้ถูกกฎหมาย ตนทำตามเจ้าของที่ คือการรถไฟแห่งประเทศไทยและทำตามคำสั่งศาล ตนต้องสู้มาทั้งชีวิตแล้วถ้าจะสู้อีกแค่นี้คงไม่เป็นไร จากนี้พื้นที่ตรงนั้นก็จะจัดทำให้เป็นพื้นที่สีเขียวให้เด็ก ประชาชนเข้ามาใช้บริการได้ ให้รถผ่านในช่วงเวลารถติดขัดบริเวณทางแยกรัชดา-ลาดพร้าว ได้