ฟาร์มต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ระดับเอเชีย จับมือ บริษัท ไปรษณีย์ไทยฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.หอการค้า บูรณาการความร่วมมือด้านโลจิสติกส์และวิชาการ เพื่อผลักดัน และยกระดับสมุนไพรไทยสู่ตลาดการค้าโลก


เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 66 ดร.พีระ อุดมกิจสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไปรษณีย์ไทยฯ และคณะ นายณัฐพล ศรีทอง รองกรรมการผู้จัดการด้านปฏิบัติการ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้แก่ ดร.มณิสรา บารมีชัย คณบดี ดร.ภคพงศ์ อมรกุล รองคณบดีฝ่ายวิชาการ และ ดร.วรภัทร กอแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า เข้าเยี่ยมชม พรีเมียร์ สมาร์ท ฟาร์ม (Premier Smart Farm) และวิสาหกิจชุมชนไทยเฮิร์บเซ็นเตอร์ โดยมี นายธวัช จรุงพิรวงศ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ เป็นผู้นำเยี่ยมชม และให้ความรู้การผลิตกัญชาทางการแพทย์ และการผลิตสมุนไพร 'ผลไพร' ได้แก่ ยาน้ำมันนวดผลไพร ยาดมสมุนไพรผลไพร และยาหม่องผลไพร ซึ่งเป็นการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อนำไปสู่การบูรณาการความร่วมมือด้านโลจิสติกส์และด้านวิชาการเพื่อผลักดัน และยกระดับสมุนไพรไทยสู่ตลาดการค้าโลก

 

...

นายธวัช จรุงพิรวงศ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนไทยเฮิร์บเซ็นเตอร์ กล่าวว่า พรีเมียร์ สมาร์ท ฟาร์ม เป็นฟาร์มต้นแบบที่สำคัญในการผลิตกัญชาทางการแพทย์ (Medical Cannabis) ซึ่งจะสามารถนำไปใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการน่าเชื่อถือ และปลอดภัยต่อประชาชน โดยฟาร์มได้รับการรับรองมาตรฐาน GACP (Good Agricultural and Collection Practices for the Medical Cannabis Industry) แห่งแรกในทวีปเอเชีย ซึ่งแนวทางของวิสาหกิจชุมชนไทยเฮิร์บเซ็นเตอร์นั้นได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อสร้างกรอบการทำงานเหนือระดับเพียงหนึ่งเดียวเพื่อให้มั่นใจในคุณภาพที่เหมาะสมและสม่ำเสมอในการเพาะปลูก และการผลิตพืชสมุนไพรและสารสมุนไพร เพื่อปรับปรุงคุณภาพของพืชสมุนไพรที่ใช้ในยาสมุนไพรในตลาดการค้า และอุตสาหกรรมกัญชาทางการแพทย์ต่อไปในอนาคต

 

"น่ายินดีเป็นอย่างมากที่ขณะนี้ทางพรีเมียร์ สมาร์ท ฟาร์ม โดยวิสาหกิจชุมชนไทยเฮิร์บเซ็นเตอร์ ได้ดำเนินการปลูกกัญชาทางการแพทย์ตามมาตฐานระดับสากล และผ่านการรับรองมาตรฐานการปลูกและเก็บเกี่ยวที่ดี (Good Agricultural and Collection Practices for the Medical Cannabis Industry – GACP Version 2.0/2023) จากสถาบัน SGS ประเทศโคลอมเบีย เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่ผ่านมา และถือเป็นฟาร์มปลูกกัญชาทางการแพทย์แห่งแรกในทวีปเอเชียที่ผ่านการรับรองมาตรฐานดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ เรายังได้มุ่งมั่นที่จะผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยคุณภาพ 'ผลไพร' เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน พร้อมวางแผนพัฒนาสมุนไพรอื่นๆ เพิ่มเติมในปี 2567"

 

ประธานวิสาหกิจชุมชนไทยเฮิร์บฯ กล่าวเพิ่มว่า มาตรฐาน GMP PIC/S คือ แนวทางปฏิบัติในการผลิตยา ด้วยข้อบังคับที่ครอบคลุมจะช่วยรับประกันว่ายาที่ผลิตนั้นมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัย ตรงตามมาตรฐานที่กำหนด เป็นมาตรฐานที่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในการผลิตยาปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตยา (Good Manufacturing Practice) ได้อย่างถูกต้อง และสอดคล้องกับ Pharmaceutical Inspection Co-operation Scheme (PIC/S) และนอกจากจะมุ่งมั่นผลิตกัญชาทางการแพทย์แล้วยังมีความพยายามที่จะยกระดับการผลิตกัญชาทางการแพทย์ ตลอดจนผลิตภัณฑ์สมุนไพรผลไพรเพื่อจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ นับเป็นการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งนี้เพื่อสร้างโอกาสเติบโตทางธุรกิจ ซึ่งในส่วฟาร์มกัญชาทางการแพทย์ได้รับการตอบรับและให้ความสนใจของธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องการศึกษาเรียนรู้ตลอดจนร่วมกันเดินหน้าในการสร้างอุตสาหกรรมกัญชาทางการแพทย์ให้มีคุณภาพในอนาคต ขณะที่ผลิตภัณฑ์สมุนไพรผลไพร ได้เริ่มทดลองให้ผู้บริโภคได้ใช้ และได้รับความสนใจเป็นอย่างมากทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นการขอซื้อซ้ำ และบอกต่อหลังจากได้ทดลองใช้แล้ว 

...

 

"เรามีเป้าหมายที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีการผลิตกัญชาทางการแพทย์ที่มีองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญที่ทันสมัย เชื่อว่าจะมีบทบาทสำคัญต่อการผลักดันการผลิตกัญชาทางการแพทย์ ทั้งในไทยและในระดับเอเชีย ซึ่งรวมทั้งสมุนไพรอื่นๆ รวมทั้งผลิตภัณฑ์สมุนไพร 'ผลไพร' และเรายินดีมากที่ทางบริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้เกียรติเข้าเยี่ยมชม พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งเพื่อนำไปสู่การบูรณาการความร่วมมือด้านโลจิสติกส์และด้านวิชาการเพื่อผลักดัน และยกระดับสมุนไพรไทยสู่ตลาดการค้าโลกต่อไปในอนาคต" นายธวัช กล่าว.