เซ็นลงนามกฎกระทรวงแล้วสำหรับ “นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567” ในการขยายเวลาให้สถานบริการทุกท้องที่ทั่วประเทศสามารถเปิดบริการในคืนวันที่ 31 ธ.ค.2566 ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ “เคาต์ดาวน์ยาวยันสว่าง” จนถึงเวลา 06.00 น.ของวันที่ 1 ม.ค.2567
ตามที่ “รัฐบาลเศรษฐา 1” มอบหมายให้ “กระทรวงมหาดไทย” เป็นแม่งานหลักในการออกข้อกำหนดการเปิดปิดสถานบริการ “สนับสนุนการท่องเที่ยว” โดยกรมการปกครองได้ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2566 เสนอ ครม.ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 15 ธ.ค.2566 แล้วนั้น
นับเป็นมิติใหม่กระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำให้ “นักวิชาการด้านความปลอดภัยบนท้องถนน” ต่างกังวลกับการขยายเวลาเปิดสถานบริการครั้งนี้ที่อาจสร้างปัญหามากมาย โดยเฉพาะการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 เนื่องจากความไม่พร้อมทั้งในส่วนของพื้นที่ คนทำงานด้านบริการ และเจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลก็ยังมีน้อยอยู่ด้วย
...
สะท้อนปัญหาผ่าน นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผจก.ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน บอกว่า ในช่วงฤดูหนาวของไทยแบบนี้ “มักเป็นช่วงไฮซีซันของการท่องเที่ยว” ผู้ประกอบการ หรือธุรกิจภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว มักจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดทั้งโปรโมตและการจัดบูธกิจกรรมต่างๆ
ทว่าในช่วงปีใหม่นี้ “ครม.มีมติหยุดติดต่อกันยาว 4 วัน” เพื่อชักชวนให้คนไทยหันออกมาเดินทางท่องเที่ยวในประเทศกัน “กระตุ้นเกิดการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่” อันเป็นกลไกการสร้างงานกระจายรายได้ให้ประชาชนและยังเป็นการตอบโจทย์ให้เห็นถึงเศรษฐกิจมีความคึกคักมากยิ่งขึ้น
ปัญหามีต่อว่า “คนบางส่วนยังวางแผนเดินทางกลับภูมิลำเนา” ทำให้วันหยุดติดต่อกันหลายวันนี้เป็นช่วงของประชาชนออกเดินทางช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน “ย่อมส่งผลให้รถสะสมอยู่บนท้องถนนมากมาย” จนการจราจรติดขัดส่งผลให้ผู้ขับขี่เหนื่อยล้าจากการหักโหมอดหลับอดนอนเร่งทำงานจนพักผ่อนไม่เพียงพอ
เมื่อเป็นเช่นนั้นมักนำมาสู่ “การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน” ที่ปรากฏให้เห็นถี่มากขึ้นในปลายปี สาเหตุหลักหนีไม่พ้นมาจากการขับรถเร็ว ไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย เมาแล้วขับ ทำให้มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตจำนวนมาก
ทว่าหากดูตาม “แบบแผนการเกิดเหตุรายเดือน seasonal variation” ในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนช่วงพีกสูงสุดจะเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ย.-ม.ค.เพราะเป็นช่วงเริ่มงานเทศกาล หรืองานบุญประเพณีที่สำคัญ ทั้งวันออกพรรษา บุญกฐิน วันลอยกระทง ฮาโลวีน คริสต์มาส และปีใหม่ มักมาพร้อมกับการดื่มแอลกอฮอล์เยอะขึ้น
ตามรายงานความปลอดภัยทางถนนในปี 2565 โดยรวมมีผู้เสียชีวิต 17,379 คน คิดเป็น 26.65 ต่อแสนประชากร หรือ 48 คนต่อวันเฉลี่ย ชม.ละ 2 คน แต่หากเจาะดูเฉพาะช่วงปลายปี 2566 ต้นเดือน ธ.ค.มานี้ มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 50 คน สิ่งนี้กำลังเป็นสัญญาณเตือนให้หามาตรการป้องกันอุบัติเหตุได้แล้ว
ถ้าย้อนมาดู “การป้องกันอุบัติเหตุในช่วงปีใหม่” เบื้องต้นแบบแผนรับมือที่ออกนั้นค่อนข้างมีประสิทธิภาพต่ำ แต่ในมุมภาครัฐกลับมองว่ามาตรการไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ กำหนดการตั้งด่านชุมชน ป้องปราม ตักเตือน หรือควบคุมพฤติกรรมเสี่ยงขับขี่ในเขตชุมชนสามารถรับมือกับอุบัติเหตุได้
ยิ่งโดยเฉพาะ “การบังคับใช้กฎหมายของตำรวจ” เพราะในช่วง 2 เดือน มานี้เป็นช่วงสุญญากาศจาก “กรณีผู้ขับขี่รถยื่นฟ้อง สตช.ต่อศาลปกครอง” ที่กำหนดแบบใบสั่งให้ผู้รับใบสั่งเข้าใจเป็นผู้มีความผิดต้องชำระค่าปรับโดยไม่อาจโต้แย้งดำเนินประการอื่นได้มีลักษณะขัดต่อ ม.29 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่
...
เรื่องนี้ทำให้ “ศาลปกครองกลาง” มีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศ สตช. เรื่องกำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 เรื่องการกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบเทียบสำหรับความผิด พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2563 โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกประกาศดังกล่าว ทำให้ สตช.อยู่ระหว่างการอุทธรณ์คดี
“ตอนนี้ในทางปฏิบัติแล้ว สตช.อนุโลมในการใช้มาตรการเดิมไปก่อน แต่วงในของตำรวจก็ไม่เน้นกวดขันจับกุมออกใบสั่งเป็นพิเศษ เพราะคดีอยู่ระหว่างชั้นศาลอุทธรณ์หากออกใบสั่งมากไปเกรงจะมีปัญหาภายหลัง เหตุนี้ทำให้ตำรวจไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายกวดขันวินัยการจราจรได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ” นพ.ธนะพงศ์ว่า
อีกประการตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค.2566 “สตช.มีคำสั่งให้ใช้ พ.ร.บ.การปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565” โดยความผิดโทษที่ไม่ร้ายแรง “ไม่จำเป็นต้องดำเนินคดีฟ้องศาล” แต่ขอลดค่าปรับได้ตามฐานะไม่มีการเข้าคุกแทนค่าปรับ หรือขอผ่อนชำระค่าปรับได้ ทำงานเพื่อสังคมแทนค่าปรับได้ และไม่มีติดประวัติการกระทำผิดด้วย
แต่ว่าการบังคับใช้พินัยนี้ “เป็นปัญหาการปฏิบัติของตำรวจ” เพราะ ทางพินัยไม่มีการพิมพ์ลายนิ้วมือ ฟ้องศาล แต่ให้ลงโทษไปเป็นจิตอาสาบำเพ็ญประโยชน์หากไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ และไม่มีการจำคุก ดังนั้นกรณี 2 เรื่องนี้คงคาราคาซังส่งผลเป็นอุปสรรคต่อ “ตำรวจ” ไม่อาจบังคับใช้กฎหมายได้เข้มข้น 100% อยู่ในขณะนี้
...
เช่นนี้ย่อมมีผลต่อการบังคับใช้กฎหมายกรณี “รัฐบาล” ออกข้อกำหนดให้สถานบริการใน 5 จังหวัด/พื้นที่ “ขยายการเปิดให้บริการถึงเวลา 04.00 น.” ตาม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2546 แล้วยังมีผลถึงสถานบริการตั้งอยู่ในโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมทั่วประเทศก็สามารถเปิดได้ถึง 04.00 น.ของวันรุ่งขึ้นเช่นกัน
แล้วเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่ “รัฐบาล” ยังได้ขยายเวลาให้สถานบริการทั่วประเทศเปิดบริการในคืนส่งท้ายปีเก่าวันที่ 31 ธ.ค.2566 ฉลองเคาต์ดาวน์ยาวจนถึง 06.00 น.ของวันปีใหม่วันที่ 1 ม.ค.2567 อีกด้วย
หนำซ้ำ “ครม.” ก็ได้เห็นชอบเลื่อนวันหยุดชดเชยในวันสิ้นปี 2566 จากวันอังคารที่ 2 ม.ค.2567 มาเป็นวันศุกร์ที่ 29 ธ.ค.2566 เพื่อให้เกิดการกระจายตัวของการเดินทางบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด สิ่งนี้กลายเป็นว่าประชาชนที่ฉลองเคาต์ดาวน์ลากจนเช้า “บางส่วนต้องตีรถกลับกรุงเทพฯ” เพื่อเตรียมทำงานในวันที่ 2 ม.ค.2567
ทำให้เป็นการเดินทางในวันที่พักผ่อนไม่เพียงพอ “แถมบางคนอาจอยู่ในอาการเมา” ส่งผลให้คนกลุ่มนี้มาอยู่บนถนนในวันที่ 1 ม.ค.2567 “เร่งรีบเดินทางใช้ความเร็วสูง” เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้น
เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นในปี 2562 “ประชาชนกลับพร้อมกันในวันที่ 1 ม.ค.” เพื่อเตรียมทำงานวันที่ 2 ม.ค.ปรากฏว่า 7 วันอันตรายตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค.2561-2 ม.ค.2562 มีผู้เสียชีวิต 463 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,892 คน โดยวันที่ 1 ม.ค. เกิดอุบัติเหตุสูงสุด 664 ครั้ง บาดเจ็บ 673 ราย และเป็นวันที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด 91 ราย
...
สาเหตุเพราะ “เดินทางในวันที่พักผ่อนไม่เพียงพอนำไปสู่ความเหนื่อยล้าหลับใน” แล้วบวกกับมีการใช้ความเร็วรถ กลายเป็นการเกิดอุบัติเหตุรุนแรง สะท้อนบทเรียนให้เห็นโจทย์ที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือปีใหม่นี้
ตอกย้ำว่า “นโยบายเปิดสถานบริการในช่วงปีใหม่ได้ถึง 06.00 น.” เป็นการขยายครอบคลุมพร้อมกันทั่วประเทศแน่นอนว่า “ย่อมมีปริมาณคนเมาสูงขึ้น” ทำให้ไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติการป้องกันอุบัติเหตุช่วงปีใหม่จะเพียงพอหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาภาครัฐไม่เคยชี้แจงมาตรการให้เห็นชัดเจนเป็นรูปธรรมด้วยซ้ำ
ดังนั้นแล้วรัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการควบคุมกลุ่มคนเมา หรือคนเหนื่อยล้าจากการเคาต์ดาวน์ที่กำลังจะออกมาอยู่บนท้องถนนของเช้าวันที่ 1 ม.ค.2567 “ใช้ถนนร่วมกับคนไม่เมาในชั่วโมงเร่งรีบ” ที่อาจกลายเป็นเหตุโศกนาฏกรรมให้ผู้บริสุทธิ์สูญเสียจนเมื่อเทียบกับผลที่ได้ในทางเศรษฐกิจจะคุ้มค่าเท่ากับความสูญเสียนั้นหรือไม่
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึง “นโยบายขยายเวลาเปิดสถานบริการ” กำลังสร้างคนเมามากขึ้นในช่วงปีใหม่ “กลับไม่ปรากฏมาตรการจากรัฐบาลเป็นรูปธรรมที่จะรับมือเอาอยู่” แต่ปล่อยให้ต้องไปหวังพึ่งฝีมือตำรวจ และฝ่ายปกครอง ป้องกันอุบัติเหตุครั้งนี้กันเอง.