“ผู้บริโภค”...ที่ซื้ออาหารเสริมมากิน อาจแบ่งคร่าวๆได้เป็น 2 กลุ่มหลัก กลุ่มแรก...กินเพราะต้องการเสริมอาหารเพราะคิดว่าตัวเองกินไม่พอ ขาดสารอาหาร เช่น คนที่ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย ไม่มีเวลากินข้าว หรือผู้ป่วยที่กินอาหารได้น้อย

และอีกกลุ่มคือ...กลุ่มที่คาดหวังสรรพคุณบางอย่างจากอาหารเสริม โดยเฉพาะสรรพคุณในการรักษาโรคเหมือนการกินยา กลุ่มหลังเป็นกลุ่มที่มักจะตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาหลอกลวงได้ง่ายมาก

“ประสบการณ์ในพื้นที่ ผมเคยเจอการที่ผู้ขายพยายามทำให้อาหารเสริมมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรค กรณีแรกเป็นข้าวสารธรรมดาๆ แต่กลับอ้างสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและรักษาโรคเบาหวานได้

...คนขายพยายามนำผู้ป่วยเบาหวานที่กินข้าวนี้มาเป็นตัวอย่างและแอบอ้างเกินจริงว่ากินแล้วน้ำตาลลดลง จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า มันคือข้าวที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ คือกินแล้วน้ำตาลจะขึ้นช้ากว่าข้าวทั่วไป จึงอาจเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน (แต่ไม่ได้ช่วยรักษาเบาหวาน)

การกินข้าวแบบนี้โดยไม่ควบคุมนอกจากจะไม่ช่วยรักษาเบาหวานแล้วอาจจะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงจนเบาหวานขึ้นได้

...

อีกกรณีเป็นการหลอกลวงให้ตรวจสุขภาพด้วยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่อ้างว่าสามารถวิเคราะห์สุขภาพผู้ตรวจได้ทุกระบบ (โดยไม่ต้องเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ เพียงแต่ถืออุปกรณ์ที่นำมาแอบอ้าง แค่นั้นเอง) พอผลตรวจ (ที่ถูกอุปโลกน์) ออกมาก็หลอกขายอาหารเสริมให้กับชาวบ้านที่มาตรวจ”

ที่ผ่านมาเราก็เคยพบว่า “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” บางอย่างจงใจปลอมปน “ยาแผนปัจจุบัน” เข้าไป เพื่อหวังสรรพคุณทางยา ที่ผู้ใช้บอกต่อกันปากต่อปาก ในชุมชนเรามักจะตรวจพบน้ำผลไม้สกัดเข้มข้นบางยี่ห้อที่แอบขายให้ชาวบ้านปลอมปน “สเตียรอยด์”

หรือ...ข่าวใหญ่โตคือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ปลอมปนยาลดความอ้วน (ไซบูทรามีน) ที่กินแล้วผอมจริง ตายจริง ตามที่ปรากฏในข่าว จนต้องปราบปรามกันในระดับประเทศ

ภาพลวงตาเหล่านี้คือ “อุปสงค์ (demand)” ของผู้บริโภคที่มาตรงกับ “อุปทาน (supply)” ของธุรกิจอาหารเสริมพอดิบพอดี ธุรกิจอาหารเสริมเข้าใจตรงนี้ดี จึงมีความพยายามที่จะโฆษณา เพื่อเบี่ยงเบนหรือแม้กระทั่งชี้นำให้ผู้บริโภคคิดเอาเองว่า...อาหารเสริมนั้นมีสรรพคุณเหมือนการกินยา

ข้อเท็จจริงคือ อาหารเสริมตามกฎหมายต้องขึ้นทะเบียนเป็นอาหารที่ต้องมีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) และห้ามโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณว่าเป็นยา และต้องมีคำเตือนว่าไม่ให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าสามารถกินแทนอาหารปกติได้

“การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะการโฆษณาอ้างสรรพคุณทางยา มีความผิดตามกฎหมายหลายมาตราที่มีโทษทั้งจำคุกและปรับ”

ข้อมูลข้างต้นทั้งหมดนี้มาจาก ภก.พงษ์ศักดิ์ นาต๊ะ, ภก.ภาณุโชติ ทองยัง ชมรมเภสัชชนบท บอกเล่าไว้ในนิตยสารออนไลน์ “ฉลาดซื้อ” ฉบับที่ 269 เรื่อง...“ภาพลวงตาธุรกิจอาหารเสริม ลวงให้กินอาหารเสริมเหมือนเป็นยา”

ประเด็นน่าสนใจมีอีกว่า...ผลิตภัณฑ์อาหารที่อวดอ้างสรรพคุณในการลดน้ำหนักยังคงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายดีอยู่เรื่อยๆ แม้หลายรายจะโดนดำเนินคดีฐานโฆษณาเกินจริงไปแล้วก็ตามและแม้ว่าทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะร่วมมือกับหน่วยงานร่วมต่างๆ พยายามช่วยกันกวดขัน

...ออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อป้องกันและควบคุม แต่อย่าลืมว่าผู้ผลิตและผู้จำหน่าย ต่างก็พัฒนาวิธีการของตนเองให้หลบเลี่ยงกฎหมายได้อยู่เรื่อย

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งที่แชร์กันมาในโซเชียลเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร แต่ก็มีข้อความที่บอกถึงสรรพคุณในการลดน้ำหนักและเนื่องจากข้อกำหนดตามกฎหมาย การโฆษณาสรรพคุณอาหารไม่สามารถนำบุคลากรทางการแพทย์มาประกอบการยืนยันได้ ผู้ผลิตจึงเลี่ยงไปใช้ข้อความอ้อมๆ ดังนี้

...ซื้อ (ชื่อผลิตภัณฑ์) แถมที่ปรึกษานักโภชนาการตัวจริง ลดได้ไวกว่าใคร สบายใจกว่า แถมฟรีด้วยนะ

1.ได้ผลจริง ไม่เสียเวลา ไม่เสียเงินฟรี กินยังไงให้ถูกวิธี ได้ผลดีที่สุด ลดเร็วที่สุด 2.ลดน้ำหนักได้อย่างถาวร ไม่กลับมาโยโย่ นักโภชนาการจะบอกวิธีที่หยุดทานแล้วไม่กลับมาโยโย่ 3.ไม่ต้องกังวลผลข้างเคียง

...

มั่นใจ ปลอดภัย รู้ลึก รู้จริง แก้ปัญหาได้ทุกสิ่งอย่าง...มีสารสกัดจากพริกอเมริกาช่วยในการเผาผลาญมากถึง 5 เท่า

ที่น่าสังเกตคือในภาพที่โฆษณา มีการใช้ภาพของบุคคลที่สวมเสื้อสีขาวคล้ายๆเสื้อกาวน์ และมีหูฟังตรวจไข้คล้องคออยู่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าบุคคลในภาพน่าจะเกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ

นอกจากนี้ในด้านล่างของภาพยังมีข้อความว่า “บริการฟรีดูแลลูกค้าระหว่างทาน โดยนักโภชนาการลดน้ำหนัก” แต่ยังมีลูกเล่นอีก ด้วยข้อความว่า “เบอร์สายด่วนนักโภชนาการจะส่งให้เฉพาะลูกค้าที่ชำระเงินแล้วเท่านั้น”

และเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โฆษณาชิ้นนี้ยังมีการนำใบอนุญาตโฆษณาอาหารที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมทั้งแสดงข้อความเน้นอย่างชัดเจนว่า “มั่นใจทุกคนโฆษณาไม่เกินจริง ได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข”

ที่น่าสังเกตคือมีการเบลอข้อความบางจุดและไม่มีการนำข้อความหรือภาพที่ได้รับอนุญาตจริงๆมาแสดง ซึ่งหากใครดูผ่านๆแล้วไม่ฉุกคิดก็คงนึกว่าได้รับการอนุญาตให้โฆษณาแบบที่เห็นมาข้างต้นได้...แต่ถ้าผู้บริโภคที่พอมีความรู้มาบ้างก็จะรู้ได้ทันทีว่าไม่น่าเป็นไปได้ เพราะทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา คงไม่ยอมให้ใช้ข้อความหรือภาพประกอบการโฆษณาที่ชวนให้เข้าใจผิดอย่างนี้แน่นอน

“ผู้บริโภค” ในยุคนี้จึงต้องรอบคอบและอย่าเพิ่งรีบเชื่อในสิ่งที่เห็น แม้จะมีการแสดงข้อมูลว่า มีนักวิชาการ หรือใบอนุญาตโฆษณาแล้วก็ตาม ต้องตรวจสอบให้ดีก่อนนะครับว่ามันโอเว่อร์เกินจริงหรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจปรึกษาเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยงานที่คุ้มครองผู้บริโภคก่อนจะไม่เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์และปลอดภัยกว่า

ใกล้เทศกาลปีใหม่ ภก.ภาณุโชติ ฝากเตือนและขอแนะนำผู้ที่ตั้งใจจะมอบสิ่งดีๆต่อสุขภาพแก่ผู้รับ ตัดสินใจเลือก “ของขวัญ” เพื่อให้ผู้รับเกิดความปลอดภัย โดยเฉพาะ “ผลิตภัณฑ์อาหารบำรุงสุขภาพ” หรือที่เรียกว่า “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” ที่กล่าวอ้างสารพัดสรรพคุณในด้านการบำรุงหรือรักษาโรค

...

“เคยมีกรณีที่ลูกชายซื้อผลิตภัณฑ์โสมสกัดมาเป็นของขวัญให้คุณแม่ โดยลืมนึกไปว่าคุณแม่มีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูง ส่วนคุณแม่แม้เคยได้รับคำเตือนว่า โสมอาจมีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น แต่เห็นว่าลูกชายอุตส่าห์ซื้อมาให้แล้ว ก็เลยรับประทานต่อเนื่องไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็ต้องไปโรงพยาบาล...”

ถัดมา...วิตามินต่างๆ หากอยากจะให้เป็นของขวัญจริงๆ ควรมีข้อมูลว่าผู้รับเคยรับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นประจำหรือไม่และต้องตรวจสอบฉลากให้ละเอียด ถ้าไม่แน่ใจไม่ควรให้เป็นของขวัญ

ระวัง!...ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง...รักษาโรคได้ นอกจากเสี่ยงต่อสุขภาพแล้ว บางอย่างแม้จะไม่เกิดอันตรายแต่ก็จะทำให้เสียเงินโดยไม่จำเป็น.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม