ผมพกความฝังใจความรู้กะริบกะร่อยของตัวเอง และอ่านความรู้เร้นลึก...ระดับมหากาพย์ จากผู้รู้ระดับ “กูรู” หลายท่าน ใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับที่ 2 เดือนธันวาคม 2566 ได้ไม่ถึงครึ่งเล่ม

ก็บังเอิญมีโยมอุปถัมภ์ พาไปเดินปนเปผู้คนที่ตื่นกระแสเมืองศรีเทพ เพชรบูรณ์ เมื่อบ่ายแก่ถึงเย็นย่ำวันเสาร์ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมารุ่งขึ้นก็ตั้งตาอ่านงานวิชาการราวๆ 21 หน้าของอาจารย์รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ต่อ

ผมขอจับความแบบเรื่องเล่าชาวบ้าน...เดิมทีที่เชื่อกันว่า นครปฐม คือเมืองหลวงของทวารวดี แล้วก็มีประเด็นใหม่ ไม่แน่ว่า เมืองหลวงของทวารวดีเป็นอู่ทอง

ศรีเทพนั้นซ่อนความลุ่มลึกเงียบๆไว้เทียบกับศรีจนาศะ และเมืองเสมาแถวๆโคราช (เมืองราดในทัศนะจิตร์ ภูมิศักดิ์) ผู้รู้โบราณคดี ตื่นเต้นกับจารึกบ่ออีกามาก

แต่คนเล่นศิลปะเขมร ตื่นเต้นกับชุดเทวรูปที่ซ่อนไว้ในเขาปลายบัด อ.ประโคนชัย บุรีรัมย์ที่ของสวยๆชิ้นใหญ่ไปโผล่อยู่กับพิพิธภัณฑ์เศรษฐีฝรั่ง

คำเรียก “เศียรสัปปะรด” จุดเด่นเทวรูปประโคนชัย เชื่อมโยงกับเทวรูปบ้านฝ้าย ที่ยอร์ช เซเดส์ จัดลำดับศิลปะเขมรไว้ เรียก “ไพรกเมง”

ไม่น่าเชื่อว่าความยิ่งใหญ่อลังการ...ประดามีในชุดศิลปะเขมร...14 สมัย ศิลปะแรกเริ่ม อย่างพนมดาในเขมร หรืออีกคำเรียกอังกอร์โบเรย์ พบใน “ศรีเทพ” ทั้งสิ้น

อาจารย์รุ่งโรจน์แน่ใจว่าเมืองหลวงของทวารวดี ที่ถกเถียงกันนั้น คือเมืองศรีเทพนี่แหละ

บางชิ้นที่แปลกกว่าเทวรูปพระอาทิตย์ ผมพอรู้จักศาสนาโซโรอัสเตอร์ บูชาไฟในเปอร์เซีย...หรือพระอาทิตย์อยู่บ้าง...เทวรูปพระอาทิตย์ เล่าความนัย ศรีเทพ คือเมืองที่คนอินเดียดั้นด้น...เข้ามาค้าขายกับชาวพื้นเมือง

...

เนื้อหาคลับคล้ายพระเจ้าอโศก ส่งพระโสณะ พระอุตตระ...มาสุวรรณภูมิ ปราบพวกนาคไม่นุ่งผ้า

ตำนานเล่าขานเดียวกับโกณฑัญญะแล่นเรือมาเจอนางหลิเขวเหย่จุดเริ่มต้นเขมร

อาจารย์รุ่งโรจน์บอกศรีเทพเติบโตมาจากการค้าทองแดง เขาวงพระจันทร์ เขาพุคา เขาพระงาม เขาผาแดง เขาพระบาทน้อย ลพบุรี เป็นแหล่งเหมืองทองแดง มีการถลุงแร่ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์

ความเปลี่ยนแปลงการค้าทางทะเลจากจีน กลุ่มมูลนายย้ายศูนย์อำนาจจากศรีเทพไปลพบุรี ประชากรศรีเทพส่วนใหญ่ก็ย้ายตาม ราวๆก่อน พ.ศ.1650 หากเชื่อมโยงต่อว่า พระราชากรุงอโยธยาเสด็จมาจากลพบุรี

ดังนั้นจึงถือว่าเมืองศรีเทพเป็นบรรพชนสายของกรุงอโยธยา ซึ่งจะสืบต่อมาเป็นกรุงศรีอยุธยา

เป็นการย้ำว่า การที่กรุงศรีอยุธยามีนามว่า กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา เพราะมีบรรพชนจากเมืองศรีเทพ...

เมืองศรีเทพไม่เคยร้างแค่ลดบทบาท เมื่อเมืองลพบุรีเริ่มเติบโตช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 และเมื่อลพบุรีเคลื่อนย้ายไปอยุธยา จึงเป็นตัวเร่งให้ศรีเทพลดบทบาทลงไปอีก

เหตุการณ์ตอนสมเด็จพระนเรศวรรับศึกพระยาละแวก ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า โปรดให้เมืองถมอรัตน์มารับศึกพระยาละแวก แสดงว่าตอนนั้นเมืองศรีเทพยังอยู่

อาจารย์รุ่งโรจน์ ทิ้งท้ายข้อเขียนนี้ว่า เมืองศรีเทพไม่เคยรกร้าง หากแต่มูลนายในรุ่นสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ลืมเลือนเมืองศรีเทพไป

หลังสงครามปราบเจ้าอนุวงศ์ ที่มีการยกเมืองท่าโรงขึ้นเป็นเมืองวิเชียรบุรี

ผมเล่าเรื่องศรีเทพ แบบเอามัน หากอยากรู้จักเมืองศรีเทพให้คมชัดลึก ถึงใจแบบครู ไปหาศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ 2 เดือน ธ.ค.อ่านกันเอง.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม