"กทม.- ตร.ชนะสงคราม" ลงพื้นที่เตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัย 3 สถานบริการ บนถนนข้าวสาร นำร่องผับปิดตี 4 ดีเดย์วันแรก


เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 15 ธ.ค. 66 พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายโกศล สิงหนาท ผู้อำนวยการเขตพระนคร และ พ.ต.อ.สนอง แสงมณี ผกก.สน.ชนะสงคราม นำกำลังเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพระนคร และ เจ้าหน้าที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบสถานบริการ บริเวณถนนข้าวสาร แขวงตลาดยอด เขตพระนคร กทม. เพื่อตรวจความพร้อม ตามประกาศของกฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566 เรื่องขยายเวลาให้สถานบริการใน 5 จังหวัด/พื้นที่ เปิดให้บริการได้ถึงเวลา 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้นได้ ซึ่งวันนี้ถือเป็นแรก


พล.ต.อ. อดิศร์ เปิดเผยว่า วันนี้จะตรวจสอบเรื่องความปลอดภัยของสถานบริการในถนนข้าวสาร ทั้งสภาพอาคาร และทางหนีไฟ ซึ่งมีประมาณ 3 ร้านที่ได้รับอนุญาตให้เปิดถึงเวลา 04.00 น. ประกอบด้วย ร้านเดอะคลับ มอลลี่และบริกบาร์ เพื่อให้สอดรับนโยบายของรัฐบาล และเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ไปในคราวเดียวกัน 

...


สำหรับการเข้าตรวจสอบวันนี้ จะดูเรื่องของการป้องกันอัคคีภัยเฝ้าระวังในเรื่องของเครื่องมืออุปกรณ์ การป้องกันผลกระทบในเรื่องของเสียง และเรื่องของกล้องวงจรปิดที่จะเป็นอุปกรณ์สำคัญของตำรวจ ที่จะใช้ติดตามจับกุมผู้กระทำความผิด รวมถึงดูพื้นที่รอบนอกที่อยู่บนถนนข้าวสาร และรอบบริเวณถนนข้าวสาร เพราะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาจุดนี้ถือเป็นจุดหลักที่รวมตัวนักท่องเที่ยวจำนวนมาก


นอกจากนี้ยังตรวจสอบรวมไปถึงร้าน ประเภทอื่นๆ ที่มีการจำหน่ายสุรา อาหาร หรือการแสดงดนตรี ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในเรื่องของเสียง และดูว่าแต่ละร้านได้รับใบอนุญาตประเภทใด การปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะสามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ ขณะเดียวกันมาตรการที่ขยายเวลาเปิดจนถึงเวลา 04.00 น. ตามกฎหมาย คือ ร้านต้องปิดแล้วหากยังพบลูกค้านั่งดื่มกินอยู่ในร้านก็ถือว่ามีความผิดในทางพฤตินัย


ขณะเดียวกัน ผู้ว่าฯ กทม. เน้นย้ำ เรื่องกล้องวงจรปิดแบบ AI หรือกล้องวงจรปิดแบบฉลาดที่จะลดการทำงานของเจ้าหน้าที่ และทางกรุงเทพมหานครยังจะจัดสรรงบประมาณมาช่วยสนับสนุนการทำงานของตำรวจด้วย โดยให้ตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่หลักได้คือการอำนวยความสะดวกรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชน


ด้าน พ.ต.อ.สนอง กล่าวเพิ่มเติม ในส่วนของตำรวจที่เน้นข้อห่วงใยในเรื่องของการจราจร สถานบริการ และยาเสพติด ซึ่งเราจะดำเนินการอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนจะมีการเปิด ตั้งแต่เวลา 04.00 น. ซึ่งการดำเนินการก็จะดูไปในเรื่องของสิทธิของแต่ละร้านที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการ ที่แตกต่างกัน และหลังจากนี้จะมีการเรียกประชุมวางกรอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมทั้งเสริมในเรื่องของกล้องวงจรปิดที่จะแบ่งเป็นในส่วนพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพมหานคร และกล้องวงจรปิดแบบ AI เพิ่มเติม


ส่วนการขยายเวลาเปิดผับสถานบันเทิงไปในเวลา 04.00 น. แล้วจะมีการตั้งด่านตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ด้วยหรือไม่นั้น พ.ต.อ.สนอง กล่าวว่า ในพื้นที่ถนนข้าวสารได้ประชาสัมพันธ์เน้นย้ำให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาว่า ไม่ให้นำรถยนต์ส่วนตัวมาอยู่แล้วเนื่องจากชัดเจนว่าเป็นสถานบันเทิง จึงอยากฝากความห่วงใยในเรื่องนี้กับนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติด้วย


สำหรับการลงพื้นที่ตรวจความปลอดภัยสถานบริการในถนนข้าวสาร เจ้าหน้าที่จะตรวจทั้งสภาพอาคาร และทางหนีไฟ ซึ่งมีประมาณ 3 ร้าน ที่ได้รับอนุญาตให้เปิดถึงเวลา 04.00 น. ซึ่งการตรวจจะเน้นไปที่ในเรื่องของเสียงเดซิเบล โดยนำเครื่องตรวจวัดเดซิเบลมาตรวจวัดค่าเสียงภายในสถานบันเทิง ว่าเกินกว่าค่าที่กำหนดหรือไม่ โดยให้ทางผู้ประกอบการ เปิดระบบเสียงเพื่อทดสอบ รวมถึงมีการตรวจทางหนีไฟ กล้องวงจรปิด อุปกรณ์ในการเฝ้าระวังอัคคีภัยภายในร้าน และสอบถามถึงวิธีการตรวจสอบบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อป้องกันเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปีเข้ามาใช้บริการภายในร้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เน้นย้ำเรื่องนี้เป็นพิเศษ

...


ทั้งนี้สำหรับโซนนิ่งของการขยายเวลาเปิดได้ถึง 04.00 น. ของพื้นที่ กทม.ได้แก่ สีลม พัฒน์พงศ์, อาร์ซีเอ เพชรบุรีตัดใหม่, รัชดาภิเษก รวมถึงกลุ่มที่ได้รับใบอนุญาตสถานประกอบการ ซึ่งจากฐานข้อมูลใบอนุญาตและการตรวจสอบของ 50 สำนักงานเขตพบมีกิจการที่มีใบขออนุญาตสถานบริการ 207 แห่งใน 33 เขต โดยอยู่ในพื้นที่โซนนิ่ง 73 แห่ง อยู่ในโรงแรม 8 แห่ง อยู่นอกพื้นที่โซนนิ่ง 134 แห่ง และอยู่ในโรงแรม 24 แห่ง 


จากการสำรวจพบยังเปิดบริการอยู่ 146 แห่ง ปิดปรับปรุง 3 แห่ง และปิดกิจการ 58 แห่ง โดยพื้นที่ที่มีสถานบริการจำนวนสูง 5 เขตได้แก่

1. เขตห้วยขวาง 39 แห่ง เปิดบริการ 33 แห่ง และปิดกิจการ 6 แห่ง

2. เขตดินแดง 31 แห่ง เปิดบริการ 14 แห่ง และปิดกิจการ 17 แห่ง

3. เขตบางรัก 21 แห่ง เปิดกิจการ 20 แห่ง และปิดกิจการ 1 แห่ง

4. เขตวัฒนา 21 แห่ง เปิดกิจการ 16 แห่ง และปิดกิจการ 5 แห่ง

5. เขตคลองเตย 11 แห่ง เปิดกิจการ 9 แห่ง และปิดกิจการ 2 แห่ง