“เช้านี้...เมืองในฝุ่น ป้องกันตัวนะครับ” แคปชันพร้อมภาพประกอบที่ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)” สะท้อนความจริงในเช้าวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ภาวะอันตรายต่อสุขภาพเช่นนี้...ทุกคนห้ามประมาท เฝ้าระวัง...การ์ดอย่าตก
ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร ยืนยันผลการตรวจวัด “PM2.5” เวลา 05.00-07.00 น. (3 ชั่วโมงล่าสุด) ตรวจวัดได้ 31.4-72.3 มคก./ลบ.ม.
ซึ่งค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานครอยู่ที่ 47.3 มคก./ลบ.ม. ประเด็นสำคัญมีว่าค่า “PM2.5” มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 66 พื้นที่
ข้อมูลเปิดเผย “ฝุ่นพิษ PM2.5” (สารก่อมะเร็งกลุ่ม 1) สูงระดับอันตรายต่อสุขภาพต่อเนื่องในกรุงเทพฯ พื้นที่ปริมณฑล และหลายพื้นที่ในภาคกลาง ตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันตก น่าสนใจว่า...สถานการณ์หนักหน่วงมากกว่าเมื่อวาน (11 ธ.ค.66)
“ภาวะลมยังอ่อนและปรากฏการณ์ฝาชีครอบต่ำยังคงเกิดขึ้น ต่อเนื่อง ทำให้ฝุ่นพิษ PM2.5 ในพื้นที่...จากรถยนต์ รถบรรทุก โรงงาน อุตสาหกรรม การเผาขยะในพื้นที่ เป็นต้น ยังระบายออกได้ไม่ดีมากนัก การเผาในภาคเกษตรเพิ่มขึ้นตามคาดจากเมื่อวาน”
...
“Witsanu Attavanich” โพสต์เฟซบุ๊ก รายงานจากข้อมูลจุดความร้อนที่รายงานโดย GISTDA พบว่า “ข้าว” ครองแชมป์ “การเผา” โดยมีจำนวนจุดความร้อนถึง 123 จุดจากจำนวนการเผาทั้งหมด 190 จุด ตามด้วยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 9 จุด และอ้อย 4 จุด
“น่าเสียใจอย่างมากที่ยังไม่มีแผนจัดการใดๆที่กล้าตั้งเป้าหมายเกี่ยวกับลดการเผาในนาข้าวทั้งประเทศซึ่งเผามากที่สุด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็ยังไม่มีเช่นกันมีเฉพาะแค่อ้อยโรงงานเท่านั้นซึ่งมีสัดส่วนการเผาที่น้อยที่สุด คนไทยทุกคนคงยังต้องสูดเขม่าควันดำกันต่อไปถ้าพืชหลักสองชนิดที่มีการเผามากที่สุดยังไม่ได้ถูกจัดการ”
อีกทั้งยังมีข้อมูลบ่งชี้ด้วยว่าจำนวน “จุดความร้อน” ของเพื่อนบ้านเพิ่มจำนวนขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อวานเช่นกัน อีกไม่นานเราคงจะได้สูด “บุฟเฟต์ฝุ่นพิษ” ทั้งในประเทศและฝุ่นพิษข้ามพรมแดน
“ควรงดกิจกรรมการเผาในช่วงนี้เพื่อลดความรุนแรงต่อสุขภาพ... รักษาสุขภาพนะครับทุกคน กลุ่มเสี่ยง เด็ก คนสูงวัย และสตรีมีครรภ์ ควรงดกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงนี้ อย่าลืมใส่หน้ากากอนามัยที่ป้องกันฝุ่นได้ก่อนออกจากบ้านและไม่ประมาทกับมัจจุราชมืดนะครับ”
ปัจจัยรอบตัวเราวันนี้มีผลต่อ “สุขภาพ” ทั้งนั้นไม่ว่าภัยจากสิ่งแวดล้อมหรือเชื้อโรคติดต่อต่างๆ ไม่กี่วันที่ผ่านมา รศ.นพ.ธีระ เล่าว่า ในเช้าวันหนึ่งได้ยินคนแถวบ้านคุยกัน 2 คน คนนึงบอกว่าไม่สบาย ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ คัดจมูก และรู้สึกเหนื่อยมาก...อาการเช่นนี้ควรตรวจโควิดนะครับ
“หากเป็นลบอย่าชะล่าใจควรตรวจซ้ำถึงวันที่ 4-5 หลังมีอาการ เพราะไวรัสจะพีกช่วงนั้น ทั้งนี้ หากเหนื่อยมาก ควรไปพบแพทย์ด้วย เพราะจะได้ตรวจร่างกายและอื่นๆเพิ่มเติมด้วย
ที่สำคัญหากไม่สบายควรระวังการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่นและใส่หน้ากากป้องกันด้วย คนที่ยังสบายดีก็ควรใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังอยู่ในที่ระบายอากาศดี ขาขึ้นนะครับ...ตอนนี้เยอะ”
วิเคราะห์การระบาด “โควิด–19” ของไทย ตัวเลขรายงานรายสัปดาห์ 3-9 ธ.ค.66 จำนวนป่วยนอนโรงพยาบาล 590 ราย เพิ่มขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อน 10.1%...เสียชีวิต 5 รายเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยที่สัปดาห์ก่อนเสียชีวิต 3 ราย ปอดอักเสบ 94 ราย สูงกว่าสัปดาห์ก่อน 6.8% ใส่ท่อช่วยหายใจ 49 ราย สูงกว่าสัปดาห์ก่อน 22.5%
คาดประมาณการติดเชื้อใหม่อย่างน้อยวันละ 4,215-5,854 ราย ถือว่ามากที่สุดในรอบ 5 เดือน
...
ย้ำว่า การตรวจด้วย ATK ในช่วงวันแรกๆ หลังจากที่เริ่มมีอาการนั้นมีความไวลดลงเหลือ 30-60% จึงมีโอกาสที่จะทำให้ตรวจได้ผลลบปลอมทั้งๆที่ติดเชื้ออยู่ โดยไวรัสจะพีกช่วงวันที่ 4-5 หลังมีอาการ
ดังนั้น หากป่วยและตรวจในช่วง 3 วันแรกแล้วได้ผลลบ อย่าชะล่าใจ ควรตรวจซ้ำในช่วงวันที่ 4–5 ด้วย
ในสถานการณ์ข้างต้น จำนวนติดเชื้อจริงในแต่ละวัน ประเมินว่าจะมีแนวโน้มที่สูงกว่าเดิมที่คาดประมาณข้างต้นราวเท่าตัว...การติดเชื้อทั้ง “ติดใหม่” และ “ติดซ้ำ” มีมากขึ้นชัดเจนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี
หลายประเทศทั่วโลกพบว่ามีการตรวจพบ BA.2.86.x สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ประเมินกันว่าจะเห็น BA.2.86.x มาแทนที่สายพันธุ์เดิมที่ระบาดในปัจจุบันทั่วโลกในอีกไม่นาน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง JN.1 (คือสายพันธุ์ BA.2.86.1.1 นั่นเอง)
ด้วยข้อมูลจนถึงปัจจุบัน “โควิด–19” ยังไม่ได้เป็นแบบฤดูกาลและยังมีปัญหาในการคาดประมาณการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ ปลายปีถือเป็นช่วงเทศกาลมีกิจกรรมสังสรรค์กันมาก หากไม่ป้องกันตัวจะติดเชื้อแพร่เชื้อจนป่วยกันได้มาก เสี่ยงปอดอักเสบ ตาย และลองโควิดอีกด้วย
“จำนวนป่วยนอนโรงพยาบาลขณะนี้มากกว่าเดือนก่อนถึงกว่า 2 เท่า และมากกว่าสองเดือนก่อนถึง 4.75 เท่า ย่อมบ่งบอกถึงสถานการณ์ได้ดี ความใส่ใจสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ”
...
งานวิจัยล่าสุดจาก Sato Lab ประเทศญี่ปุ่น ชี้ให้เห็นว่า BA.2.86.1.1 หรือที่เรียกกันในชื่อว่า JN.1 ซึ่งแตกหน่อต่อยอดจาก BA.2.86 นั้นมีสมรรถนะในการแพร่เชื้อสูง ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่าสายพันธุ์อื่นๆที่เคยระบาดมาก่อนหน้านี้...เราจึงไม่แปลกใจเลยที่ช่วงปลายปีขณะนี้จึงเห็นทั่วโลกติดเชื้อกันมากขึ้น
ยิ่งกิจกรรมเทศกาลเยอะ คนมากมายแออัด คลุกคลีใกล้ชิดสังสรรค์กันเป็นเวลานานและบ่อยครั้ง โดยไม่ป้องกันตัวก็จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อ ป่วยกันเป็นจำนวนมากได้
“ป้องกันตัว สังเกตอาการตัวเราและคนที่เราคลุกคลี ลดเวลาสัมผัส ลดจำนวนครั้งที่จะมีพฤติกรรมเสี่ยงลงเหลือเท่าที่จำเป็น ที่สำคัญคือไม่สบายก็ควรรับผิดชอบทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และคนอื่นๆ ด้วยการแยกตัวไปรักษาให้หายดีเสียก่อน”
เปรียบเทียบอัตราตายของ “โควิด–19” กับ “ไข้หวัดใหญ่”... โควิด-19 ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ต้นปีจนถึง 9 ธ.ค.2023 มีผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาลสะสม 36,794 ราย ตายไป 831 ราย
คิดเป็นอัตราตายโดยคร่าว 2.26% หรือ 2,260 รายต่อแสนประชากร แต่หากประเมินว่าผู้ติดเชื้อที่ป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลคิดเป็นสัดส่วนราว 2% และปรับฐานให้เป็นจำนวนคาดประมาณของผู้ติดเชื้อ แทนจำนวนผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล...อัตราตายโดยคร่าวจะเท่ากับ 0.045% หรือ 46 รายต่อแสนประชากร
ส่วน “ไข้หวัดใหญ่”...ตัวเลขจนถึง 25 พ.ย.2023 มีจำนวนผู้ป่วยสะสม 418,591 ราย และตายไป 27 ราย คิดเป็นอัตราตายโดยคร่าว 0.0065% หรือ 7 รายต่อแสนประชากร...ไม่ว่าจะเอาไข้หวัดใหญ่ไปเทียบกับตัวเลขใดของโควิด-19 เราก็คงทราบได้ว่า อัตราตายจากโรคโควิด-19 นั้นสูงกว่าไข้หวัดใหญ่หลายเท่านัก
...
ความสูญเสียจากโควิดนอกจากเรื่อง “ตาย” แล้ว ยังมีปัญหา “ลองโควิด” ที่จะเป็นผลกระทบระยะยาวได้ด้วย การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด ฝากย้ำทิ้งท้ายว่า “โควิด–19”...ไม่ใช่หวัดธรรมดา ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล.