วันที่ 13 ธ.ค.66 ที่ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงาน Walkable Bangkok : กรุงเทพฯ เดินได้-เดินดี ว่า จากการวิเคราะห์การเดินในปัจจุบันของคนกรุงเทพฯ พบว่า 58.2% เดินเท้า+ขนส่งสาธารณะ 31.2% ยานพาหนะส่วนตัว แสดงให้เห็นว่าคนกรุงเทพฯพร้อมเดินมากกว่าขับรถ แต่พบปัญหาสำคัญ 3 ด้านที่ทำให้คนกรุงเทพฯเลือกการเดินทางด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่การเดินเท้า คือ 1.ปัญหาด้านความปลอดภัย เช่น อันตรายจากอาชญากรรม อุบัติเหตุบนทางเท้า 2.ปัญหาด้านความสะดวกสบาย เช่น ทางเท้าไม่ต่อเนื่อง ทางเท้าไม่ราบเรียบ 3.ปัญหาด้านสภาพแวดล้อม เช่น สภาพแวดล้อมที่ไม่สวยงาม ความสกปรก ซึ่งที่ผ่านมา กทม.ได้ปรับปรุงทางเท้า ได้แก่ 1.ซ่อมแซมเป็นจุดตามความเสียหายตามการรับแจ้งผ่านช่องทางต่างๆ 2.ซ่อมแซมเป็นจุด ย้ายสิ่งกีดขวางออกจากทางเดิน 3.ซ่อมแซมทางเท้ารัศมี 1 กม. โดยรอบสถานีรถไฟฟ้า 4.ซ่อมแซมเร่งด่วน ปรับปรุงทั้งเส้นกรณีเสียหายเกิน 70% ในเส้นทางที่มีคนสัญจรหนาแน่น 5.ติดตามเร่งรัดการคืนผิวจราจรที่หน่วยงานสาธารณูปโภคขออนุญาตก่อสร้างและดำเนินการแล้วเสร็จ

“กทม.ตั้งเป้าหมายการปรับปรุงทางเท้าไว้ 1,000 กม. ภายในปี 2569 โดยขณะนี้ กทม. มี 3 โครงการตัวอย่างกรุงเทพฯ เมืองเดินได้-เมืองเดินดี ประกอบด้วย 1.การปรับปรุงทางเท้าถนนสุขุมวิทจากซอย 1-107 ทั้ง 2 ฝั่ง ระยะทางรวม 25 กม. 2.Skywalk ราชวิถี เชื่อมต่อ 7 โรงพยาบาลหลัก จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถึงถนนพระราม 6 และ 3.Covered walkway หลังคาคลุมทางเดินกันแดดกันฝน ซึ่งอยู่ในระหว่างการสำรวจพื้นที่นำร่อง 5 เส้นทาง ทางเท้าในกรุงเทพฯไม่ใช่แค่ต้องเดินได้-เดินดีเพียงอย่างเดียวแต่ต้องมีความน่าเดินด้วย” รองผู้ว่าฯ กทม.ระบุ.

...

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่