กทม. ลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้า การแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียหลัง "ลอยกระทง" ในสระสวนสันติภาพ อยู่ในระหว่างการกำจัดเชื้อ ก่อนเติมน้ำใหม่

วันที่ 7 ธันวาคม 2566 มีรายงานว่า นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร Chief Sustainability Officer ลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียหลังลอยกระทง โดยมีนายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล ณ สวนสันติภาพ เขตราชเทวี

นายพรพรหม เปิดเผยว่า จากการที่กรุงเทพมหานคร เปิดสวนสาธารณะ 34 แห่ง ให้ประชาชนลอยกระทง เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา สำรวจพบว่า สวนสันติภาพ มีปริมาณกระทงทั้งหมด 6,800 ใบ ส่วนใหญ่มีการใช้กระทงขนมปัง ประมาณ 4,000 ใบ ซึ่งเปื่อยยุ่ยจมลงก้นบ่อ ละลายไปกับน้ำ

ส่งผลกระทบกับสภาพน้ำ ทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย ปลาตายจำนวนมาก ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้มีการนำน้ำเสียออกแล้ว และอยู่ระหว่างประสานสำนักการระบายน้ำ เข้ามาดูดเลนในสระออก หลังจากนั้นจะกำจัดเชื้อ ที่เกิดจากการเน่าเสียในดินก้นสระจากเศษอินทรีย์ตกค้าง

...

โดยตากดินพร้อมปรับสภาพความเป็นกรด-ด่าง ด้วยปูนขาว ก่อนเติมน้ำใหม่เข้าไป สำหรับมาตรการจัดลอยกระทงในปีหน้า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา เพื่อกำหนดแนวทางที่ชัดเจน ในการจัดลอยกระทงในสถานที่ มีบึงน้ำเป็นลักษณะบ่อปิด หรือมีพื้นที่จำกัด โดยรณรงค์ให้เลือกใช้วัสดุธรรมชาติที่เหมาะสมกับพื้นที่ต่อไป

จากการเก็บตัวอย่าง เพื่อตรวจคุณภาพน้ำในสระสวนสันติภาพ พบว่า ที่ระดับผิวน้ำ มีค่า pH (การวัดค่าความเป็นกรดหรือด่าง) อยู่ที่ 7.3 ค่า BOD (ความต้องการออกซิเจนทางชีวเคมี ใช้ในการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม และน้ำเสีย เพื่อประเมินระดับมลพิษอินทรีย์ในน้ำ) อยู่ที่ 153 มิลลิกรัม/ลิตร สำหรับตัวอย่างที่ความลึก 1 เมตร มีค่า pH 7.1 ค่า BOD 138 มิลลิกรัม/ลิตร

ทั้งนี้ หากตรวจพบค่า pH มากกว่า 7 แสดงว่าสารชนิดนั้นมีฤทธิ์เป็นเบสหรือด่าง หากค่า pH นั้นมีค่าเท่ากับ 7 แสดงว่าสารชนิดนั้นเป็นกลาง ส่วนค่า BOD >= 100 mg/l ถือว่าเป็น น้ำเสีย.