วปท.ร่วมมือกับสหพันธ์วิศวกรที่ปรึกษานานาชาติ (FIDIC) จัดงาน FIDIC Asia Pacific Conference 2023 "Engineering towards Net Zero" ปี 2065 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ร่วมเปิดงาน

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 66 สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย (วปท.) จัดงานสัมมนาด้านสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ระดับนานาชาติ FIDIC Asia Pacific Conference 2023 หัวข้อ "Engineering towards Net Zero" ระหว่างวันที่ 26-28 พ.ย.นี้ ณ โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพฯ ซึ่งได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ในภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ตัวแทนภาครัฐ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องด้านสิ่งแวดล้อม มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโอกาส ความท้าทาย และความสำเร็จในการทำงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจะนำความรู้ที่ได้ไปร่วมกันผลิตผลงาน เพื่อการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี ค.ศ.2065 มีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คน จาก 20 ประเทศ อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน ฯลฯ 


และโดยเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 66 มีการแถลงข่าวและพิธีเปิดงานสัมมนาอย่างเป็นทางการ มีตัวแทนภาครัฐของไทยเข้าร่วม ประกอบด้วยดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายชวลิต จันทรรัตน์ นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย, Mr. Sudhir Dhawan President, FIDIC Asia – Pacific, India ดร.วิทูร เจียมจิตต์ตรง ที่ปรึกษาสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย นายนิวัฒน์ ธัญปิตินันทน์ ประธานการจัดงาน FIDIC ASIA PACIFIC 2023 เป็นต้น

...

นายนิวัฒน์ ธัญปิตินันทน์ ประธานการจัดงาน FIDIC ASIA PACIFIC 2023 กล่าวว่า สมาชิกของ FIDIC ASIA PACIFIC หรือสหพันธ์วิศวกรที่ปรึกษานานาชาติ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกว่า 20 ประเทศ มอบหมายให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานนี้ขึ้น เราเลือกหัวข้อ Net Zero เพราะต้องใช้ความร่วมมือจากหลายๆ ส่วน อยากให้เห็นว่าไทยตื่นตัวเรื่องนี้ บทบาทของสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการออกแบบ ควบคุมงานและบริหารโครงการฯ ดังนั้นหน้าที่หลักคือการสร้างการรับรู้ให้เจ้าของโครงการต่างๆ รับรู้ว่า การสร้างอาคารเขียวหรืออาคารรักษ์โลกเป็นสิ่งที่ควรทำ ดีต่อโครงการฯ และดีต่อโลกโดยรวม


นายชวลิต จันทรรัตน์ นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ก๊าซเรือนกระจก คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์ ที่มักเรียกรวมๆ กันในชื่อ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การทำกิจกรรมต่างๆ บนโลกนี้ล้วนแต่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาทั้งนั้น ซึ่งเมื่อปล่อยแล้วจะคงอยู่ในบรรยากาศเป็นเวลา 200-450 ปี ปัจจุบันพบว่าในชั้นบรรยากาศมีก๊าซเรือนกระจกสะสมอยู่แล้วถึง 411 ส่วนในล้านส่วน (PPM) หากสูงขึ้นถึง 475 ส่วนในล้านส่วน จะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกอย่างรุนแรง จากการวิเคราะห์ของสหประชาชาติ หากเรายังไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปี ค.ศ.2050 หรืออีก 27 ปีข้างหน้า ระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยจะสูงขึ้น 70 เซนติเมตร มีความเสี่ยงที่น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ 


ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ว่า สิ่งสำคัญคือจะทำอย่างไรให้ Net Zero ไม่ใช่แค่สโลแกน แผนอีก 30 ปี การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์อาจไกลเกินไป กทม.จึงตั้งเป้าระยะสั้น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 3% ต่อปี งานวิศวกรรมถือเป็นต้นเหตุในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นวิศวกรรมจึงต้องเข้ามาช่วยเหลือเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่อยากให้มองเป็นต้นทุน นี่คือโอกาสทางธุรกิจมากกว่า ส่วน กทม.เองก็จะรณรงค์ลดการใช้พลังงานในอาคาร ลดการใช้รถยนต์ ลดการสร้างขยะ รู้จักแยกขยะ หรือเปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED ที่คุณภาพดีและประหยัดไฟ


ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า นอกจากในปี 2065 ประเทศไทยจะมีเป้าหมาย Net Zero ก็ยังมีเป้าระยะสั้น ในปี 2030 ที่ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 30-40% ภาครัฐเน้นเรื่องใช้พลังงานทดแทน การใช้รถไฟฟ้าทั้งในเมือง และระหว่างเมือง สนับสนุนการใช้ขนส่งสาธารณะระบบราง ภาคเกษตรก็เปลี่ยนเป็นการเกษตรที่ใช้น้ำน้อย การประชุมสัมมนาครั้งนี้น่าจะมีบทเรียน หรือความสำเร็จที่น่าสนใจจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่สามารถนำมาปรับใช้กับประเทศไทย

...


ทั้งนี้ภายในงานมีการจัดสัมมนา 5 หมวด ได้แก่ 1.กลุ่มอาคาร เกี่ยวกับอาคารที่ใช้คาร์บอนต่ำ 2.กลุ่มพลังงาน 3.กลุ่ม Transportation และ Logistics การขนส่งคาร์บอนต่ำ 4.กลุ่มการพัฒนาเมืองและการพัฒนาชนบท ด้านผังเมือง ชุมชน 5.กลุ่มสาธารณสุขและน้ำประปา และหมวดพิเศษ FFL กลุ่มวิศวกรรุ่นใหม่หัวใจสีเขียว (FIDIC Future Leaders) หัวข้อการสัมมนา เช่น นวัตกรรมเพื่ออาคารสีเขียวสู่ Net Zero โดย บริษัท SCG ประเทศไทย, การบำบัดน้ำเสียหนทางสู่ Net Zero โดยบริษัท ธรรมสรณ์ จัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม จำกัด ประเทศไทย, EV คือตัวช่วยให้ไทยสู่ Net Zero จริงหรือไม่ โดย บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ประเทศไทย รวมไปถึงหัวข้อจากประเทศอื่นๆ เช่น การถอดบทเรียนของเมืองซูวอน เกาหลีใต้ ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นกลางได้สำเร็จจากความร่วมมือของชุมชน อาคาร Net Zero ในมาเลเซีย เวียดนามกับแนวทางลดคาร์บอนในอาคาร อินโดนีเซียกับการสร้างอาคารที่ไม่ก่อให้เกิดขยะ อินเดียกับพลังงานน้ำ ฟิลิปปินส์กับเรื่องพลังงานทดแทน เทคโนโลยีในแบบของชนพื้นเมืองศรีลังกา การจัดการ Net Zero แบบเนปาล มาตรฐานเรื่อง Net Zero ในสิงคโปร์ เป็นต้น

...


นอกจากนั้นยังมีกิจกรรม Business Matching แลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านธุรกิจ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ Soft Power ของประเทศไทย กับเทศกาลลอยกระทงแบบ Low Carbon ริมแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย รวมไปถึงพูดคุยถึงอนาคต และความท้าทายในการทำงานของ FIDIC หรือสหพันธ์วิศวกรที่ปรึกษานานาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนระดับโลกสำหรับสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาระดับชาติ และเป็นตัวแทนของผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมมากกว่าหนึ่งล้านคนและบริษัท 40,000 แห่งในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ที่จะต้องพาสมาชิกไปสู่เป้าหมาย Net Zero ให้ได้.