เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 66 นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยในวันคล้ายวันก่อตั้ง กทพ. ครบรอบ 51 ปี ว่า ตลอดระยะเวลา 51 ปี กทพ.ได้เปิดให้บริการทางพิเศษไปแล้ว 8 สายทาง รวมระยะทาง 224.6 กม. และมีแผนแม่บทลงทุนทางพิเศษทั่วประเทศระยะเวลา 10 ปี ระยะทาง 200 กม. งบลงทุนประมาณ 4 แสนล้านบาท โดยมีแผนเปิดให้บริการครบปี 2575 ได้แก่ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-ถนนวงแหวนรอบนอกฯ ระยะทาง 18.7 กม. มูลค่า 3.1 หมื่นล้านบาท เปิดให้บริการต้นปี 2568, โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา ระยะทาง 16.2 กม. มูลค่า 3.4 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างสรุปร่างทีโออาร์ คาดว่าจะประกาศขายซองประกวดราคาได้เดือน ธ.ค. 2566 และโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก ระยะทาง 11.3 กม. มูลค่า 1.69 หมื่นล้านบาท ก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคมได้ส่งเรื่องกลับมาที่ กทพ. เนื่องจากมีความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง กทพ.จะสรุปเสนอบอร์ดชุดใหม่พิจารณาอีกครั้งก่อนเสนอกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี พิจารณาตามลำดับประมาณกลางปี 2567 ส่วนตอน N1 เกษตร-งามวงศ์วาน ระยะทาง 6.7 กม. มูลค่า 5 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างศึกษาออกแบบด้านวิศวกรรมและความเหมาะสม ทั้งนี้ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ กทพ.ใช้เวลาดำเนินการ 25 ปีแล้ว หากไม่ได้รับการผลักดันให้เดินหน้าในรอบนี้ กทพ.มีแนวคิดอาจจะต้องยกเลิกโครงการดังกล่าว โดยคืนพื้นที่ที่เวนคืนประชาชนกลับไป

นายสุรเชษฐ์กล่าวว่า นอกจากนี้มีโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง ภูเก็ต ระยะทาง 3.98 กม. มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท ที่ประชุมบอร์ด กทพ.วันที่ 22 พ.ย. มีมติเห็นชอบให้ปรับรูปแบบการลงทุนโดย กทพ.ก่อสร้างงานโยธาเองจากเดิมรูปแบบ PPP ขณะนี้เตรียมเสนอกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนมติขอปรับรูปแบบลงทุนใหม่, โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) หรือทางด่วน double deck ระยะทาง 20.09 กม. มูลค่า 3.5 หมื่นล้านบาท เบื้องต้น กทพ.จะไม่ลงทุนเอง โดยได้เจรจากับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด หรือบีอีเอ็ม ให้ลงทุนโดยแลกกับการขยายระยะเวลาสัมปทานระบบทางด่วนปัจจุบันที่จะสิ้นสุดปี 2578 ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอบอร์ด กทพ.ชุดใหม่ พิจารณาเห็นชอบ นอกจากนี้มีโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมได้แก่ โครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ระยะทาง 2.25 กม.มูลค่า 4.4 พันล้านบาท ระหว่างเจรจารูปแบบการลงทุนกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย โครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพ มหานคร รอบที่ 3 ด้านทิศใต้ หรือโครงการทางด่วนสามสมุทร เชื่อมสมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ระยะทาง 71.6 กม. มูลค่า 1.09 แสนล้านบาท โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 18.5 กม. มูลค่า 2.18 หมื่นล้านบาท โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 25 กม. มูลค่า 5.2 หมื่นล้านบาท โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง ตราด ระยะทาง 6 กม. มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท และโครงการทางพิเศษสายอุดรรัถยา-ปทุมธานี ระยะทาง 20.5 กม. มูลค่า 3.8 หมื่นล้านบาท.

...