กทม. ลุยเก็บกระทงทั่วกรุงฯ ตลอดทั้งคืน เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ลดปัญหา "ขยะกระทง" ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมรายงานยอดเก็บกระทง 2566
เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 66 ที่ผ่านมา นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ Chief Sustainability Officer (ผู้บริหารด้านความยั่งยืนกรุงเทพมหานคร) พร้อมผู้ที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงาน และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจัดเก็บกระทงแม่น้ำเจ้าพระยา ในเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2566 ณ บริเวณปากคลองโอ่งอ่าง ฝั่งพระนคร (ใต้สะพานพระปกเกล้า)
โดยนายพรพรหม กล่าวว่า กรุงเทพมหานครกำหนด จัดงานเทศกาลลอยกระทงกรุงเทพมหานคร เป็นประเพณีต่อเนื่องประจำทุกปี โดยปี 2566 กำหนดจัดงาน ใน 2 พื้นที่หลัก คือ บริเวณคลองโอ่งอ่าง เขตพระนคร และบริเวณใต้สะพานพระราม 8 เขตบางพลัด
และเปิดสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร 34 แห่ง ให้ประชาชนลอยกระทง ซึ่งภายหลังการจัดงาน กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการจัดเก็บกระทงตามแผนการปฏิบัติงานจัดเก็บกระทง เพื่อไม่ให้ขยะตกค้างในแหล่งน้ำ โดยแบ่งพื้นที่การจัดเก็บกระทง ดังนี้
...
สำนักงานเขตจัดเก็บกระทงในสวนสาธารณะ และพื้นที่จัดงานในพื้นที่เขต สำนักการระบายน้ำจัดเก็บกระทงในคูคลอง และบึงรับน้ำ สำนักสิ่งแวดล้อมจัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่สะพานพระราม 8 ถึงสะพานพระราม 9 ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร
โดยได้จัดเจ้าหน้าที่ และวัสดุ อุปกรณ์ ยานพาหนะในการจัดเก็บกระทง จำนวน 168 คน เรือเก็บขยะจำนวน 31 ลำ ติดตั้งไฟส่องสว่างทุกลำ เรือขนถ่ายและลำเลียงวัชพืช จำนวน 2 ลำ เรือเก็บขนและลำเลียงวัชพืช จำนวน 1 ลำ เรือกวาดเก็บวัชพืช จำนวน 1 ลำ
และเรือตรวจการณ์ จำนวน 2 ลำ รถตรวจการณ์ จำนวน 5 คัน รถบรรทุกเทท้าย จำนวน 8 คัน เพื่อใช้ในการลําเลียงกระทงไปส่งที่สถานีขนถ่ายมูลฝอย ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 จนถึงเวลา 05.00 น. ของวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566
ในส่วนของอุปสรรคที่คาดว่า จะเกิดในการจัดเก็บกระทงครั้งนี้ อาทิ แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณที่ไม่มีการจัดงานจะไม่มีไฟส่องสว่าง ทำให้การจัดเก็บกระทงเป็นไปได้ยาก มีผักตบชวาปริมาณมากในแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ยากต่อการจัดเก็บกระทง พบตะปู เข็มหมุด ปนมากับกระทง ทำให้เกิดอันตรายกับเจ้าหน้าที่จัดเก็บกระทง และทำให้เครื่องจักรเสียหาย
สำหรับในแม่น้ำเจ้าพระยา กำหนดจุดเก็บขนถ่ายขยะกระทง 2 แห่ง คือ บริเวณปากคลองโอ่งอ่าง สะพานพุทธฯ เขตพระนคร และบริเวณท่าคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ เขตราษฎร์บูรณะ พร้อมแยกจำแนกประเภทกระทงให้เสร็จ ในเวลา 07.00 น. ของวันรุ่งขึ้น (28 พ.ย. 66) โดยจะรายงานผลการจัดเก็บ ผ่านเว็บไซต์ของกรุงเทพมหานคร www.bangkok.go.th และผ่านสื่อต่างๆ
...
นอกจากนี้ ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาที่ทุกคนเห็นความสำคัญ และมีความตระหนักใส่ใจรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้น การส่งเสริมการลอยกระทง ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่ควรรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ให้ประชาชนทราบ
ซึ่งวิธีลดปริมาณขยะ หลังคืนลอยกระทง ให้ประชาชนลอยกระทงร่วมกัน โดยร่วมลอย 1 ครอบครัว/1 คู่รัก/1 กลุ่ม/1 สำนักงานต่อ 1 กระทง เลือกกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ขนาดเล็ก ใช้วัสดุไม่หลากหลาย เพื่อลดภาระในการคัดแยก ในเทศกาลลอยกระทงปีนี้
จึงขอเชิญชวนให้ใช้กระทงธรรมชาติ ลดการใช้กระทงโฟม โดยหันมาใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ หรือวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่ายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น กระทงน้ำแข็ง กระทงที่ทำจากหยวกกล้วย และใบตอง แป้งมันสำปะหลัง ชานอ้อย หรือกระทงขนมปัง เนื่องจากกระทงดังกล่าว จะไม่ทำลายสภาพแวดล้อม หากเก็บกระทงไม่หมด ก็จะย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และใช้เวลานานในการย่อยสลาย ซึ่งแตกต่างจากกระทงโฟม ที่ต้องกำจัดโดยการนำไปฝังกลบ
ทั้งนี้ในปี 2565 กรุงเทพมหานคร จัดเก็บกระทงในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้จำนวนทั้งสิ้น 572,602 ใบ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่จัดเก็บได้ 403,203 ใบ เพิ่มขึ้นจำนวน 169,367 ใบ คิดเป็นร้อยละ 42 โดยประเภทที่จัดเก็บได้ทำจากวัสดุธรรมชาติ 548,086 ใบ หรือร้อยละ 95.7 และทำจากโฟม 24,516 ใบ หรือร้อยละ 4.3 อย่างไรก็ตามกระทงจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน มีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 96.5 เป็น 95.7 ส่วนสัดส่วนของโฟมเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.5 เป็น 4.3
...
จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ ลอยกระทงจากวัสดุธรรมชาติ แทนการใช้กระทงโฟม แสดงว่าประชาชนและผู้ค้าได้ให้ความสำคัญ กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นอกจากเป็นการคืนสิ่งแวดล้อมที่ดี ให้กับสายน้ำแล้ว ยังเป็นการลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัด และช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนอีกด้วย
สำหรับกระทงที่จัดเก็บได้ กรุงเทพมหานครจะนำไปคัดแยก และส่งไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยทั้ง 3 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม และศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม เพื่อนำไปทำลายอย่างถูกสุขลักษณะ โดยกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ และวัสดุที่ย่อยสลายได้ จะนำเข้าสู่โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์หนองแขม ส่วนกระทงโฟมจะนำเข้าสู่กระบวนการฝังกลบต่อไป.